"โรคลมแดด" อันตรายฤดูร้อน
ใกล้จะก้าวเข้าสู่เดือนเมษายนแล้ว ซึ่งแน่นอนค่ะ ว่าเรากำลังเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเต็มตัว ยิ่งอากาศร้อนมากเท่าไหร่ อันตรายจากหน้าร้อนก็ยิ่งส่งผลเสียกับร่างกายเรามากเท่านั้น ซึ่งมีหลายโรคที่เกิดจากหน้าร้อนแบบนี้ แต่โรคที่สามารถเสี่ยงภัยเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ คือ "โรคลมแดด" นั่นเอง
โรคลมแดดคืออะไร ?
โรคที่เกิดจากร่างกายได้ความร้อนมากเกินไป หรือการออกกำลังกายอย่างหนักจนร่างกายไม่สามารถควบคุมความร้อน หรือไม่สามารถระบายความร้อนได้ทันจนร่างกายเสียสมดุล โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงเกิดอาการจากโรคลมแดดได้ง่ายกว่ากลุ่มอื่น ก็ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และคนอ้วน โดยเด็กเล็กจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในร่างกายจากความร้อนได้ง่าย ทำให้การปรับตัวของร่างกายต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ไม่ดีเท่ากับผู้ใหญ่ และที่สำคัญเด็กเล็กไม่สามารถดูแลตนเองได้ และในกลุ่มผู้สูงอายุจะมีโรคประจำที่สำคัญคือ ระบบหลอดเลือดจากเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ซึ่งอากาศที่ร้อนชื้นทำให้การระบายความร้อนทางผิวหนังได้น้อย ความร้อนจะสะสมในร่างกายมากขึ้นทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น ถ้าไม่แก้ไขจะทำให้ระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายเสียไปจนล้มเหลว และเสียชีวิตได้ ส่วนในกลุ่มของคนอ้วนนั้น จะมีปัญหาเรื่องการระบายความร้อนออกจากจากร่างกายได้ยาก เนื่องจากมีชั้นไขมันปิดกั้นยิ่งอ้วนมากยิ่งเสี่ยงสูง มีระบบการไหลเวียนเลือดมายังหลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังเป็นไปได้ไม่ดี และส่วนใหญ่จะมีโรคประจำตัวที่พบบ่อยคือเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ที่จะส่งผลต่อระบบไหลเวียนเลือดในร่างกายอยู่แล้ว
อาการของโรคเป็นอย่างไร ?
อาการเบื้องต้น ได้แก่ ตัวร้อนจัดแต่ไม่มีเหงื่อ ผิวหนังแดง เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน วิตกกังวล สับสน ปวดศีรษะ ความดันต่ำ หน้ามืด ไวต่อสิ่งเร้าง่าย และยังอาจมีผลต่อระบบไหลเวียน ซึ่งอาจมีอาการเพิ่มเติมอีก ได้แก่ ภาวะขาดเหงื่อ เพ้อ ชัก ไม่รู้สึกตัว ไตล้มเหลว มีการตายของเซลล์ตับ หายใจเร็ว มีการบวมบริเวณปอดจากการคั่งของของเหลว หัวใจเต้นผิดจังหวะ การสลายกล้ามเนื้อลาย ช็อค
วิธีป้องกันต้องทำอย่างไร ?
1. หากรู้ว่าจะต้องไปทำงานท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อน ก็ควรเตรียมตัวโดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้งๆ อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้ร่างกายชินกับสภาพอากาศร้อน
2. ดื่มน้ำ 1-2 แก้ว ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม และแม้ว่าจะทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เพื่อให้ร่างกายปรับอุณหภูมิได้ดี
3. สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน ไม่หนา น้ำหนักเบา และสามารถระบายความร้อนได้ดี รวมถึงการใส่แว่น สวมหมวกที่ป้องกันแสงแดดได้
4. ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดด
5. หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด แล้วควรอยู่ในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก
6. หลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ แก้น้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือการอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน
7. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด เพราะจะยิ่งเพิ่มความร้อนให้ร่างกาย
8. ในเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ต้องจัดให้อยู่ในห้องที่อากาศระบายได้ดี และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพัง
เราก็ได้ทราบข้อมูล รายละเอียด รวมถึงวิธีป้องกันโรคลมแดดกันแล้ว ก็อย่าลืมนำไปปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยของร่างกายเราและคนรอบข้างนะคะ
ติดตามคอลัมน์อื่นๆ เพิ่มเติม ดาวน์โหลดนิตยสารในเครือจีเอ็มได้แล้วที่