24 TIPS ท้าแดด ก่อนออกแดด ต้องอ่าน!

24 TIPS ท้าแดด ก่อนออกแดด ต้องอ่าน!

24 TIPS ท้าแดด ก่อนออกแดด ต้องอ่าน!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงเวลานี้ ประชาชนชาวไทยทั้งหลาย ต่างมุ่งหน้าท่องเที่ยว และทำกิจกรรมนอกบ้านกันอย่างครึกครื้น แต่ความกังวลเรื่องแดด ก็มาพร้อมๆ กันกับการใช้เหล่าครีมกันแดด ที่มีให้เลือกมากมายในบ้านเรา

อย่ากระนั้นเลย ChicMinistry รวบเรื่องเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับแดด การกันแดด และครีมกันแดดมาให้อ่านกันแบบรู้ไว้ใช่ว่า

1 รังสีในแดดมีหลากหลายชนิดทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น แต่ทีเป็นอันตรายต่อผิวมนุษย์มากที่สุดคือรังสีอัลตร้าไวโอเลต หรือที่รู้จักกันว่า รังสียูวี

2 รังสียูวี สามารถแบ่งออกเป็นหลักๆ ด้วยกันสามชนิดตามช่วงความยาวคลื่น ได้แก่ UVA, UVB และ UVC แต่ยูวีซีมีความยาวคลื่นที่สั้นมาก และถูกโอโซนดูดไปจนไม่สามารถมายังพื้นผิวโลกได้

3 รังสียูวีเอ มีช่วงคลื่นยาวกว่า ยูวีบี สามารถผ่านทะลุเข้าไปในชั้นหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้ ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่น เป็นฝ้า กระ และทำให้เกิดเป็นมะเร็งผิวหนังได้ (ข้อมูล: สถาบันโรคผิวหนัง)

รังสียูวีบี เป็นแสงช่วงคลื่นสั้นกว่า ยูวีเอ ทำให้เกิด Sunburn ซึ่งมีอาการผิวบวมแดง และอาจพองปวดแสบปวดร้อน ผิวไหม้ และแห้งกร้าน ผิวเหี่ยวย่น คล้ำ เป็นฝ้า กระ ซึ่งเมื่อผิวถูกแดดเผาเป็นประจำ จะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้ (ข้อมูล: สถาบันโรคผิวหนัง)

5 ช่วงเวลาที่ควรหลีกเลี่ยงการตากแดด อันเนื่องจากเป็นช่วงที่มีรังสียูวีมาก คือเวลาประมาณ 10.00 – 15.00 น.

6 เพียงแค่หลบแดดใต้ร่มไม้ นอกจากจะช่วยคลายร้อน ก็ช่วยลดการเผชิญรังสียูวีไปได้เยอะทีเดียว

7 แต่อย่างไรก็ตาม การหลบแดดใต้ต้นไม้ก็ยังไม่อาจป้องกันรังสียูวีได้เต็มๆ เพราะแดดสามารถสะท้อนพื้นคอนกรีต พื้นน้ำ พื้นทราย ดังนั้นการไปทะเล แม้จะหลบใต้ร่มสนามก็ไม่อาจป้องกันรังสียูวีได้อยู่ดี

8 แม้ในวันที่มีเมฆมาก ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่ถูกรังสียูวี เพราะเมฆหมอก ไม่สามารถกันรังสียูวีเอได้

9 ยูวีไม่ได้มีแค่เฉพาะกลางแจ้ง แต่ยังรวมถึงในที่ร่ม หรือแสงที่มาจากแหล่งกำเนิดแสงที่ไม่ธรรมชาติ อาทิ เตาไฟ โคมไฟ หรือจอคอมพิวเตอร์ จึงควรป้องกันรังสียูวีแม้ในที่ร่ม

10 การสวมหมวกปีกให้กันยูวีได้ (บ้าง) ควรจะมีปีกหมวกยาวกว่า 10 เซนติเมตร

11 ครีมกันแดดโดยทั่วไป จะป้องกันรังสียูวีบี และยูวีเอ โดยดูจากค่าการป้องกันสองค่าหลักๆ ได้แก่ SPF และ PA

12 “SPF” หรือ Sun Protection Factor คือค่าความสามารถของครีมกันแดด ที่จะช่วยไม่ให้เกิดอาการแดดไหม้จากรังสียูวีบี มีค่าเป็นตัวเลขเช่น SPF 15, 30 หรือ 50 เป็นต้น โดยปกติถ้าใช้ชีวิตในเมือง หรือในออฟฟิศ ค่า SPF เพียง 15 หรือ 30 ก็เพียงพอ แต่หากมีกิจกรรมกลางแจ้ง ก็ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 50+ (ปัจจุบันมีการกำหนดให้แสดงค่า SPF สูงสุดที่ 50+ เนื่องจากค่าที่มากขึ้นก็ไม่มีนัยยะการป้องกันยูวีบีที่แตกต่าง)

13 “PA” หรือ Protection Factor for UVA หรือก็คือค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีเอ แสดงค่าด้วยเครื่องหมาย + ซึ่งค่า PA+++ มีคุณภาพเพียงพอในการป้องกันรังสียูวีเอ แต่ปัจจุบันพบกว่า มีรังสียูวีเอชนิดคลื่นยาว ที่ทะลุชั้นผิวได้มากกว่าคลื่นสั้น จึงมีการอัพเดตครีมกันแดดกันไปถึง PA++++ ซึ่งครอบคลุมการป้องกันยูวีเอคลื่นยาว

14 เดิมเราจะรู้จักแต่การป้องกันรังสียูวีบี จากค่า SPF เท่านั้น นั่นเพราะครีมกันแดดยุคแรก ออกแบบมาสำหรับป้องกันผิวไหม้จากการอาบแดดของชาวตะวันตก ผู้นิยมการอาบแดด จนต่อมามีการใช้ครีมกันแดดอย่างแพร่หลายในชีวิตประจำวัน ทั้งรังสียูวีบี และยูวีเอ จึงมีความสำคัญไม่แพ้กัน

15 หลักการป้องกันรังสียูวีในครีมกันแดด มีอยู่ 2 แบบ คือดูดซับรังสียูวี เพื่อไม่ให้ทะลุผ่านชั้นผิวหนัง แล้วค่อยคายพลังงานออกมาในแบบอื่นที่ไม่เป็นอันตรายกับผิว และแบบที่สะท้อนรังสีออกไป ซึ่งส่วนใหญ่ครีมกันแดดมักใช้วิธีการนี้ ทว่าก็อาจทำให้เกิดอาการ หน้าลอย หน้าวอก

16 การทาครีมกันแดดที่ดี ควรทาก่อนที่จะออกไปเผชิญแดดก่อนครึ่งชั่วโมง และก็ควรทาซ้ำทุกๆ สองชั่วโมง

17 ครีมกันแดด ที่เคลมว่าสามารถกันน้ำได้ (Water resistance) หมายถึงสามารถคงสภาพ SPF ได้ตามกำหนด หลังจากแช่น้ำนาน 40 นาที

18 แต่หากเราทาครีมกันแดดกันน้ำ แล้วไปว่ายน้ำ จากนั้น ขึ้นมาพักริมสระแล้วเช็ดหน้าเช็ดตัว ก็เท่ากับว่าเราควรเริ่มทาครีมใหม่อีกครั้ง เพราะครีมถูกเช็ดออกไปกับผ้าเช็ดตัว

19 เช่นเดียวกัน เมื่อเผชิญแดด ก็มักจะเกิดเหงื่อ ซึ่งเมื่อเกิดเหงื่อครีมกันแดดก็มักจะหลุด หรือหากมีการเช็ดเหงื่อก็เชื่อได้ว่าครีมกันแดดหลุดออกแล้ว จึงควรทาครีมกันแดดซ้ำหลังเกิดเหงื่อ

20 สำหรับใบหน้า ควรทาเน้นบริเวณที่สัมผัสกับแสงมากกว่าบริเวณอื่น เช่น จมูก โหนกแก้ม และใบหู

21 ข้อแนะนำเวลาทาครีมกันแดด ไม่ว่าจะทาหน้า หรือตัว คือให้ทาไปในทิศทางเดียว อย่าทาถู อันจะทำให้ครีมไม่ทั่วถึง

22 กันแดด ที่อยู่ในรูปสเปรย์ มีข้อดีคือออกแบบมาให้ใช้ได้สะดวก ทว่าก็จะมีปัญหาในเรื่องของความสม่ำเสมอในการเคลือบผิว และส่วนใหญ่จะติดไฟได้ เวลาใช้จึงควรระวัง

23 ตามทฤษฎีบอกว่า เราควรใช้ครีมกันแดดอย่างน้อย 2 มิลลิกรัมต่อตารางเซนติเมตร หรือประมาณ 35 มิลลิกรัมต่อการทาหนึ่งครั้ง บนใบหน้า เพื่อให้ได้ปริมาณการกันแดดอย่างมีประสิทธิภาพ หรือก็คือปริมาณเท่าเหรียญสิบ! อ่านไม่ผิดหรอก เหรียญสิบบาทนี่แหละ!

24 ดังนั้น แม้เราจะไม่สามารถทาครีมกันแดดได้อย่างมีประสิทธิภาพเต็มร้อย แต่ก็ควรทากันแดดอย่างเป็นประจำ เรียกว่า ดีกว่าไม่ป้องกันอะไรเลย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook