8 มีนาคม วันสตรีสากล เรื่องของผู้หญิง ความหวังที่ยังริบหรี่
ประเทศไทยมีประชาธิปไตยอีกครั้งหนึ่งแล้ว หลังจากที่การเลือกตั้งทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เสร็จสิ้นเรียบร้อย ซึ่งผลปรากกฏว่า "ผู้หญิง" บนเส้นทางการเมืองสามารถฝ่าฟันขวากหนามมาได้คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพียง 11% เท่านั้น โดย ส.ส.หญิงนั้น มีจำนวน 56 คน ขณะที่ ส.ว.มีเพียง 24 คนเท่านั้น
แม้จะดูจากตัวเลขแล้ว พูดได้เต็มปากว่า "น้อยเหลือเกิน" กับสัดส่วนของนักการเมืองชายที่ตบเท้ากันเข้าสู่ทั้งสภาบนและสภาล่าง แต่ "11%" นี้ ก็นับว่าเป็นความก้าวหน้าเมื่อเทียบกับสถิติครั้งที่ผ่านมาที่สัดส่วนของ ส.ส.หญิงและ ส.ว.หญิง ไม่เคยเกิน 10%
ความหวังของสตรี ที่มุ่งหวังให้ช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เรื้อรังมานานโดยเฉพาะพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสหญิงชาย ที่ว่ากันด้วยเรื่องสิทธิ และความเสมอภาคของหญิงชายโดยตรง ทั้งในแง่ของการทำงาน และโอกาสด้านการบริหารจึง "สว่างวาบ" ขึ้นมาทันใด
บางคนอาจ "หวัง" ถึงขั้นเป็นนโยบาย กฎหมาย มาตรการต่างๆ ที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมเพื่อ "ฉลอง" รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ปี 2550
หากแต่เมื่อสอบถาม "เจาะ" ถึงความมุ่งหมายที่จะช่วยเหลือกลุ่มผู้หญิงตามแรงคาดหวัง กลับได้รับคำตอบที่เหมือนวนอยู่ในอ่าง และเหมือนลังเลว่าจะทำอะไรเพื่อผู้หญิงดี
พล.ท.หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า นโยบายด้านการให้ความเสมอภาคหญิงชายนั้น เป็นนโยบายพื้นฐานที่รัฐบาลได้กำหนดไว้แล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นทั้งเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง
ส่วน นางอัจฉรา เตชฤทธิ์พิทักษ์ ส.ว.สรรหา บอกว่า ทุกวันนี้ไม่อยากให้มองว่าหญิงไม่เสมอภาคทัดเทียมกับผู้ชาย แต่เป็นเพราะผู้หญิงเองขาดโอกาสที่เข้าไปทำงาน โดยเฉพาะงานระดับผู้บริหาร จะมีผู้หญิงที่ก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงๆ ค่อนข้างน้อย ซึ่งการที่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว.ครั้งนี้จะเข้าไปช่วยผลักดันกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง เด็ก แต่จำเป็นต้องไปศึกษาข้อกฎหมายให้ชัดเจนก่อน
นางกอบกุล พันธ์เจริญวรกุล ส.ว.สรรหาอีกคนหนึ่ง บอกว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่ยังมีความสนใจทางด้านการเมืองน้อยมาก ส่วนมากจะสนใจในด้านอื่นมากกว่า เช่น เรื่องธุรกิจ เพราะฉะนั้น โอกาสที่จะได้รับเลือกจึงยังไม่มากเท่าที่ควร ดังนั้น การแก้ไขคือ จำเป็นต้องปลุกระดมความสนใจ ความเข้าใจทางด้านการเมือง ซึ่งเมื่อได้เป็น ส.ว.แล้วจะผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเสมอภาคทุกฉบับ รวมทั้งผลักดันกฎหมายเรื่องสุขภาพแม่และเด็ก และกฎหมายด้านการศึกษาสำหรับเด็กที่ขาดโอกาส
ส.ว.สรรหาอีกคน นางทิพยวัลย์ สมุทรักษ์ บอกว่า สนใจเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับ สตรี เด็ก และเยาวชน ซึ่งหลังจากที่ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว.แล้วจะเข้าไปผลักดันกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะส่งเสริมปลูกฝังให้ความรู้กับผู้หญิงตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนว่าหญิงชายมีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่ากับผู้ชาย
ขณะที่ ส.ส.หญิง ซึ่งก็เป็นอีกความหวังของกลุ่มผู้หญิง เพราะมีหน้าที่ในการออกกฎหมายได้เช่นกัน ก็มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหา "ปากท้อง" และปัญหาคุณภาพชีวิต ดังเช่น
นางวรศุลี สุวรรณปริสุทธิ์ ส.ส.พรรครวมใจพัฒนา เขต 3 จ.มุกดาหาร ให้คำมั่นว่าจะช่วยเหลือเรื่องอาชีพกลุ่มแม่บ้านด้วยการนำเอางบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรไปซื้อผ้าห่มจากกลุ่มแม่บ้าน แทนที่จะไปซื้อที่โรงงาน เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มแม่บ้าน ในช่วงว่างงานลังการเก็บเกี่ยว
ด้าน นางสาวรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.สมุทรสงคราม ที่ต้องการสานต่อโครงการสถานรับเลี้ยงคนชรา ซึ่งเคยผ่านขั้นตอนการแปรญัตติแต่ไม่ผ่านมติความเห็นชอบจากสภา เพราะจากการเดินหาเสียง เห็นหลายบ้านที่มีแต่ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังช่วงกลางวัน ไม่สามารถดูแลช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องนอนอยู่กับปัสสาวะและอุจจาระ
แม้ความหวังที่ฝากไว้กับนักการเมืองหญิงดูจะเป็นไปได้ยาก แต่ผู้หญิงทั้งประเทศก็ยังอยากจะฝากให้ตัวแทนทั้ง 11% นี้เข้าไปมีบทบาทและเป็นปากเป็นเสียงแทนผู้หญิงทั้งประเทศ เพราะจาก "ภารกิจ" ที่แต่ละคนบอกนั้น ส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องใกล้ตัว หากแต่เทียบจำนวนสส.และสว.หญิง แล้ว 80 คน ถือว่าเป็น "เสียง" อันทรงพลังที่จะสามารถร่างกฎหมายเพื่อผู้หญิงได้ เพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ เรื่องการตราพระราชบัญญัติ มาตรา 142 (2) กำหนดชัดเจนว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่า 20 คนสามารถเสนอร่างพระราชบัญญัติได้
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรสตรี จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2551 วาระสำคัญคือการมอบรางวัลประกาศเกียรติคุณให้กับสตรี บุคคล และหน่วยงานดีเด่นที่ส่งเสริมสถานภาพสตรี โดยปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล รวม 15 สาขา 20 รางวัล
กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรสตรี จัดงานวันสตรีสากล ประจำปี 2551 โดยมี นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้กับสตรี บุคคล และหน่วยงานดีเด่นที่ส่งเสริมสถานภาพสตรี ซึ่งปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล รวม 15 สาขา 20รางวัล อาทิ
นายจรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่ประกาศนโยบายยุติการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน ผลักดันกฎหมายเพิ่มโทษข่มขืน
นางสาวชวิดา วาทินชัย ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย ที่ทำหน้าที่สื่อกลางสะท้อนปัญหาสตรีที่ถูกละเมิดและปกป้องสิทธิสตรีมาอย่างต่อเนื่อง
นางฟองสนาน จามรจันทร์ ผู้จัดรายการวิทยุ นำเสนอข่าวสารเข้าถึงคนทุกกลุ่มผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย
และนางสารีฟ๊ะ วาหะ ผู้นำสตรีจังหวัดยะลา ที่ได้รับรางวัลสตรีดีเด่นด้านการส่งเสริมสันติภาพใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นแกนนำรณรงค์เผยแพร่ประชาธิปไตย และส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนกับข้าราชการที่ปฎิบัติงานในพื้นที่ภาคใต้
นอกจากนี้ กรมประมง กรมราชทัณฑ์และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ได้รับรางวัลหน่วยงานภาครัฐดีเด่นด้านส่งเสริมความเสมอภาคหญิงชาย ขณะที่รายการภัยรายวันทางโมเดิร์นไนท์ทีวี และละครเรื่องสตรีที่โลกลืม ได้รับรางวัลสื่อมวลชนดีเด่นที่ส่งเสริมศักยภาพสตรี