คิดให้ดีใช้ให้เป็น
เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะก้าวเท้าไปซื้อของที่ไหน จะมีคนมาแจกเอกสารใบปลิวเต็มไปหมด แปดในสิบอันคงหนีไม่พ้นสินเชื่อส่วนบุคคล ซื้อสินค้าเงินผ่อน หรือสมัครบัตรเครดิต เสมือนกับเอาเงินหรือเอาของมาใส่มือเราง่ายๆ ทำให้หลายคนคิดว่าได้มาง่ายก็อยากใช้ไปง่ายๆ โดยไม่คิดให้ดีก่อน จริงๆ แล้วสิ่งสำคัญที่ควรตระหนักถึงคือ จำเป็นหรือเปล่าที่ต้องซื้อสินค้านั้น ต้องกู้เงินหรือต้องมีบัตรเครดิต และถ้าจำเป็นจะสามารถผ่อนหรือชำระคืนได้หรือไม่ มารู้จักบัญญัติ 10 ประการ คิดให้ดี ใช้ให้เป็น จากจีอี มันนี่ กันดีกว่า 1.ทำบัญชีรายรับรายจ่าย: รายจ่าย = รายได้ – เงินออม โดยปกติเมื่อได้รับรายได้จากการทำงานหรือเงินเดือน คนส่วนใหญ่มักจะใช้จ่ายเงินตามความต้องการของตนเองก่อน แล้วมีเงินเหลือ (ปกติมักจะไม่เหลือ) จึงจะนำไปเก็บออม แต่ถ้าเปลี่ยนมุมมองกันสักนิดโดยหักเงินออมไว้ก่อนแล้วจึงนำเงินที่เหลือไปใช้จ่าย ย่อมทำให้มีเงินออมทุกเดือนตามที่ตั้งเป้าไว้ 2.วางแผนการเงินเพื่ออนาคต การวางแผนการเงินควรจะต้องตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและมองไปในวันข้างหน้า เช่น ในวัยเริ่มต้นทำงาน บางคนวางแผนที่จะซื้อรถ ซื้อบ้าน วัยกลางคนเริ่มคิดถึงชีวิตของตนเมื่อเกษียณ และบางคนถ้ามีลูกหลานก็เริ่มคิดถึงการประกันชีวิตเพื่อให้ลูกหลานมีหลักประกันหากเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง ดังนั้นทุกคนควรเริ่มวางแผนการเงินที่เหมาะกับตนเอง ไม่ว่าจะเป็นแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ เป็นต้น 3.ให้เงินทำงาน สำหรับคนที่มีเงินออม ควรนำเงินออมนั้นไปลงทุนเพื่อเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น เช่น การนำไปฝากธนาคาร การลงทุนในกองทุนรวม และการลงทุนในหุ้น เป็นต้น 4.ไม่ใช้จ่ายเกินกำลัง: ซื้อของเท่าที่จำเป็น และไม่ใช้จ่ายเกินตัว เมื่อรู้จักทำบัญชีรายรับ รายจ่ายแล้ว ย่อมทำให้รู้สภาวะการเงิน และกำลังการซื้อของตนเอง ทำให้สามารถวางแผนและระวังไม่ให้ใช้จ่ายเกินกำลังของตนเองเพื่อป้องกันไม่ให้ไปก่อหนี้จนเกิดขีดความสามารถการหารายได้ของตนเอง 5.คิดให้ดีก่อนกู้ รู้จักเปรียบเทียบแหล่งเงินกู้ ศึกษาข้อดีข้อเสียของแหล่งเงินกู้แต่ละประเภท โดยอ่านและทำความเข้าใจในรายละเอียดและเงื่อนไขในการกู้ที่แต่ละสถาบันเสนอให้ เช่น อัตราดอกเบี้ย รูปแบบการคำนวณแผนผ่อนชำระ 6.กู้เมื่อจำเป็น ก่อนจะกู้เงินควรคิดก่อนว่าเงินกู้ที่ได้มานั้นจะนำไปทำอะไร หากกู้เพื่อบริโภคก็ควรคิดก่อนว่าสิ่งที่จะใช้เงินกู้ซื้อนั้นจำเป็นต่อตนเองหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนก็ควรเก็บเงินจนครบจำนวนแล้วจึงนำเงินนั้นไปซื้อ 7.บัตรเครดิต คือ เงินสด การใช้บัตรเครดิต เปรียบเสมือนการจ่ายเงินสดเพื่อชำระสินค้า ดังนั้นควรใช้อย่างระมัดระวัง และเก็บรักษาให้ดีเหมือนเงินสด เพราะถ้าใช้จนเพลินจนเกินกำลังอาจทำให้หนี้สินล้นพ้นตัวได้ หรือถ้าทำหล่นหายและตกไปอยู่ในมือของผู้ไม่หวังดี อาจจะนำบัตรของเราไปใช้จ่ายจนสร้างภาระหนี้ให้เราทั้งๆ ที่เราไม่ได้เป็นคนซื้อ 8.เงินทำงานตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นเงินออมหรือเงินกู้ ดอกเบี้ยจะถูกคิดคำนวณตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีวันหยุดและวันพักผ่อน ยิ่งดอกเบี้ยของเงินกู้ นอกจากจะคิดในอัตราที่สูงกว่าเงินฝากแล้ว ยังมีค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่ติดตามมาด้วยเมื่อชำระเงินล่าช้า 9.อย่าให้หนี้ท่วมตัว เมื่อเป็นหนี้หรือคิดว่าจะต้องเป็นหนี้ ควรรู้จักคำนวณรายจ่ายของตนในแต่ละเดือน เงินเก็บที่ต้องมีไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เพื่อให้ทราบยอดเงินที่ตนสามารถผ่อนชำระได้ 10.จ่ายหนี้ที่ดอกเบี้ยแพงที่สุดก่อน เมื่อเป็นหนี้แล้วควรพิจารณาว่าหนี้ก้อนใดที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุด เพราะเงินที่จ่ายคืนหนี้ในแต่ละงวดนั้นแบ่งการจ่ายคืนเป็นสองส่วน คือส่วนของเงินต้นและส่วนของดอกเบี้ย ดังนั้นในหนี้ที่ดอกเบี้ยสูงกว่า สัดส่วนของเงินที่ชำระเป็นส่วนของดอกเบี้ยก็สูงกว่าเช่นกัน