ลึกแต่ไม่ลับ! เทคนิคสุขภาพดีง่ายๆ กับ "เบญ เบญจพร" ผู้บุกเบิกสตูดิโอโยคะร้อนในไทย
ทำงาน ด้วยผลลัพธ์ที่ให้รูปร่างสวย ช่วยชะลอความเยาว์วัย ทำให้กระแสการเล่นโยคะ เริ่มขยายความนิยมไปอย่างแพร่หลาย ควบคู่กับเทรนด์ดูแลสุขภาพและการทานอาหารเฮลท์ตี้
แต่สำหรับ "โยคะร้อน" ที่เราได้ยินกันมาพักใหญ่นั้น เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่่หลายคนมีคำถามว่าโยคะร้อนดีกว่าโยคะปกติทั่วไปอย่างไร แล้วมือใหม่จะต้องเริ่มจากตรงไหนบ้าง มีอันตรายหรือข้อควรระวังหรือไม่ จากปากต่อปากว่ามีทั้งประโยชน์ แต่ด้านหนึ่งหากร่างกายไม่พร้อมจะสามารถฝึกโยคะร้อนได้หรือไม่
"ประชาชาติธุรกิจออนไลน์" มีโอกาสพูดคุยกับ "เบญ-เบญจพร การุณกรสกุล" ผู้ก่อตั้ง Absolute You แบรนด์สตูดิโอโยคะร้อนชื่อดังในประเทศไทยกว่า 14 ปี ถึงประโยชน์จากการเล่นโยคะร้อน และเทคนิคการดูแลสุขภาพง่ายๆ เพียงแค่ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ประกอบการทานอาหารเพื่อสุขภาพควบคู่กันไป เพื่อให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยคำแนะนำที่เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นและผู้เล่นทั่วไป
เบญ-เบญจพร การุณกรสกุล (คนซ้าย)
-ความแตกต่างระหว่างโยคะร้อน กับโยคะทั่วไป แบบไหนเหมาะสำหรับผู้เริ่มต้น
เบญ-เบญจพร เผยถึงความต่างว่า โยคะร้อนเหมาะสำหรับผู้เริ่มเล่น ด้วยท่าทางที่ทำตามง่าย และ "ความร้อน" จะช่วยในการเผาผลาญที่ดีจนผู้เล่นรู้สึกผ่อนคลาย
"โยคะร้อนเหมาะกับผู้เล่นระดับบีกินเนอร์ ทุกท่าจะมีพื้นฐานที่ท่า "ยืน" เป็นหลัก ทำเสร็จแล้วพัก ทำเสร็จแล้วยืน พฤติกรรมคนเล่นทั่วไป คือ "ใจร้อน" อยากเห็นผลทันตา ถ้าไปเล่นคลาสโยคะทั่วไป เล่นแล้วไม่ทัน จะรู้สึกไม่อยากเล่น ยอมแพ้ง่ายๆ โยคะร้อนจึงเหมาะสำหรับกลุ่มผู้เริ่มเล่นอย่างมาก
เมื่อได้ลองเล่นโยคะร้อนครั้งแรก ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า "เหงื่อออกเยอะมาก" รู้สึกฟิน ติดใจ จนอยากกลับมาเล่น อีกทั้งโยคะร้อนยังมีการทวนท่า รอบแรกไม่ทันไม่เป็นไร จะมีการทวนท่าอีกครั้ง เซ็ตที่สองจะช่วยให้ร่างกายจะเข้าที่เข้าทางมากขึ้น ส่วนความร้อนจะช่วยให้ร่างกายได้ดีท็อกซ์ และกล้ามเนื้อผ่อนคลายเร็ว เครื่องฮีตเตอร์คือตัวช่วยโกงนิดหน่อย ปกติจะต้องวอร์มอัพ 20 นาที แต่นี่ 5 นาทีคุณสามารถวอร์มอัพร่างกายพร้อมเล่นได้เลย
-โยคะให้อะไรกับร่างกาย
พอร่างกายเราได้ยืดแบบจริงๆ จังๆ 90 นาที จะรู้สึกโล่ง สบายตัว แต่ละท่ามีมูฟเมนท์หันซ้าย หันขวา หันขึ้นบน ก้มลงล่าง เป็นการบริหารหมดทุกส่วนใน 90 นาที ขณะที่กีฬาอื่นๆ อาจได้แค่เฉพาะจุด พอมาผสมกับความร้อน เหงื่อออกเยอะ รู้สึกสบายตัว ได้คืนบาลานซ์ให้ร่างกาย ตัวอย่างเช่น ถ้าเรามีอาการหลังค่อม ก็สามารถดึงให้กลับมาได้
อีกข้อดี เล่นไปสักพักจะรู้ว่า โยคะเป็นเรื่องของหลังเยอะ เพราะส่วนหลัง เป็นปัญหาในระยะยาวของคนทั่วไป โดยเฉพาะผู้สูงอายุ มันเสื่อมโดยธรรมชาติ แต่โยคะจะช่วยทำให้เสื่อมช้าลง ไม่ค่อยมีกีฬาไหนช่วยชะลอความเสื่อม ความแก่ ช่วยให้เลือดไหลเวียนดีได้ดีเท่าโยคะ อีกทั้งสร้างบาลานซ์ระหว่างด้ายซ้ายกับด้านขวา คนเราใช้ร่างกายข้างหนึ่งมากกว่าโดยธรรมชาติ ยกตัวอย่างง่ายๆ ขาซ้าย กับขาขวายังแข็งแรงและออกแรงได้ไม่เท่ากัน ข้างที่ใช้ก็เสื่อมไป อีกข้างก็ไม่มีกล้ามเนื้อ กระดูกจะเริ่มเอียง แก่ตัวไปกระดูกจะคด
-ควรเล่นสัปดาห์ละกี่วัน?
แล้วแต่ความสะดวกของผู้เล่นบางคนเล่นกีฬาอย่างอื่นอยู่แล้วก็มาบริหารร่างกายยืดกล้ามเนื้ออาทิตย์ละครั้ง-สองครั้งแต่คนที่เล่นโยคะเป็นกีฬาประจำควรเล่น3-7วัน
-เริ่มเล่นอายุเยอะเกินไป มีผลอะไรไหม
ไม่เป็นผลเลย บางคนเริ่มเล่นอายุ 70 แนะนำว่าทำเท่าที่ทำได้ ต้องเข้าใจว่าแต่ละอายุมาเอาสิ่งที่ต่างกัน 70 คงไม่มาเพื่อสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรง แต่มาเพื่อชะลอไม่ใช่เสื่อมเร็วไปมากกว่านี้ ไม่เกี่ยวกับอายุ แต่อยู่ที่จุดประสงค์มากกว่า
- "โยคะร้อน" คำตอบสำหรับพนักงานออฟฟิศ-คนที่มีเวลาน้อย ตอบโจทย์คุณผู้ชายมากกว่าที่คิด
กลุ่มคนทำงานออฟฟิศส่วนใหญ่จะมีปัญหาช่วงหลังบริเวณท้ายทอยลงมาเพราะนั่งทำงานทั้งวันหลังจึงเกิดอาการ"ทรุด"รวมถึงคนยุคใหม่จะเจอปัญหาติดเล่นสมาร์ทโฟนเป็นเวลานานใช้เยอะก็เสื่อมลงกลุ่มคนที่มีเวลาน้อยหรือกลุ่มออฟฟิศซินโดรมจึงเหมาะกับโยคะเพราะเป็นกีฬาที่บริหารช่วงต้นคอเยอะมีไมโครมูฟเมนท์เยอะเป็นเวลาถึง 90 นาที จึงเป็น Self Massage ที่ดีกว่าการไปนวด มีอาการปวดไปเล่นโยคะสองครั้งรับรองว่าหาย แต่สำหรับผู้หญิง สิ่งที่ตามมาคือก้นจะใหญ่ขึ้น เพราะท่านั่งเยอะ ที่แนะนำจริงๆ คือต้องหากีฬาที่เหมาะกับจุดประสงค์ ตอบโจทย์ความต้องการให้เจอ
ขณะที่ผู้ชายหลายคนมองว่ากีฬา "โยคะ" ไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ผู้ชายแมนๆ มันส์ๆ ต้องออกกีฬาใช้แรงเยอะ นั่นเป็นความคิดที่ผิด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ผู้ชายบางคนเล่นกีฬาเยอะ ออกกำลังกายบ่อย แต่ไม่สามารถเอื้อมไปหยิบของหลังรถได้ เพราะร่างกายขาดสมดุล ความยืดหยุ่น จึงควรสร้างบาลานซ์เพื่อให้ใช้ชีวิตประจำวันได้ดี ทั้ง นั่ง ลุก เดิน หยิบของ ถ้าจะให้ดี ควรออกกำลังกายอื่นๆ เตะบอล เล่นบาส ตีแบด ปั่นจักรยาน ผสมกับโยคะร้อนสัปดาห์ละ 2-3 วัน จะช่วยสร้างบาลานซ์ที่ดีได้
-โปรแกรมออกกำลังกายดี-ครูเด่น มีชัยไปกว่าครึ่ง
การดีไซน์โปรแกรมออกกำลังกาย ครูโยคะ และสตูดิโอ มีผลต่อผู้เริ่มเล่นโยคะอย่างมาก อยากให้ลองดูก่อนซัก 2-3 สตูดิโอ ครู 2-3 คน จะได้เกิดการเปรียบเทียบ หาข้อมูลเยอะๆ ต้องหาประสบการณ์ให้ตัวเอง ว่าชอบและแฮปปี้กับที่ไหน
บางคนถามว่า ต้องเล่นกีฬากี่ชั่วโมงต่อวันถึงจะดี? หนึ่งชั่วโมงก็เกินพอแล้ว แต่ในหนึ่งชั่วโมง ต้องใช้เวลาให้คุ้ม เล่นให้เต็มที่ พยายามทำท่าให้ถูก อย่าให้เสียเวลาเปล่า ดีกว่าเล่นสามชั่วโมงแต่มาออมแรง โปรแกรมกับครูจึงสำคัญมาก ที่จะทำให้ผู้เล่นสนุก ติดใจ และอยากกลับมาเล่นอีกครั้ง
-เทคนิคการกินอาหารเพื่อสุขภาพ ปรับนิสัย-ทำได้ระยะยาว ไม่ใช่การ "หักดิบ"
การทานอาหาร แบ่งเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ 1.จัดการตัวเอง 2.การเลือกทานอาหาร อย่างแรกต้องสร้างทัศนคติก่อน จะทำอะไร ต้องทำให้ได้ระยะยาว ไม่ฝืนตัวเอง ไม่ควรไดเอท งดอาหารจนทรมานตัวเอง หรือทำได้หนึ่งอาทิตย์ ก็กลับมากินแบบเต็มสตรีมอีกครั้ง ลองศึกษาตัวเองว่ามีพฤติกรรมการทานอะไรที่ไม่ดี และดูว่าเราจะเปลี่ยนได้ยังไง อีกเทคนิคคือลดปริมาณ กินเพื่อให้หายอยาก ไม่ต้องกินหมด ทำได้หนึ่งเดือนจนชิน จากที่เคยต้องกินหนึ่งชิ้นเต็มๆ อาทิตย์ต่อไปจะรู้สึกว่า ครึ่งชิ้นก็อร่อยได้ เหล้า-เบียร์ก็เหมือนกัน แก้วสองแก้วก็โอเค ทำจนติดเป็นนิสัย ไม่ใช่การหักดิบ
การทานอาหารเพื่อสุขภาพไม่ได้แปลว่ากินแล้วต้องผอมตายกันไปข้างหนึ่ง แบบนั้นเรียกอาหารเพื่อผอมดีกว่า ทานแล้วสุขภาพดี มาจากแคลเลอรี่ที่เหมาะสมกับร่างกาย มาพร้อมกับสารอาหารที่พอเหมาะ ต้องบาลานซ์ ไม่ใช่แคลเลอรี่ต่ำ แล้วไม่ได้สารอาหาร ที่สำคัญคือสุขภาพจิตต้องดี กินแล้วอร่อย ต้องศึกษาข้อมูลโภชนาการหน่อย แต่บางทีรู้เยอะก็จิตตกไปอีก อย่างเค้กชิ้นนี้เรารู้ว่าแคลเลอรี่เยอะ 600 แคลฯ ต้องไปวิ่งกี่รอบถึงจะเบิร์นออกหมด
อีกเรื่องที่สำคัญ ต้องทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ คนส่วนใหญ่ติดขนม เพราะร่างกายต้องการน้ำตาล ก็หาน้ำตาลที่ดี อะไรที่ขัดสีไม่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แถมตกค้างถึงไหนไม่รู้ เราอาจจะไปทานลูกเกด น้ำผึ้ง มันดีกว่าน้ำตาลทรายขาว หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ก็ใช้ที่ไม่ขัดสี อย่างน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลมะพร้าว แคลเลอรี่มีแน่นอน แต่ดีกว่าน้ำตาลทราย ด้วยโมเลกุลต่างๆ ทำให้ย่อยง่าย แต่ต้องใช้ในปริมาณที่พอควร
- "ควินัวร์" วัตถุดิบพระเอก ใช้แทนข้าวในอาหารเพื่อสุขภาพ
ควินัวร์ เป็นไฟเบอร์มีลักษณะเป็นเม็ดกลมๆ ไม่มีรสชาติรสสัมผัสเคี้ยวหนึบๆ ในต่างประเทศฮิตมาแล้ว 2-3 ปี ใช้กันอย่างแพร่หลายในอเมริกาใต้ เป็นเมล็ดพันธุ์ มีประโยชต่อร่างกาย โปรตีนสูง เป็นโปรตีนให้พลังงานแบบโปรตีนสัตว์ เทรนด์นี้มาจากคนที่ทานมังสวิรัตเยอะๆ จนเข้ามาเป็นวัตถุดิบหลักในเฮลท์ฟู๊ด เนื่องจากคนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ จะไม่ได้รับโปรตีน เพราะโปรตีนที่มาจากถั่ว เต้าหู้ ก็มีโครงสร้างที่ไม่เหมือนกัน สำหรับคนไทยที่ชอบทานข้าว "ควินัวร์" จึงถูกนำมาทดแทน อาจลดปริมาณข้าว แล้วผสมควินัวร์ลงไป โดยที่ได้สารอาหารสูง ในอารมณ์ที่เหมือนทานข้าวปกติ เช่นเมนูข้าวผัด สลัด แม้กระทั่งขนมหวาน
ขณะที่ในไทยกำลังเริ่มฮิตพอสมควร แต่ปัญหาคือราคาแพงกว่า 5 เท่าต่อหนึ่งกิโล อีกทั้งหายาก ต้องอิมพอร์ตเท่านั้น อีกประเด็นคือรังสรรค์ยังไง ต้มเสร็จแล้วเอาไปคลุก เอาไปทำยังไงต่อให้อร่อยและทานง่าย อยู่ที่ความครีเอทีฟของเชฟ เพราะถ้าทำไมไม่ดี ก็อาจเป็นเมนูสุดยี้ไปเลยก็ได้