ความรู้สึกดีคือความรู้สึกแบบไหน

ความรู้สึกดีคือความรู้สึกแบบไหน

ความรู้สึกดีคือความรู้สึกแบบไหน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คอลัมน์ มหัศจรรย์การ์ตูน โดย วินิทรา นวลละออง

การนิยาม "ความรู้สึกดี" ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยค่ะ เหตุผลแรกคือความรู้สึกดีเกิดขึ้นภายในตัวเรา จับต้องไม่ได้ ดังนั้น การหาคำนิยามให้สิ่งที่จับต้องไม่ได้จึงเป็นเรื่องยากมาก เหตุผลที่สองคือความรู้สึกดีเป็นเรื่องส่วนบุคคล หมายถึงสิ่งที่ทำให้คนหนึ่งรู้สึกดีอาจจะใช้ไม่ได้กับอีกคนหนึ่ง แต่ถ้าเราพอทราบหลักการสร้างความรู้สึกดีที่เป็นสากลก็จะเกิดประโยชน์หลายประการค่ะ นอกจากหาทางทำให้ชีวิตตัวเองดีขึ้นได้แล้ว การเข้าใจมุมมองที่แตกต่างต่อความรู้สึกดีของแต่ละคนยังถือเป็นเครื่องวัดความใจกว้างของเราด้วยค่ะ

คุณผู้ชายท่านหนึ่งถูกคุณหมอประจำตัวส่งมาพูดคุยกับจิตแพทย์เนื่องจากคุณหมอประจำตัวคุยไปคุยมาก็พบว่าเขามีความรู้สึกแย่กับตัวเองจนพาลใช้ชีวิตแบบทิ้งขว้างทำให้สุขภาพแย่ลงค่ะ คุณผู้ชายท่านนี้มีน้ำหนักตัวเกินหนึ่งร้อยกิโลกรัมไปมากทีเดียว ภายในเวลาแค่ 14 ปีน้ำหนักเพิ่มขึ้นมาถึง 100 กิโลกรัมอย่างไม่น่าเชื่อ

จุดเริ่มต้นอยู่ที่เขาแอบรักเพื่อนสาวคนหนึ่งตั้งแต่เด็กแต่ไม่กล้าจีบ เมื่อเวลาผ่านไปคุณผู้ชายท่านนี้มั่นใจในหน้าที่การงานของตัวเองมากขึ้นจึงคิดอยากกลับไปสร้างความสัมพันธ์ดีๆ กับเพื่อนสาว แต่เมื่อติดต่อกลับไปก็พบว่าเธอเสียเพิ่งเสียชีวิตไม่นานนี้ด้วยโรคมะเร็ง ความเสียใจที่ปล่อยเวลาเนิ่นนานโดยไม่สารภาพความในใจทำให้คุณผู้ชายรู้สึกว่าชีวิตไม่มีเป้าหมายอีกแล้ว

หลังจากนั้นเริ่มกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ดื่มน้ำอัดลมขวดลิตรวันละ 2-3 ขวด อาหารมันและทอดทุกชนิดที่กินแล้วจะรู้สึกดีขึ้น แม้จะยังทำงานได้แต่ก็เหนื่อยง่ายขึ้นมาก ความที่รู้สึกอายเมื่อต้องกินเยอะต่อหน้าเพื่อนจึงแยกตัวออกจากเพื่อนฝูงจนหลายปีหลังไม่ได้ไปไหนมาไหนกับเพื่อนเลย กระทั่งเพื่อนที่ทำงานก็แทบไม่ได้คุยกัน

คุณผู้ชายตัดสินใจว่าจะใช้ชีวิตแบบนี้โดยไม่ตรวจสุขภาพและบอกกับญาติว่าถ้าตายวันไหนก็ไม่ต้องช่วย ชีวิตตอนนี้เหมือนลงเหวมาลึกแล้วดังนั้นก็จะเดินหน้าลงเหวต่อไป แต่สิ่งที่พี่ชายบอกเขาและทำให้เขาตัดสินใจเลิกคิดจะตายแล้วหันกลับมาหาหมอเพื่อรักษาโรคอ้วนอย่างจริงจังคือ

"อยากตายพี่ก็ไม่ว่าหรอกนะ แต่อย่างน้อยก็อย่าทำให้แม่เสียใจ ยังไงแม่ก็ยังรักลูกชาย ดังนั้นที่ทำอยู่ก็เหมือนกำลังฆ่าคนที่แม่รัก"

คำพูดนี้ประกอบด้วย 2 ส่วนที่ทำให้คนหัวดื้ออย่างเขายอมเปลี่ยนความคิด ส่วนแรกคือพี่ชายยอมรับในความคิดอยากตายของเขาโดยไม่มองว่าเป็นเรื่องไร้สาระ และส่วนที่สองคือบอกให้รู้ว่าเขาคือลูกชายที่แม่ยังรักไม่เปลี่ยนแปลง เพียงคำพูดสั้นๆ ก็ทำให้คุณผู้ชายเกิด "ความรู้สึกดี" ขึ้นกับตัวเองและอยากดูแลตัวเองค่ะ

จู่ๆ นึกถึงคุณผู้ชายท่านนี้เพราะได้ดู "Ojisan to Marshmallow" (คุณลุงกับขนมมาร์ชมาลโลว์) อนิเมชั่นความยาวตอนละ 5 นาทีที่สร้างจากหนังสือการ์ตูนของเรโกะมารุ โอโตอิ กล่าวถึงชีวิตคนทำงานออฟฟิศ "ฮิเกะ" ผู้ชายอ้วนพุงพลุ้ยไว้หนวดท่าทางเหมือนลุงซึ่งเป็นคนใสซื่อในเรื่องความรักกับเพื่อนร่วมงานสาว "วากาบายาชิ" ซึ่งแอบปิ๊งคุณฮิเกะและพยายามจีบหลายครั้งแต่คุณฮิเกะไม่ได้รู้เรื่องเลย วากาบายาชิรู้ว่าคุณฮิเกะชอบกินมาร์ชมาลโลว์และเอามาล่อหลอกหลายครั้ง ทอดสะพานให้นับครั้งไม่ถ้วน

คุณฮิเกะก็ยังมองโลกในแง่ดีว่าสาวน้อยคนนี้ไม่ได้คิดอะไรกับเขา (ในแง่ชู้สาว) ในการ์ตูนไม่ได้บอกว่าเพราะอะไรคุณฮิเกะจึงมองไม่เห็นว่าตัวเองมีเสน่ห์อย่างน้อยก็ในสายตาของวากาบายาชิแต่คนวาดก็สื่อชัดเจนจากพุงหลามๆ และหนวดคุณลุงของคุณฮิเกะว่าตรงนี้นั่นล่ะที่ทำให้ทุกคนแปลกใจว่าทำไมสาวน้อยน่ารักถึงมาชอบคุณลุงตัวอ้วน

ความแตกต่างระหว่างคุณผู้ชายกับคุณฮิเกะซึ่งน้ำหนักตัวน่าเป็นห่วงเหมือนกันคือคุณผู้ชายรู้สึกแย่กับชีวิตในระหว่างที่คุณฮิเกะรู้สึกดีกับชีวิตที่ได้ทำงาน กินมาร์ชมาลโลว์ที่ชอบ และไปเที่ยวโรงงานทำมาร์ชมาลโลว์ บทความของคุณจิโอวานนิ ฟาวาและคุณแปร์ เบช ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Psychotherapy and Psychosomatics กล่าวว่า "ความรู้สึกดี" (feeling well) ก็มีองค์ประกอบของมัน

ในงานวิจัยนี้พบว่าความรู้สึกดีแสดงออกด้วยความรู้สึกพึงพอใจที่เกิดขึ้นเงียบๆ ภายในตัวเรา ความสามารถในการเอาชนะความกลัวและปรับอารมณ์ให้สมดุลได้ และการยอมรับว่าความรู้สึกดีเป็นกระบวนการที่เราต้องเรียนรู้มัน เปรียบเสมือนความรู้สึกดีคือตอนที่นักวิ่งได้วิ่งไปสู่เส้นชัยซึ่งเกิดขึ้นตลอดการวิ่ง ไม่ใช่รู้สึกดีแค่ช่วงเวลาที่เข้าเส้นชัย

คุณฮิเกะก็รู้สึกดีกับชีวิตตัวเองค่ะ เขาพึงพอใจกับชีวิตที่ได้ใกล้ชิดขนมมาร์ชมาลโลว์ที่ชอบ เอาชนะความตื่นกลัวเมื่อเข้าสังคมแล้วเจอผู้หญิงและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่ชวนอึดอัดได้ สุดท้ายคือเลือกใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกวัน เช่น เที่ยวโรงงานทำมาร์ชมาลโลว์ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีเบื่อ

ในทางกลับกันคุณผู้ชายที่ไม่มีความสุขกลับไม่เคยรู้สึกพึงพอใจกับชีวิตอย่างที่เป็นอยู่รวมถึงตัวเองเลย มีความกลัวตายอยู่ตลอดเวลาแต่กลับไม่สามารถควบคุมได้จนแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่ทำให้ตายเร็วขึ้นคือการไม่รักษาสุขภาพเพราะเชื่อว่าสิ่งเดียวที่ทำให้ชนะความตาย (ความไม่แน่นอน) ได้คือกำหนดมันด้วยตัวเอง (ความแน่นอน)

สุดท้ายเขามองว่าความสุขคือการวิ่งเข้าเส้นชัยซึ่งหมายถึงวันที่ชีวิตดีโดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเส้นชัยคืออะไร กลับใช้ชีวิตในแต่ละวันที่ก่อให้เกิดความทุกข์ระยะยาวไม่หยุดหย่อน โชคดีที่คำพูดสั้นๆ ของพี่ชายช่วยเขาไว้ หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือพี่ชายไม่ได้ช่วยมากนักแต่เขาต้องการช่วยตัวเองให้พ้นทุกข์อยู่แต่แรกแล้วเพียงแต่รอคอยใครสักคนมาชี้ทางและลากออกมาจากวิถีชีวิตเดิมๆ เสียทีซึ่งพี่ชายคือคนนั้นค่ะ

ดังนั้น ถ้าอยากรู้ว่าเรา "รู้สึกดี" กับชีวิตอยู่หรือไม่ให้สังเกต 3 อย่าง คือพึงพอใจกับชีวิตอย่างเงียบๆ ในตัว ปรับอารมณ์ให้ปกติได้เมื่อเผชิญความกลัว และเรียนรู้ความสุขไปเรื่อยๆ ทุกขณะจิตเท่านั้นเองค่ะ

ที่มา นสพ.มติชนรายวัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook