ตรวจเต้านมง่ายๆ ด้วยตัวเอง (ลองดูแล้วคุณจะติดใจ)
แหม ตั้งหัวข้อว่า ลองดูแล้วคุณจะติดใจเนี่ย ไม่ใช่ติดใจอะไรหรอกนะคะ ติดใจตรงที่ว่า ง่ายๆ แค่นี้ใครก็ทำได้ ไม่ยากเลย แถมยังใช้เวลาไม่กี่นาทีอีกด้วย เรียกได้ว่า คุ้มค่าคุ้มเวลา มากๆ เลยค่ะ เรามาลองดูกันดีกว่าว่าต้องทำอย่างไรบ้าง
อย่างที่เคยบอกไปแล้วในบทความเรื่อง ซีสต์เต้านม Vs เนื้องอกที่เต้านมว่า การตรวจหาความผิดปกติบริเวณเต้านมควรทำเดือนละครั้ง เพื่อเช็คตัวเอง ไม่ใช่ทำทุกวัน วันละหลายๆ ครั้ง เพราะนอกจากจะไม่ได้อะไรแล้ว ยังเพิ่มความวิตกกังวลให้กับคุณผู้หญิงทั้งหลายด้วยนะคะ (แล้วจะหาว่าไม่เตือน) นอกจากตรวจเดือนละ 1 ครั้ง แล้ว ควรตรวจหลังประจำเดือนมา 7-10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน จะดีที่สุดมาเริ่มกันดีกว่าค่ะ
- ยืนตรงหน้ากระจกเพื่อดูที่เต้านมทั้ง 2 ข้าง แล้วสังเกตว่า ขนาด รูปร่าง สีผิว ตำแหน่งของเต้านม หัวนม เป็นอย่างไร และควรเทียบการเปลี่ยนแปลงในเดือนก่อน
- หลังจากนั้นให้ยกแขนทั้ง 2 ข้างขึ้นเหนือศีรษะ แล้วดูที่เต้านมอีกครั้ง ค่อยๆ หมุนตัวช้าๆ เพื่อดูบริเวณด้านข้างของเต้านม
- มือเท้าเอวและโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อย ดูความเปลี่ยนแปลงซ้ำอีกครั้ง
- ใช้นิ้วมือบีบที่หัวนมเบาๆ เพื่อดูว่ามีเลือด หนอง หรือน้ำไหลออกจากหัวนมหรือไม่
- เริ่มคลำเต้านม โดยคลำตั้งแต่กระดูกไหปลาร้าลงมา ใช้มือซ้ายคลำเต้านมข้างขวา ให้ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ทั้ง 3 นิ้ว ค่อยๆ กดลงบนผิวหนังเบาๆ และกดแรงขึ้น จนกระทั่งสัมผัสกระดูกซี่โครง คลำเต้านมให้ทั่วทิศทาง ซึ่งการคลำทำได้หลายแบบ แต่ที่สำคัญคือ ต้องคลำให้ทั่วเต้านมไปจนถึงบริเวณรักแร้ใต้วงแขน หลังจากนั้น ให้เปลี่ยนคลำอีกข้างแบบเดียวกัน
- คลำแบบก้นหอย - โดยเริ่มต้นจากการคลำเป็นวงกลมกว้างๆ ด้านนอกขอบเต้านมก่อน แล้ววนให้วงกลมนี้แคบเข้า โดยใช้นิ้วมือของท่านทั้งคลำและกดลงที่เต้านมเป็นวงกลมเล็กๆ วนเข้ามาจนกระทั่งถึงหัวนม
- คลำแบบดาวกระจาย - จินตนาการ แบ่งเต้านมเป็นช่วงๆ ตามเข็มนาฬิกา เริ่มต้นคลำจาก 12 นาฬิกาไปที่ 1, 2, 3 นาฬิกาเรื่อยๆ จนครบพื้นที่เต้านม
- คลำแบบขึ้นและลง - จินตนาการว่า เต้านมเป็นลูกคลื่นในทะเล คลำเต้านมขึ้นและลงตามยอดคลื่น อย่าลืมใช้นิ้วมือคลำเป็นวงกลมเล็กๆ ไปพร้อมๆ กันด้วย
- เมื่อเสร็จการคลำในท่ายืนแล้ว ให้เปลี่ยนมาคลำในท่านอน ใช้หมอนหนุนไหล่ข้างที่จะคลำ แล้วคลำซ้ำเหมือนท่ายืน
สิ่งที่ต้องควรระวังเมื่อตรวจพบมะเร็งเต้านม
- ก้อนหรือเนื้อเต้านมหนากว่าปกติ
- ผิวหนังแดง หรือร้อน
- รูขุมขนใหญ่ขึ้นเหมือนผิวส้ม ผิวหนังบุ๋ม หรือมีการหดรั้งมีการนูนของผิว
- ปวดกว่าปกติ
- คัน มีผื่น โดยเฉพาะบริเวณหัวนมและฐานรอบหัวนม หัวนมบุ๋ม การชี้ของหัวนมเปลี่ยนทิศทาง
- เลือดไหลออกจากหัวนม หรือมีแผลที่หายยากของเต้านมและหัวนม