สแกน “ร่างกาย” ตัวเอง ทำไมถึง อ้วนลงพุง!
เป็นเรื่องหมูๆ แต่ผลกระทบไม่หมูกับภาวะน้ำหนักเกิน โรคอ้วนและโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) ซึ่งมีอุบัติการณ์มากขึ้นทั้งไทยและเทศ เพื่อให้ผู้คนตระหนักและรู้ถึงการมีสุขภาพที่ดี ห่างไกลโรคอ้วน เฮอร์บาไลฟ์ บริษัทโภชนาการระดับโลก จึงจัดงาน “เฮอร์บาไลฟ์ เอเชียแปซิฟิก เวลเนส ทัวร์” ครั้งที่ 4
โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ดร.แมเรียน เฟล็คช์เนอร์-มอร์ส หัวหน้าคณะผู้วิจัยด้านโภชนาการและโรคอ้วน มหาวิทยาลัยอูล์ม เมืองอูล์ม ประเทศเยอรมนี มาให้ความรู้ในหัวข้อ “ใช้ชีวิตอย่างไร ให้ปลอดภัยจากโรคอ้วนลงพุง-ภัยเงียบที่อันตรายถึงชีวิต” ณ โรงแรมอโนมา ราชดำริ
ดร.แมเรียนเผยว่า อัตราความอ้วนลุกลามจากประเทศแถบตะวันตกมาสู่ตะวันออก แม้ปัจจุบันยอดคนน้ำหนักเกินในแถบเอเชียแปซิฟิกจะยังไม่สูงเท่าในสหรัฐอเมริกาหรือยุโรป แต่หากไม่มีการป้องกันหรือทำอะไรเลยโรคอ้วนจะเป็นปัญหาในภูมิภาคนี้แน่นอน ทั้งนี้ แนวโน้มคนน้ำหนักเกินคนอ้วนยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกปี 2015 พบคนอายุ 18 ปีขึ้นไปจำนวนกว่า 2.3 พันล้านคนทั่วโลกมีน้ำหนักเกิน ในจำนวนดังกล่าวกว่า 700 ล้านคนเป็นโรคอ้วน ซึ่งมากกว่าปี 2014 ที่มีคนน้ำหนักเกิน 1.9 พันล้านคนทั่วโลก คนเป็นโรคอ้วนกว่า 600 ล้านคน
ส่วนไทย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขชี้ว่า คนไทยประมาณ 17.4 ล้านคนมีน้ำหนักเกิน โดยพบสัดส่วนผู้หญิงอ้วนมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า!!
สาเหตุที่เป็นโรคอ้วนมากขึ้นนั้น ดร.แมเรียนเผยว่า เพราะกินมากเกินไป กินไม่คำนวณแคลอรี และไม่ออกกำลังกาย ยิ่งเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปที่มวลกล้ามเนื้อลดลง ร่างกายต้องการพลังงานลดลง การกินอาหารเท่าเดิมจะทำให้น้ำหนักขึ้นได้ง่าย เช่นเดียวกับสัดส่วนผู้หญิงที่อ้วนมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้หญิงมีมวลไขมันมากกว่า มีมวลกล้ามเนื้อน้อยกว่า ทำให้น้ำหนักเพิ่มง่ายกว่า อย่างไรก็ตาม นอกจากพฤติกรรมตัวบุคคลแล้วยังพบภาคอุตสาหกรรมเป็นผู้กระตุ้น ด้วยการผลิตอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ราคาถูกแต่แคลอรีสูง รูปร่างน่ารักรสชาติหวาน อย่างไทยเป็นประเทศแห่งความหวาน คนไทยบริโภคน้ำตาลเยอะมาก 30 กิโลกรัมต่อปี มากเกินความต้องการร่างกาย 25 กรัมต่อวัน ถึง 3 เท่า
“การรับประทานอาหารที่มีรสชาติหวานสูงจะทำให้ปริมาณน้ำตาลในเลือดสูงตาม ตับอ่อนจะดูดซึมน้ำตาลและหลั่งเอนไซม์อินซูลินเพื่อลดปริมาณน้ำตาลในเลือด บางครั้งหลั่งมากจนปริมาณน้ำตาลในเลือดต่ำ ทำให้ผู้นั้นหิวและกินอีก และหากยังมีพฤติกรรมอย่างนี้ต่อไป วันหนึ่งอินซูลินจะเปลี่ยนไม่สามารถลดปริมาณน้ำตาลในเลือดได้อีก ทำให้ผู้นั้นเข้าสู่ภาวะเบาหวานในที่สุด ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายโรคที่มาพร้อมความอ้วน ได้แก่ โรคหลอดเลือดและหัวใจ ความดัน ไขมันในเลือด ไขมันพอกตับ มะเร็งบางชนิด กล้ามเนื้อและระบบร่างกายเสื่อม และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร”
ดร.แมเรียนเผยว่า หากไม่อยากอ้วนและเป็นโรคข้างต้น ต้องปรับ 3 พฤติกรรม ได้แก่
1.การนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
2.การกิน ให้คำนวณแคลอรีอาหาร หรือหากคำนวณไม่เป็นให้ลดปริมาณอาหารต่อมื้อลง กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดการปรุงเพิ่มให้หวานและเค็ม และเพิ่มการกินผักและผลไม้ที่รสไม่หวานมาก
3.ออกกำลังกาย เริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เคลื่อนไหวมากขึ้น และกระฉับกระเฉงมากขึ้น เช่น ขึ้นบันไดแทนลิฟต์ แต่ดีขึ้นมาคือการออกกำลังกาย 3 แบบอย่างสม่ำเสมอ ได้แก่
1.ออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อต้านกับน้ำหนัก เช่น ยกน้ำหนัก
2.ฝึกความทนทาน เช่น วิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และ
3.เพิ่มความยืดหยุ่น เช่น โยคะ ซึ่งการออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 15 นาที สามารถลดอัตราการเสียชีวิตได้ 14 เปอร์เซ็นต์ ยืดอายุให้ยาวขึ้น 3 ปี ยิ่งในส่วนผู้มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ขอเน้นการยกน้ำหนักสร้างมวลกล้ามเนื้อ เพื่อเพิ่มการเผาผลาญ
“การกินอาหารที่สมดุลกับความต้องการของร่างกายจะทำให้น้ำหนักไม่เพิ่ม แต่หากอยากให้น้ำหนักลดต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ ต้องออกกำลังกาย แต่สิ่งสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนพฤติกรรมคือ ต้องกำหนดเป้าหมายวางปฏิทินให้ชัดเจนเลยว่าจะออกกำลังกายวันไหน เวลาใดบ้าง ต้องการลดน้ำหนักกี่กิโลกรัม ต้องกินอาหารดีต่อสุขภาพวันไหนบ้าง ทั้งนี้ การลดน้ำหนักต้องใช้เวลา ค่อยเป็นค่อยไป เพราะกว่าน้ำหนักเราจะขึ้นมาก็ใช้เวลาพอสมควร เพราะฉะนั้นการจะกำจัดน้ำหนักส่วนเกินออกก็ต้องใช้เวลาเช่นกัน”
โรคอ้วนดูด้วยสายตาและรู้สึกไม่ได้ เพราะสามารถซ่อนเร้นภายใต้ผิวหนังของคนรูปร่างปกติ เป็นภัยเงียบที่ไม่แสดงสัญญาณ แต่สามารถรู้ได้จากการตรวจสุขภาพประจำปี หาก 3 ใน 5 เกณฑ์นี้มีค่าผิดปกติ คอนเฟิร์มได้คุณกำลังอ้วน! ได้แก่
1.ความยาวเส้นรอบเอว
2.ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด
3.ระดับไขมันเอชแอลดีคอเลสเตอรอลในเลือด
4.ความดันโลหิต และ
5.ระดับน้ำตาลในเลือด (อดอาหารเช้า)
แต่หากอยากรู้ตอนนี้สามารถวัดง่ายๆ ด้วยการคำนวณดัชนีมวลกาย (BMI) เอาน้ำหนัก (หน่วยกิโลกรัม) หาญด้วยส่วนสูง (หน่วยเมตร) ยกกำลังสอง ค่าที่ได้หากเกิน 23 BMI ถือว่าน้ำหนักเกิน หากเกิน 25 BMI ถือว่าอ้วน ยกตัวอย่าง น้ำหนัก 50 กก. สูง 1.60 ม. คือ 50/(1.60×1.60) เท่ากับ 18.86 แสดงว่ายังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
มีสุขภาพดีอย่างมีเป้าหมาย