"ฑีตา" แบรนด์คนรุ่นใหม่ เจาะตลาดม่อฮ่อมย้อมคราม

"ฑีตา" แบรนด์คนรุ่นใหม่ เจาะตลาดม่อฮ่อมย้อมคราม

"ฑีตา" แบรนด์คนรุ่นใหม่ เจาะตลาดม่อฮ่อมย้อมคราม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผ้าย้อมครามแม่ฑีตาที่เราพบในงานโอท็อป งานของศูนย์ศิลปาชีพทั้งหลายนั้น เป็นการออกแบบของ นางสาว สุขจิต แดงใจ หรือ มอญ ดีไซเนอร์และทายาท วัย 27 ปี ของแบรนด์ แม่ฑีตา ผ้าฝ้ายย้อมครามจากสกลนคร มอญเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทำผ้าม่อฮ่อมให้คนรุ่นใหม่ใช้

"การนำผ้ามาพัฒนา มันจะเป็นการสืบสานทางวัฒนธรรมอีกแนวทางหนึ่ง"

เธอว่าก่อนที่จะออกแบบว่าจะให้ใครซื้อใส่ ต้องเริ่มจากรีเสิร์ชก่อน

"ผ้าฝ้ายมีลักษณะหนา ไม่เรียบ ไม่เป๊ะ คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ แต่เรื่องพวกนี้คือเทกซ์เจอร์ คนที่ชอบคือสถาปนิก กลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ชอบใช้เสื้อผ้าแบรนด์ กินอาหาร เหมือน ๆ กัน เรื่องเสื้อผ้าที่ใช้ มีไม่กี่แบบ แสดงว่าเขาติดแบรนด์มากกว่า เมื่อผลลัพธ์ได้คำตอบเดียว เราเลยจับจุดมาใช้ และสร้างแบรนด์"

จากจุดนั้น ตอนนี้กลุ่มลูกค้ามี 2 แนว คือ คนสูงวัยที่ผ่านยุคม่อฮ่อมมาแล้ว แต่ไม่อยากใส่เสื้อแนวกำนันกับคนรุ่นใหม่ ใส่กางเกงยีนส์ กลุ่มลูกค้าจึงกลายเป็นไลฟ์สไตล์ของคนมากกว่าช่วงวัย

เธอมองต่อไป ด้วยว่า ที่บ้านทำธุรกิจทอผ้าฝ้ายย้อมคราม และมีคนเฒ่าคนแก่ที่ทำมาด้วยกัน มีองค์ความรู้จำนวนมาก ทำไมไม่ทำให้เกิดการสืบสานล่ะ

"แทนที่จะต้องอนุรักษ์ไว้อยู่ในพิพิธภัณฑ์เราก็มองว่า มันคือผ้า แล้วทำอย่างไรให้เด็กรุ่นใหม่ได้ใช้"

"เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้ว่าลายอะไร ขั้นตอนเป็นอย่างไร ไม่เข้าใจหรอกถ้าเรามาบอกเขาแบบนั้น แต่เราต้องทำให้ผ้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขาได้"

เสื้อผ้าที่ออกมาจึงเป็นการทอตามที่วัตถุดิบที่มี และตามความถนัดของชาวบ้าน แต่ดีไซน์ให้ร่วมสมัย

"แทนที่จะไปบอกย่ายายว่าอยากให้เอาสีนี้มาต่อกับสีนี้ ลายจะต้องเป็นแบบนี้ เราก็บอกยายว่า อยากได้ลายพระอาทิตย์ตกดิน ยายๆ ก็จะนั่งดูพระอาทิตย์ตกดินแล้วก็ทอออกมาผลก็คือ ลายที่ได้สวยกว่าที่เราคิดไว้เสียอีก"

การดีไซน์เสื้อผ้าเป็นสไตล์ เสื้อผ้าหลวมๆ ใส่สบาย ดังนั้น จึงไม่เป็นปัญหาต่อการตัดเย็บ บางลาย ทอได้ครั้งเดียว ไม่มีอีกแล้ว เพราะทอใหม่ก็ไม่เหมือนเดิม ใครที่อยากได้ก็จะต้องซื้อสะสมไว้เลย

เธอบอกว่า คนที่เรียนดีไซน์ มักจะมองอะไรที่ดูสวยงามไกลตัว ส่วนเธอมองกลับไปที่ผ้าเก่า คนเก่า และองค์ความรู้ที่สั่งสมมา เธอจึงเป็นแกะดำในหมู่นักออกแบบรุ่นใหม่ เพราะการเรียนดีไซน์บางครั้งก็ไม่ตอบสนองกับความสิ่งที่มีอยู่จริงในประเทศ เธอเริ่มจาก สร้างภาพจำใหม่ให้กับม่อฮ่อม

"เด็กรุ่นใหม่จำเสื้อ ม่อฮ่อมว่าจะต้องถือเคียวเกี่ยวข้าว เราก็เลยสร้างภาพจำใหม่ ใส่ม่อฮ่อมไปปิกนิก มีรถบิ๊กไบก์ ส่วนกางเกงยีนส์ก็คือฝ้ายที่ฝรั่งทอแบบหนึ่ง แต่พอเป็นกางเกงฝ้ายไทย ก็ทอแบบไทยแทนพอใส่แล้วดูดี เขาก็จะเริ่มสนใจ"

สำหรับการกำหนดราคา เริ่มต้นตั้งแต่ 2,000-5,000 บาทโดยเฉลี่ย ไม่แพงเลยสำหรับคนรุ่นใหม่ สุขจิตจะนำเสื้อผ้าที่เธอออกแบบไปแสดงที่ญี่ปุ่นเกือบทุกปี เธอว่าที่ญี่ปุ่นดีไซเนอร์จะได้รับการยอมรับมาก ถ้าเอาของเก่ามาออกแบบให้ดูสมัยใหม่ได้ แต่บ้านเราแตกต่างกัน

เธอยังมองว่าการอนุรักษ์ในมุมมองของเธอ ต้องทำให้เด็กรุ่นใหม่ใช้ได้ เธอใช้ลายเก่าผ้าเก่าทั้งหมด ใช้ผ้าที่ค้างสต๊อกแทบจะไม่มีราคาเลยในหลายปีที่ผ่านมา นำมาฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่

"คนอื่นอาจจะเรียนเพื่อออกแบบสิ่งใหม่ แต่เรามองว่าการเรียนดีไซน์ก็เพื่อใช้แก้ปัญหา ตอนนี้ก็แก้ปัญหาผ้าค้างสต๊อกลดลง เพิ่มมูลค่าได้มากขึ้น ถ้าผ้าขายได้ราคาก็จะมีคนกลับมาบ้านมาสืบสานมากขึ้น ผ้าทอก็จะอนุรักษ์ต่อไปได้"

วันนี้ยอดขายของแม่ฑีตาโตอย่างรวดเร็ว ฐานอาจจะไม่สูง แต่มูลค่าต่อชิ้นสูงกว่าเดิมหลายเท่า ในปีที่ 2-5 นี้ แม่ฑีตามียอดขายเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวทุกปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook