รู้ได้อย่างไร ว่าจะถูกไล่ออก ?

รู้ได้อย่างไร ว่าจะถูกไล่ออก ?

รู้ได้อย่างไร ว่าจะถูกไล่ออก ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คอลัมน์ ถามมา-ตอบไป โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา apiwut@riverorchid.com วันก่อนผมไปงานแต่งงานของรุ่นน้องคนหนึ่ง ในขณะที่กำลังรวมกลุ่มพูดคุยกับเพื่อนๆ และรุ่นน้องบางคนที่ไม่เจอกันนาน นอกจากการทักทายกันตามประสาแล้ว ยังมีการถกกันถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และผลกระทบต่างๆ รวมไปถึงข่าวคราวการเลิกจ้างที่มีให้เห็นเนืองๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ แล้วจู่ๆ ก็มีรุ่นน้องคนหนึ่งถามขึ้นมาว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ตนเองจะเป็นหนึ่งในบุคคลที่ อาจจะถูกให้ออก (จากงาน) กับเค้าด้วยหรือเปล่า ? ผมว่า คำถามนี้เป็นคำถามที่จี้ถูกจุดใครหลายๆ คน เพราะด้วยสภาวะการณ์เช่นนี้ คนจำนวนไม่น้อย คงกำลังวิตกกังวลกับเศรษฐกิจในต่างประเทศและผลกระทบที่มาถึงเมืองไทย อันเป็นสาเหตุใหญ่ที่นำไปสู่การเลิกจ้างที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อนผมที่อยู่ในระดับผู้บริหารหลายคน ร่วมกันทำการวิเคราะห์และสรุปออกมาในแง่มุมของนายจ้างว่า ถ้าเขาจะต้องเลิกจ้างใครสักคนในองค์กร เขาจะทำอะไรบ้าง ซึ่งผมเห็นว่าบางอย่างก็พอเอามาเป็นลางบอกเหตุได้เช่นกัน

ตกงาน, งาน, ออกจากงาน

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับทุกองค์กร คือ การทำให้แน่ใจว่า คนที่กำลังจะถูกให้ออกจากองค์กรจะไม่ทำลายข้อมูลหรือนำความลับขององค์กรไปหาประโยชน์ต่อไป ดังนั้นสิ่งที่องค์กรต้องทำ คือการเก็บข้อมูลและความลับทุกอย่างให้พ้นมือพนักงานที่หมายตาไว้ โดยอาจจะเริ่มจากการ โยกย้ายพนักงานคนดังกล่าวออกจากงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่สำคัญๆ ดังนั้นในฐานะพนักงาน ถ้าคุณถูกโยกย้ายแบบ ไม่มีปี่มีขลุ่ย คงต้องเริ่มสงสัยบางสิ่งบางอย่างที่อาจจะเกิดขึ้นได้แล้ว นอกจากเรื่องการโยกย้ายสับเปลี่ยน ยังมีเรื่องของโครงการหรือประเด็นที่เป็นความลับขององค์กร ซึ่งโดยส่วนมากเพื่อไม่ให้ความลับรั่วไหล ในการประชุมที่สำคัญๆ เหล่านี้ จึงมีแต่บุคคลที่สำคัญและจำเป็นเท่านั้น แม้หลายคนจะไม่ชอบการประชุม โดยเฉพาะการประชุมที่ยืดเยื้อ ซึ่งเป็นอะไรที่เสียเวลาในการทำงานเป็นที่สุด แต่ถ้าคุณถูกกันออกจากการประชุมที่คุณเคยต้องเข้าเสมอ หรือถูกกีดกันจากการเข้าไปแก้ปัญหาในเรื่องบางเรื่องที่ปกติคุณต้องเป็นหนึ่งในทีมแก้ไขด้วยแล้วล่ะก็ คงจะเป็นสัญญาณอีกอย่างหนึ่งที่จะสามารถบอกคุณได้ถึงความไม่ชอบมาพากล แม้สองประเด็นนี้จะเป็นเรื่องของความลับที่องค์กรพยายามที่จะป้องกันไว้ แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่ต้องจับตามองเพิ่มเติมอีกด้วย เช่น การติดต่อสื่อสารกับคนที่อยู่ในระดับสูงกว่า หากโดยปกติคุณสามารถติดต่อได้ในทันที หรือถ้าเขาไม่อยู่ ก็ติดต่อกลับมาทันทีที่ได้รับข้อความจากคุณ แต่ถ้าการติดต่อสื่อสารที่โดยส่วนมากจะเป็นไปได้ง่ายๆ นั้น ตอนนี้กลับกลายเป็นอะไรที่ต้องใช้เวลาเสมอ โทรศัพท์ไปหากี่ครั้งก็ติดประชุมหรือไม่ก็ไม่อยู่ในออฟฟิศ และกว่าจะติดต่อกลับมาก็ใช้เวลานานมาก ส่งอีเมล์ไปก็รอแล้วรอเล่ากว่าจะตอบกลับมา หรือบางทีไม่ตอบเสียเฉยๆ แบบนี้ก็ชักน่าสงสัยแล้ว นอกจากนี้ยังมีเรื่องของงบประมาณที่น้อยลง โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่หลายหน่วยงานเริ่มทำงบประมาณประจำปี 2552 ซึ่งเข้าใจได้ว่าปีหน้าคงเป็นปีเผาจริงอย่างที่ใครๆ เขาพูดกัน ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า งบประมาณของหลายๆ หน่วยงานจะถูกตัดทอน แต่การที่จะดูว่ามันมีนัยอะไรหรือไม่ คงต้องมาดูสัดส่วนของอัตราการถูกตัด ถ้าหน่วยงานของคุณไม่ได้ทำงบประมาณที่มากเกินความจำเป็นแล้ว แต่กลับถูกตัดงบประมาณมากกว่าหน่วยงานอื่น มันคงเป็นอะไรที่อาจจะต้องคิดนิดหนึ่งถึงอนาคตของหน่วยงาน ว่าจะถูกยุบหรือไม่ นอกจากนั้นแม้เรื่องราวการเลิกจ้าง จะเป็นหัวข้อ "ลับสุดยอด" ในทุกๆ องค์กร แต่การเลิกจ้างก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องให้คนสำคัญๆ จำนวนหนึ่งเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และเมื่อคนที่เกี่ยวข้องมากขึ้น การควบคุมก็เป็นไปด้วยความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นในหลายๆ องค์กร ก็คือ "ข่าวลือ" ที่มักจะมีมูลความจริงเจือปน ดังนั้นหากระยะหลังๆ มีข่าวลือหนาหูขึ้นเรื่อยๆ ในทางที่ไม่ค่อยเป็นมงคลเกี่ยวกับตัวคุณหรือหน่วยงานของคุณ ... นี่ก็อาจจะเป็นอีกหนึ่งลางบอกเหตุให้กับคุณได้ หมั่นเช็กข่าวอย่างใกล้ชิด เพราะหลายๆ ครั้ง ข่าวลือ ก็เป็นข่าวจริง ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้การถูกเลิกจ้าง อาจจะมีเค้าลางบ้าง แต่ในหลายๆ องค์กร ความลับเกี่ยวกับการเลิกจ้างก็ถูกเก็บไว้ได้เป็นอย่างดี ยากที่จะหยั่งรู้ได้ และหลายครั้งที่การเอาคนออก มักปฏิบัติการแบบจู่โจมไม่ให้รู้ตัว และต้องพยายามเผด็จศึกให้จบเร็วพลัน ผมขอยกตัวอย่างองค์กรแห่งหนึ่งใน ต่างประเทศ เขามีวิธีการไล่คนออกแบบสายฟ้าแลบมากๆ วิธีการของเขาก็คือ ในตอนเช้าวันหนึ่ง ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะเรียกกลุ่มบุคคลที่เป็นเป้าหมายมารวมตัวกันในห้องประชุม เมื่อทุกคนไปถึงครบ คนเหล่านี้จะได้รับจดหมายฉบับหนึ่งที่แจ้งถึงการเลิกจ้าง โดยจะบอกว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่คุณจะทำงานที่นี่ หลังจากนั้นเขาก็เชิญอาจารย์จากข้างนอกมาสอนวิธีการเขียนใบสมัครงานและใบประวัติการทำงานของตนเอง ในตอนเที่ยง องค์กรจะเลี้ยงอาหารกลางวันพนักงานกลุ่มนี้ ส่วนตอนบ่ายจะมีการอบรมต่อในเรื่องของการสัมภาษณ์งาน จากนั้นก่อนเวลาเลิกงาน 1 ชั่วโมง พนักงาน แต่ละคนจะได้รับอนุญาตให้กลับไปที่โต๊ะทำงานของตนเองเพื่อเก็บของใช้ส่วนตัว โดยแต่ละคนจะมีพนักงานขององค์กรคอยติดตามตลอดเวลาเพื่อให้แน่ใจว่า ไม่ได้นำอะไรที่เป็นขององค์กรกลับบ้านไปด้วย นอกจากนี้พนักงานที่ติดตามยังมีหน้าที่ ที่จะต้องขับรถไปส่งพนักงานที่ถูกเลิกจ้างให้ถึงบ้าน ทั้งนี้เพราะองค์กรเกรงว่ากลุ่ม พนักงานเหล่านั้นอาจทำอะไรที่ไม่คาดฝัน ตราบที่พนักงานกลุ่มนี้ยังไม่ถึงบ้าน เขาถือว่า พนักงานเหล่านั้นยังอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบขององค์กรอยู่ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า มันไม่แน่เสมอไปว่าคุณจะมีโอกาสระแคะระคายได้ว่า คุณเป็นหนึ่งในคนที่กำลังจะถูกให้ออก หรือไม่ แม้มันอาจจะมีวี่แววบ้าง แต่ก็เอาแน่ไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ คือทุกองค์กรไม่อยากเสียคนที่ทำงานดี มีทัศนคติถูกต้อง ไปจากองค์กร ดังนั้นแทนที่จะกังวลว่าเราจะถูกเลิกจ้างไหม ผมว่าเราเอาเวลาไปคิดว่าจะทำอย่างไรให้ตนเองมีคุณค่าเป็นที่น่าปรารถนา ไม่ให้ถูกเลิกจ้าง น่าจะดีและมีประโยชน์มากกว่า...คุณว่าไหม ? ขอบคุณข้อมูล : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ รู้ได้อย่างไร ว่าจะถูกไล่ออก ?

รู้ได้อย่างไร ว่าจะถูกไล่ออก ?
รู้ได้อย่างไร ว่าจะถูกไล่ออก ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook