เผยหนทางคุมน้ำหนัก ต้องกำหนดไว้ใน "ยีน"
รายงานผลวิจัยของผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอ้วนจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส วิทยาเขตออสติน สหรัฐอเมริกา เผยแพร่เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า ในขณะที่กว่า 2 ใน 3 ของประชากรสหรัฐจัดอยู่ในฐานะผู้ป่วยโรคอ้วน ทำให้ โรคอ้วนกลายเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในอนาคต
แต่ในเวลาเดียวกันนั้น ผลงานวิจัยก่อนหน้านี้ยังแสดงให้เห็นว่าคนที่ประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนักไม่ว่าจะด้วยการอดอาหาร การออกกำลัง หรือการใช้ยาเพื่อลดน้ำหนักก็ตามที มีโอกาสเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ที่จะรักษาสภาพน้ำหนักดังกล่าวได้ในระยะยาว
รายงานวิจัยใหม่ชิ้นนี้ระบุว่า หนทางลดน้ำหนักที่มีประสิทธิภาพและสามารถอยู่ได้ในระยะยาวในอนาคตนั้น ต้องใช้วิธีการกำหนดระดับน้ำหนักที่เหมาะสมไว้ในยีน หรือหน่วยพันธุกรรม ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวเนื่องกับนำหนักของคนเรา หลังจากที่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักวิจัยสามารถถอดรหัสการเชื่อมโยงระหว่างยีนกับภาวะโรคอ้วนได้แล้ว
โดยพบว่ามียีน 2 ตัวที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ ยีนตัวแรกทำหน้าที่กำกับให้พลังงานที่ได้จากอาหารที่เรากินเข้าไปถูกกักเก็บเอาไว้ในรูปของไขมัน แทนที่จะถูกเผาผลาญไปทั้งหมด
อีกตัวทำหน้าที่รักษาระดับของฮอร์โมนเล็ปติน ซึ่งหากมีระดับไม่เหมาะสมจะทำให้ผู้นั้นกินอาหารมากเกินไป
เพื่อปรับแต่งยีนที่กำหนดน้ำหนักที่เหมาะสมให้กับแต่ละคน บุคคลดังกล่าวต้องให้ตัวอย่างดีเอ็นเอต่อห้องปฏิบัติการซึ่งจะนำไปจำแนกดีเอ็นเอ แล้วป้อนข้อมูลที่ได้เข้าสู่อัลกอริธึมจำเพาะในคอมพิวเตอร์ เพื่อตรวจสอบว่าการปรับแต่งชนิดใดเหมาะกับบุคคลนั้นๆ
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับระดับน้ำหนักที่เหมาะสม และทำอย่างไรถึงแตกต่างกันได้ในแต่ละบุคคล แต่อย่างใด