เช็ค 5 พฤติกรรมการกินเสี่ยงอ้วน

เช็ค 5 พฤติกรรมการกินเสี่ยงอ้วน

เช็ค 5 พฤติกรรมการกินเสี่ยงอ้วน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อย่างที่รู้กันดีว่า ความอ้วนเป็นสัญญาณเตือนว่าโรคร้ายสารพัดกำลังไล่ตามคุณมา ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งค่ะที่เราจะต้องดูแลการกินของเราเป็นพิเศษ และเช็คพฤติกรรมการกินของเราอย่างต่อเนื่องว่า เรากำลังมีความเสี่ยงต่อการมีน้ำหนักเกินรึเปล่า

วันนี้จึงขอนำเสนอ “5 พฤติกรรมการกินเสี่ยงอ้วน” ที่คุณต้องสอบถามตัวเองดู ว่าคุณอยู่ในกลุ่มนี้หรือไม่

1. กินอาหารหนักสุดในมื้อเย็น
การปล่อยตัวเองให้บริโภคมื้อเย็นจำนวนมาก ทำให้มีแนวโน้มที่จะมีแคลอรีสะสมในร่างกายได้มาก เนื่องจากไม่นานก็จะพักผ่อนแล้ว ร่างกายจึงไม่ได้นำพลังงานส่วนดังกล่าวมาใช้ แต่จะนำไปเก็บไว้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกายในรูปไขมันแทน

ทางออกที่ดีกว่า ควรเปลี่ยนวงจรการกินลักษณะนี้เป็นการด่วน เปลี่ยนมาจัดเต็มในมื้อเช้าแทน ขณะที่มื้อกลางวันควรกินแต่พอดี และมื้อเย็นควรกินให้น้อยที่สุด เน้นอาหารประเภทผัก-ผลไม้รสไม่หวานที่มีกากใยแทน แต่ก็ไม่ควรงดเสียทีเดียว เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานอย่างต่อเนื่อง

2. กินขนมจุบจิบตลอดวันแทนกินมื้อหลัก
การกินขนมจุบจิบตลอดทั้งวัน ทำให้ร่างกายผลิตอินซูลินน้อยลง จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำหนักตัวเกิน อีกทั้งเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานได้อีกด้วย

จัดเวลาการกินของตัวเองใหม่ แบ่งให้ชัดว่าแต่ละมื้อควรกินกี่โมง และพยายามกินให้ได้ตามนั้น ไม่สรรหาของจุบจิบมากินระหว่างมื้อ จนเลื่อนมื้อถัดไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีระบบ

3. กินอาหารสุขภาพซ้ำชนิด และไม่บันยะบันยัง
อาหารสุขภาพดีต่อร่างกายค่ะ แต่หลายอย่างก็เต็มไปด้วยแคลอรี หากกินแค่ชนิดใดชนิดหนึ่งซ้ำๆ กันเป็นเวลานานๆ อาจได้แคลอรีเกิน และได้สารอาหารที่จำเป็นไม่ครบถ้วนตามที่ร่างกายต้องการได้

ควรรู้จักสิ่งที่กินว่าให้สารอาหารอะไร ให้พลังงานมากน้อยอย่างไร โดยหลักการกินอาหารสุขภาพง่ายๆ คือ เน้นกินอาหารจากธรรมชาติให้หลากหลายจะดีที่สุด

4. เข้มงวดกับการกินเพื่อลดน้ำหนักในระยะสั้นๆ
สาวๆ จำนวนหนึ่งมักหักโหมลดน้ำหนักโดยเน้นควบคุมอาหาร และเข้มงวดกับการกินจำกัดเป็นช่วงๆ ส่วนใหญ่จะลดน้ำหนักได้สมใจในระยะสั้น แต่เมื่อกลับไปใช้ชีวิตปกติ น้ำหนักตัวขนาดเดิมก็จะกลับมาอีกอย่างรวดเร็ว เรียกว่าอาการโยโย่ ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้องและไม่ดีต่อสุขภาพ

วิธีการที่เหมาะสมคือ การค่อยๆ ลดน้ำหนักลงทีละน้อยอย่างต่อเนื่อง ประมาณ ½ – 1 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ โดยการควบคุมอาหารลดปริมาณแป้งและไขมัน ขณะเดียวกันก็ออกกำลังกายเพื่อสร้างกล้ามเนื้อที่จะช่วยในการเผาผลาญพลังงานด้วย การลดน้ำหนักจึงจะเป็นไปอย่างเหมาะสมในที่สุด

5. กินแต่อาหารไขมันต่ำและปราศจากน้ำตาล
ต้องทราบก่อนว่า อาหารประเภทไขมันต่ำ (low-fat)และปราศจากน้ำตาล (sugar-free) ไม่ได้หมายความว่าอาหารนั้นจะมีแคลอรีน้อยกว่าอาหารปกติ ดังนั้นหากมีฉลากต้องอ่านอย่างละเอียด แต่หากไม่มีก็ต้องพิจารณาปริมาณแคลอรีที่กินมาบ้าง

พฤติกรรมที่ว่ามานี้ ทำให้คุณมีแนวโน้มที่จะน้ำหนักตัวเกินจนถึงมีปัญหาโรคอ้วนถามหาได้ ต้องหาทางออกอันได้แก่การควบคุมอาหาร และออกกำลังกายที่ทำให้การรักษาน้ำหนักตัวให้เหมาะสมเป็นไปอย่างต่อเนื่องนั่นเองค่ะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook