อารมณ์ขัน ท่าทางตลกของลูกน้อยวัยกระเตาะ

อารมณ์ขัน ท่าทางตลกของลูกน้อยวัยกระเตาะ

อารมณ์ขัน ท่าทางตลกของลูกน้อยวัยกระเตาะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่อง : แขไข

เสียงเจ้าตัวเล็ก ฮุอิ คิกคัก เอิ๊กอ๊าก กรี๊ดร้องด้วยความพอใจกับอะไรบางอย่างที่สนใจอยู่ด้วยดวงตาใสแจ๋ว สามารถเรียกรอยยิ้มจากพ่อแม่และคนรอบข้างได้เป็นอย่างดี ไม่น่าเชื่อว่าเพียงแค่เสียงและรอยยิ้มของเจ้าตัวน้อยจะทำให้เรามีความสุขได้ถึงเพียงนี้

ทำไมลูกถึงหัวเราะ
เด็กหัวเราะ เพราะรู้สึกพอใจมีความสุขกับสิ่งที่เห็นและได้ยิน แม้ตอนเกิดมาเด็กยังไม่เข้าใจอารมณ์ของตนเอง เพราะกำลังเรียนรู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร แต่เมื่อเขาสามารถปรับตัวและเข้าใจโลกมากขึ้นแล้ว ก็จะเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่ทำ และ
สามารถรับรู้ถึงความสนุกเมื่อพ่อแม่ยิ้มทำเสียงหรือหน้าตลกๆ จะตอบรับด้วยการหัวเราะหรือยิ้มสื่อถึงความพอใจ เด็กจะหัวเราะครั้งแรกเมื่ออายุประมาณ 4 เดือน

เสียงหัวเราะของเด็กแต่ละวัยเป็นอย่างไร
1.เด็กทารก คือเด็กวัยแรกเกิด ทำให้ไม่ค่อยเข้าใจความรู้สึก แต่สามารถรับรู้ได้ถึงสิ่งที่พ่อแม่ทำ เช่น ยิ้มหรือทำหน้าตลกต่อหน้า โดยจะตอบโต้ด้วยการแหย่หรือเกาผิวหนังของตนเอง เมื่อเด็กโตขึ้นอายุประมาณ 9-15 เดือน เด็กก็จะเริ่มเข้าใจถึงการกระทำของผู้ใหญ่ที่เหนือความคาดหมายว่ามันเป็นเรื่องสนุก

2.เด็กวัยหัดเดิน เด็กวัยนี้จะชอบเล่นกับร่างกายและชอบลองของใหม่ๆ รอบตัว เมื่อได้ยินเสียงแปลกๆ หรือสนใจอะไรก็จะคลานเข้าไปหาพร้อมกับหัวเราะด้วยความชอบใจ เช่น เล่นจ๊ะเอ๋ อาการแบบนี้จะเป็นต่อเนื่องไปจนถึงวัยเข้าเรียน
เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ภาษาก็จะรู้สึกสนุกกับสำเนียงและเสียงต่างๆ รอบตัว เสียงที่ไร้ความหมาย และจะเริ่มเลียนเสียงตามที่ตนเองเข้าใจจะทำให้พ่อแม่รู้สึกตลกด้วย โดยเด็กสามารถแยกแยะว่าอะไรตลกหรือไม่ตลกได้ก่อนอายุ 2 ขวบ

3.เด็กวัยก่อนเข้าเรียน ช่วงอายุ 2-3 ขวบ เด็กจะเริ่มเข้าใจกฎระเบียบ รูปแบบและสิ่งแวดล้อมรอบตัวมากขึ้น เวลาเห็นหรือได้ยินสิ่งผิดปกติจะรู้และหัวเราะขึ้นมาเพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องตลก ผิดธรรมชาติบางเรื่องอาจจะเลียนแบบตามด้วย

4.เด็กในวัยเรียน ช่วงอายุ 6-7 ขวบ เด็กจะเริ่มเรียนรู้โลกได้กว้างขึ้น เพราะถึงวัยที่ต้องเข้าโรงเรียนแล้ว ทำให้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่มาเล่นด้วยและมีเรื่องตลกๆ มาเล่าให้ฟังเรียกได้ว่าช่วยเปิดโลกกว้างให้กับเด็ก แล้วยังได้ฟังจากคุณครู
สอนและเล่าทำให้ยิ่งรู้สึกมีความสุขกับเรื่องนั้นๆ แม้จะฟังหรือเล่ามากกว่า 1 ครั้งแล้วก็ตาม แล้วเมื่อกลับมาถึงบ้านก็นำเรื่องที่ได้ยินมาเล่าให้พ่อแม่ฟังต่ออีกด้วย


ทำอย่างไรเด็กจะหัวเราะ
มีหลายวิธีที่สามารถทำให้ลูกยิ้มได้ การสร้างอารมณ์ขันของเด็กสามารถทำได้ตลอด เริ่มตั้งแต่เด็กตื่นนอนจนถึงเด็กเข้านอนเลยก็ได้ 5 วิธีง่ายๆ ในการเล่นกับลูกน้อย คือ

1. เล่นจ๊ะเอ๋…เป็นกิจกรรมที่สามารถเรียกความสนใจและเสียงหัวเราะของลูกน้อยได้เป็นอย่างดี พร้อมให้รู้จักมักคุ้นกับใบหน้าของคนรอบๆ ตัวได้ โดยพ่อแม่อาจจะใช้ผ้าอ้อมของลูก ตุ๊กตา หมอน หรือมือของตนเองปิดและเปิดหน้าของตนเองต่อหนา้ ลูก อาจจะทำ หน้า ตลกๆ ใส่ด้วยก็ได้

2. เล่นปูไต่...เป็นวิธีเรียกเสียงหัวเราะกับลูกง่ายๆ โดยใช้ปลายนิ้วของพ่อแม่สัมผัสก้าวเดินบนผิวหนังของลูกเหมือนปูกำลังไต่บนตัวลูก ทำให้เด็กรู้สึกจั๊กจี้และส่งเสียงหัวเราะออกมา

3. ขี่ม้าชมเมือง...เวลาที่เล่นพ่อหรือแม่จะต้องชันเข่าขึ้นมาตั้งตรงเข่าชิดกัน แล้วอุ้มเจ้าตัวเล็กไปนั่งที่หลังเท้าโดยให้ตัวลูกแนบกับเข่า แล้วยกเท้าขึ้นลงๆเหมือนกำลังขี่ม้าอยู่ หรืออาจจะจับลูกน้อยขึ้นขี่คอแล้วกางแขนของลูกออกแล้วพาเขาบินไปด้วยกัน

4. เอื้อมให้ไกลไปให้ถึง...ของเล่นชิ้นโปรดของลูกที่มีมากมาย แต่เวลาของหายลูกจะตามหา เพียงนำของเล่นที่ลูกชอบวางห่างจากมือลูกไปเรื่อยๆ หรือจะหยิบของขึ้นมาแล้วเขย่าเรียกให้ลูกคืบคลานเอื้อมหยิบของก็ได้ นอกจากจะช่วยสร้างทั้งเสียงหัวเราะ ยังช่วยฝึกให้เขาได้บริหารกล้ามเนื้อแขน ขา และนิ้วมืออีกด้วย

หัวเราะช่วยอะไรบ้าง
1.ช่วยให้เด็กมีไอคิวดีฉลาด เมื่อเด็กหัวเราะจะไปกระตุ้นสมองการสร้างเครือข่ายใยสมองเก็บสะสมความทรงจำไปเรื่อยๆ ส่งเสริมพัฒนาการ และกระตุ้นการเรียนรู้เปิดรับสิ่งใหม่

2.เด็กจะรู้สึกมีความสุขและคิดบวก เมื่อเด็กหัวเราะสมองจะหลั่งฮอร์โมนโดพามีน สารที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึก ทำให้เด็กมีความสุขและก็จะสนุกสนานกับการใช้ชีวิตมากขึ้น สร้างความผ่อนคลายอีกด้วย

3. เมื่อเด็กหัวเราะบ่อยๆ จะมีสุขภาพกายและใจดี มีภูมิคุ้มกันต้านทานมากขึ้น มีความเครียดน้อยลง ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและความดัน ระบบย่อยทำงานได้ดี และทำให้แผลหายเร็วขึ้นอีกด้วย

สายสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูกเกิดขึ้นได้ง่ายๆ ด้วยการหัวเราะที่เปรียบเสมือนเสียงสวรรค์ที่ช่วยเพิ่มเสน่ห์ แล้วยังช่วยพัฒนาสมองและทักษะในอนาคตของลูกน้อย เพราะการหัวเราะคือความมหัศจรรย์ในชีวิตที่เด็กต้องการสื่อสารกับพ่อแม่ แล้ววันนี้ลูกน้อยของคุณหัวเราะหรือยังคะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook