ยกเครื่องเรื่องงาน ฉบับปี 2007

ยกเครื่องเรื่องงาน ฉบับปี 2007

ยกเครื่องเรื่องงาน ฉบับปี 2007
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ปรากฏการณ์ใหม่ที่พบมากจนแทบจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาในแวดวงคนทำงานยุคนี้คือ เปลี่ยนงานบ่อย ถ้าไม่นับกรณีที่เจ้านายเหลือทนจนทำงานด้วยกันไม่ได้ การเปลี่ยนงานบ่อยก็มีมุมดีๆคือ ทำให้เราได้ค้นหาตัวเอง และใช้ศักยภาพที่มีอย่างเหมาะสม แต่ถ้าเปลี่ยนแล้วเปลี่ยนอีกอยู่นานจนยังไม่เจองานที่ ใช่ สักที ลองปรึกษาคู่มือยกเครื่องเรื่องงานฉบับนี้ก่อนยื่นใบลาออกอีกหนน่าจะช่วยคุณได้มากทีเดียว 1. มองตัวเอง ลองวิเคราะห์งานที่ทำอยู่ทุกวันนี้อย่างละเอียดว่าเป็นอย่างไร ทั้งในเรื่องตำแหน่งงานและภาระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย เนื้องานเป็นอย่างไร เพื่อนร่วมงานและหัวหน้างานล่ะ สิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน ใช่ อย่างที่ฝันไว้หรือยัง ลองลิสต์รายการดูจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นเยอะ * งานที่คุณรักคืองานอะไร ใช่งานนี้หรือเปล่า ตอนนี้สนุกกับงานไหม งานที่ทำให้คุณขนลุกเกรียว(ด้วยความอยากพิสูจน์ฝีมือ)ทุกครั้งที่เอ่ยถึงคืออะไร ชอบทำงานเป็นทีมหรือว่าทำงานแบบใช้สมาธิคนเดียวเงียบๆ ฯลฯ แล้วลักษณะทั้งหลายที่ตอบมานั้นตรงกับงานที่ทำตอนนี้หรือไม่ * ทุกวันนี้ตอนไปทำงานคุณเกลียดหรือหงุดหงิดกับเรื่องอะไรที่สุด หัวหน้างานที่มองข้ามคุณทั้งปี หรือการนั่งพิมพ์งานในโปรแกรมเวิร์ด-เอ็กเซล ฯลฯ ที่ทำให้แทบคลั่ง * คุณนั่งทำงานด้วยมุมมองแบบไหน มองว่าในอนาคตจะก้าวสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น หรือทำงานเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์สักระยะแล้วเปลี่ยนงานใหม่อีก * ชีวิตงานกับชีวิตส่วนตัวสมดุลดีไหม คุณทุ่มให้งานแบบถวายชีวิตจนไม่มีเวลาเป็นส่วนตัวหรือเปล่า * คุณต้องการทำงานที่ท้าทายกว่างานในปัจจุบันหรือไม่ หรือทำงานมาก็ตั้งนาน ยังรู้สึกว่าย่ำอยู่กับที่ แถมริ้วรอยบนใบหน้ามาเยือนซะงั้น 2. ความเหมาะสมกับงาน ตัดเรื่องค่าตอบแทนกับสิทธิประโยชน์ต่างๆที่เป็นเครื่องล่อตาล่อใจออกไปก่อน ประเด็นที่หลายคนมักคิดไม่ถึง คือเรื่องไลฟ์สไตล์ของตัวเองกับงานว่าส่งเสริมกันหรือไม่ เช่น * บางคนชอบท่องเที่ยว แต่งานที่ทำ (ซึ่งก็ทำได้ไม่มีปัญหา) กลับเป็นงานบัญชีนั่งโต๊ะ อยู่กับตัวเลขบวกลบคูณหารให้ลงตัวจนหน้าเครียดตลอดวัน * ในบริษัทมีพนักงานทั้งหมดเท่าไร วัฒนธรรมองค์กรตายตัวหรือยืดหยุ่นมากน้อยแค่ไหน และผู้บังคับบัญชามีทัศนะต่อการทำงานของลูกน้องอย่างไรบ้าง * ได้ดึงพรสวรรค์ที่มีอยู่ในตัวออกมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน สังเกตจากการที่หัวหน้างานประเมินคุณว่า เป็นไปอย่างที่คาดหวังหรือไม่ * การทุ่มเทเวลาให้กับงานอาจเปลี่ยนแปลงได้เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง วันนี้คุณยังสามารถทำงานได้ 80 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เมื่อทำงานไปสักระยะหนึ่งอาจไม่ใช่อย่างนั้นก็ได้ * ผู้ที่จ้างคุณเข้ามาทำงาน (ซึ่งโปรดปรานคุณมากๆ) อาจย้ายไปทำงานอื่น และผู้มาใหม่ก็มีทัศนะต่อลูกน้องและวิธีการทำงานไม่เหมือนกับเจ้านายคนแรก อันนี้ก็น่าคิด 3. คิดแบบนายจ้าง ลองเอาใจคุณมาใส่กับใจของนายจ้างซึ่งคัดเลือกคุณมาจากใบสมัครของคนเป็นร้อยเป็นพัน เขาจะต้องการอะไรจากคุณบ้าง แล้วคุณให้เขาได้(โดยไม่ต้องฝืนใจ)หรือเปล่า * ผลงานโดดเด่นซึ่งสามารถบันทึกลงไปในประวัติการทำงานว่า เป็นความสำเร็จสูงสุดในอาชีพขณะนั้น * ทักษะที่เอื้อต่อความเจริญก้าวหน้าขององค์กรและทำให้งานลุล่วงได้ง่ายขึ้น เช่น คุณอาจมีความสามารถเรื่องเว็บไซต์เป็นพิเศษ จึงได้รับมอบหมายให้บุกเบิกธุรกิจอีคอมเมิร์ซของบริษัท เป็นต้น 4. ขอมือกัลยาณมิตร มิตรในที่นี้ควรมีความรู้ความชำนาญที่จะสะท้อนภาพของตัวคุณกับงานใหม่ที่คุณกำลังจะตรงดิ่งไปสมัครว่า เหมาะสมหรือบกพร่องตรงไหน พร้อมจะให้คำแนะนำเจ๋งๆ และอุดช่องโหว่ เสริมจุดเด่นให้คุณได้ * ผู้รู้ที่ว่าอาจเป็นเจ้านายเก่าหรือแม้แต่เพื่อนที่เจนจัดในเรื่องนี้ ที่สำคัญต้องชี้ข้อดีข้อด้อยอย่างไม่ลำเอียง * ข้อนี้ก็สำคัญไม่แพ้กันคือ ผู้ที่จะมาให้คำปรึกษาต้องรู้จักตัวตนข้างในคุณลึกซึ้งพอควร นอกจากนี้การขยายเครือข่ายกัลยามิตรที่ดีก็จะช่วยสร้างสังคม(การทำงาน)ดีๆให้เกิดขึ้นได้ด้วย เมื่อลองใคร่ครวญอย่างถี่ถ้วนพบว่า เซย์กู้ดบายดีกว่า หรือจะตั้งใจทุ่มเทให้งานที่ทำอยู่ต่อไป ก็ขอให้โชคดีกับการใส่เกียร์เดินหน้าไปหาเป้าหมายที่วางไว้ ------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------ ติดตามอ่าน เคล็ดลับความสำเร็จของเจ.เค. โรว์ลิ่ง ได้ใน...Column: Career Focus No.591 (16 September 2007)

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ ยกเครื่องเรื่องงาน ฉบับปี 2007

ยกเครื่องเรื่องงาน ฉบับปี 2007
ยกเครื่องเรื่องงาน ฉบับปี 2007
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook