ก้าวพ้น "กะเทยสวยเกณฑ์ทหาร" ดูอีกมุมที่พวกเธออยากขอร้อง

ก้าวพ้น "กะเทยสวยเกณฑ์ทหาร" ดูอีกมุมที่พวกเธออยากขอร้อง

ก้าวพ้น "กะเทยสวยเกณฑ์ทหาร" ดูอีกมุมที่พวกเธออยากขอร้อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงนี้อะไรๆ ก็ต้องหลีกทางให้เรื่อง “ดำ-แดง” จะอะไรได้อีก ก็อยู่ในช่วงตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการในปี 2559 ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 1-12 เมษายนนี้ โดยปีนี้ผู้ที่จะเข้ารับการตรวจเลือกจะเป็นผู้เกิด พ.ศ.2538 หรือมีอายุ 21 ปีบริบูรณ์ กับผู้ที่เกิด พ.ศ.2530-2537 อายุ 22-29 ปีบริบูรณ์ ที่ยังไม่เคยเข้ารับการตรวจเลือก

ซึ่งนอกจากกระแสฮือฮาดราม่าดาราหนุ่มรอดไม่รอดเกณฑ์ทหารนั้น สังคมยังจับตาไปที่กลุ่ม “กะเทย” ที่ไปรายงานตัว ตั้งข้อวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ทั้งความสวยงาม สีสัน ความแตกต่าง จึงใช้โอกาสนี้มาเรียนรู้ความแตกต่างทางเพศ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อการอยู่ร่วมกัน

เจษฎา แต้สมบัติ ผู้อำนวยการบริหารโครงการจัดตั้งเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าว่า ภาพรวมกะเทยที่เข้าร่วมการเกณฑ์ทหารยังถูกจับจ้องซุบซิบนินทา ทำให้สาวประเภทสองหรือคนข้ามเพศหลายคนรู้สึกเครียดและกดดัน ลำพังไหนจะเครียดกับกระบวนการเกณฑ์ทหาร สภาพอากาศที่ร้อนจัด ยังต้องมาเครียดกับสายตา ที่แม้บางคนอาจมองแบบชื่นชมว่าสวยจัง มองเป็นผู้หญิงก็ตาม

“อยากให้มองกะเทยว่าเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่แตกต่างเลย อยากให้ปฏิบัติในฐานะที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่ง อาจจะน้องสาว ลูกสาว หรือใครที่เราต้องการ” เจษฎาฝากถึงกองเชียร์และชายหนุ่มที่มาเกณฑ์ทหาร กับสายตาที่จับจ้องไปที่พวกน้องกะเทย

ขณะที่ภาพกะเทยไปเกณฑ์ทหารที่ปรากฏในโลกออนไลน์นั้น เจษฎามองว่า “อยากให้บอกกล่าวและขออนุญาตก่อน เพราะหลายคนไม่ยินยอมให้ถ่ายรูป แต่ไม่สามารถปฏิเสธได้ ก็ขอความร่วมมือกองเชียร์ ทหาร และสื่อมวลชน เคารพซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ขอฝากไปยังสื่อมวลชน อย่าเขียนข่าวที่สะท้อนว่ากะเทยสวยมาก สวยกว่าผู้หญิง หรือมุมมองอะไรก็ตามที่มีนัยยะว่าแปลกประหลาด แต่อยากให้โฟกัสประเด็นว่าทหารได้รองรับพวกเราอย่างไรมากกว่า”

ส่วนกระบวนการเกณฑ์ทหารกับการรองรับกลุ่มกะเทยนั้น เจษฎายอมรับว่า “ปีนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น อย่างที่เห็นชัดคือ ปีนี้ไม่ใช้ปากกาเมจิกเขียนลงบนผิวหนังโดยตรง แต่ใช้สก๊อตเทปแปะแล้วเขียนบนสก๊อตเทปแทน และยังไม่เขียนคำว่ากะเทย หรือโรคจิตลงไป นอกนั้นถือว่าทำมาดีอยู่แล้ว ทั้งห้องตรวจร่างกายมิดชิด กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนกรณีกะเทยหลุดเข้าไปจับได้ใบแดง”

ซึ่งเจษฎาดีใจว่าขณะนี้ยังไม่ได้ร้องเรียนเข้ามาว่า มีน้องๆกะเทยหลุดเข้ารอบผ่านไปจับได้ใบแดง จากปีที่แล้วที่มี 1 คน แต่ก็ยังไม่พอใจกับผลลัพธ์การเผยแพร่ข้อมูลการเตรียมตัวก่อนมาเกณฑ์ทหารให้น้องๆ กะเทยได้รู้ทั่วถึง

“จากการลงพื้นที่หลายแห่งพบว่า น้องกะเทยหลายคนยังไม่รู้ว่าต้องนำใบรับรองแพทย์ที่ไปตรวจในโรงพยาบาลของกองทัพและของรัฐ ที่มีแผนกจิตเวช จิตแพทย์มาด้วย บางคนรู้แต่เตรียมตัวไม่ทัน เพราะทราบล่วงหน้าเพียง 2-3 วัน ทำให้ถูกขึ้นบัญชีบุคคลจำพวกที่ 3 ต้องกลับมาใหม่ปีหน้า” (จำพวกที่ 3 ได้แก่ คนซึ่งมีร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารในขณะนั้นได้ เพราะป่วยซึ่งจะบำบัดให้หายภายในกำหนด 30 วันไม่ได้)

เจษฎาเล่าอีกว่า น้องกะเทยหลายคนเกิดความทุกข์ เครียด จากการเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร บางคนที่มาปรึกษาบอกอยากหนีทหาร ซึ่งใช้เวลาเป็น 10 ปีเลย เพราะกลัวต้องถูกถอดเสื้อในที่สาธารณะ กลัวที่จะจับใบดำใบแดง ตนก็อธิบายถึงกระบวนการที่มีห้องตรวจที่ปิดมิดชิด หลุดไปจับใบแดงก็สามารถยื่นคำร้องได้ และแม้ปีนี้เอกสารใบรับรองแพทย์ไม่มีไม่เป็นไร ปีหน้าค่อยไปขอมาได้

ทั้งนี้ได้จัดทำเป็นคู่มือ “ดิฉันต้องไปเกณฑ์ทหาร” ที่ให้คำแนะนำ “ก่อน ระหว่าง และหลังเกณฑ์ทหาร” ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ได้แก่ ก่อนเกณฑ์ทหาร ต้องไปขอใบรับรองแพทย์, ระหว่างเกณฑ์ ต้องแต่งกายรัดกุม เช่น ชุดนักศึกษากระโปรงพลีท ที่เสื้อกระดุมทำให้ง่ายต่อการตรวจหน้าอก กระโปรงพลีทเพื่อง่ายต่อการนั่งในสถานที่จำกัด และการปฏิบัติตัวเมื่อเผชิญสถานการณ์คุกคามหรือล่วงละเมิดทางเพศ ให้แจ้งทหารที่สวมปลอกแขนสีแดง

และหลังเกณฑ์ ซึ่งเป็นกรณีที่โชคร้าย ถูกจัดให้อยู่ประเภท 1 ต้องจับใบดำใบแดง แล้วสุดท้ายจับได้ใบแดง สามารถยื่นเรื่องต่อกรรมการชั้นสูงในหน่วยนั้นได้เลย เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการวินิจฉัยหาจิตใจที่เป็นผู้หญิงที่แท้จริง

ขณะที่ จันทร์จิรา บุญประเสริฐ ผู้ประสานงานมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ เล่าว่า ปีนี้ดีขึ้นทุกอย่าง แทบไม่มีอะไรบกพร่อง มีเพียงปัญหาที่น้องกะเทยไม่ได้เตรียมใบรับรองแพทย์มาเท่านั้น ทำให้น้องๆ ที่ไม่ได้แปลงเพศมา ไม่ได้กินฮอร์โมนมาจะถูกจัดอยู่จำพวก 3 แล้วต้องเสียเวลากลับมาใหม่ปีหน้า แต่ในส่วนที่เอาใบรับรองแพทย์มาก็ไม่มีปัญหา

“โดยรวมพอใจ กระบวนการจัดการของทหารดีขึ้น พัฒนาขึ้น ท่าน พ.อ.ไตรจักร นาคะไพบูลย์ ผู้อำนวยการกองการสัสดี หน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้ความร่วมมือดี ท่านมารับฟังปัญหา ร่วมแก้ปัญหากับเรา ก็เหลือเพียงการแนะนำให้เตรียมตัวก่อนมาเกณฑ์ทหารเท่านั้น”

จันทร์จิราเล่า และพูดถึงประเด็นกะเทยถูกแซวถูกมองนั้น พบว่ายังมีการแซวอยู่ เช่น ถามว่าแปลงเพศมาหรือยัง มีแฟนหรือยัง ก็อาจทำให้น้องๆ อึดอัดบ้าง แต่ลวนลามทางสายตาคิดว่าไม่ค่อยมีแล้ว เพราะทุกคนจับจ้องไปที่อนาคตตนเองก่อนต้องจับใบดำใบแดง และสังคมก็พัฒนา มีการยอมรับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook