10 วิธี "ลดหวาน" ต้านชรา
เมื่อเข้าช่วงฤดูร้อนที่อากาศร้อนอบอ้าวหลายคนก็จะคิดถึงเครื่องดื่มหวานๆ เย็นๆ ไม่ว่าจะน้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้ปั่น ไอศกรีม ผลไม้ลอยแก้ว น้ำแข็งใส ขนมหวาน ขนมเค้กและอื่นๆ เพื่อช่วยดับกระหายคลายร้อย อาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้ช่วยทำให้ความรู้สึกร้อนดีขึ้น สดชื่น กระปรี้กระเปร่าขึ้นมาในทันที และคนส่วนมากก็มักจะติดอยู่กับความรู้สึกนี้ เรียกว่า "ภาวะติดน้ำตาล"
คือกินหรือดื่มอาหารต้องมีน้ำตาลหรือความหวานเป็นส่วนประกอบ เมื่อติดแล้วหากไม่ได้กินน้ำตาลก็จะรู้สึกไม่สดใส ไม่มีแรง หรือบางครั้งก็หงุดหงิด อารมณ์เสีย กลไกเมื่อน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายจะถูกแปรรูปให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เพื่อให้ร่างกายสามารถนำไปใช้ให้เป็นพลังงาน การที่เราได้รับน้ำตาลในปริมาณสูงจะทำให้มีระดับของน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น และฮอร์โมนตัวหนึ่งที่สร้างมาจากตับอ่อนที่ชื่อว่าอินซูลินก็จะถูกสร้างมากขึ้นด้วยเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ แต่การที่ตับอ่อนต้องทำงานหนักเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้ตับอ่อนล้า หรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ และผลที่ตามมาก็คือการเกิดโรคเบาหวาน และเมื่อร่างกายได้รับน้ำตาลในปริมาณมากเกินความต้องการ น้ำตาลเหล่านั้นก็จะแปรรูปเป็นไขมันสะสมไปทั่วร่างกาย ผลที่ตามมาก็คือการเกิดโรคอ้วน จะส่งผลให้ร่างกายทำงานหนักมากเกินไปร่างกายก็จะเสื่อมโทรมและชราเร็วกว่าที่ควรเป็นอีกทั้งยังเพิ่มอัตราความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดอีกด้วย
1. เลือกดื่มน้ำเปล่าแทนน้ำหวาน
เน้นการดื่มน้ำเปล่า เครื่องดื่มชาหรือสมุนไพรที่ไม่เติมน้ำตาล ร่างกายต้องการน้ำวันละ 8 แก้วขึ้นไป น้ำช่วยขจัดของเสีย ขนส่งสารอาหารและออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงให้ความชุ่มชื้นแก่เซลล์ การดื่มน้ำน้อยนอกจากจะทำให้ผิวไม่สดใสยังส่งผลให้อวัยวะภายในของร่างกายต้องทำงานหนักเป็นที่มาของความเสื่อมโทรม
2. รับประทานผลไม้สดแทนขนมหวาน
ทานผลไม้ที่ไม่ผ่านการแปรรูป เพราะผลไม้สดนั้นให้วิตามิน เกลือแร่และใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่าย แถมยังได้รสหวานจากน้ำตาลฟรักโทส กลูโคสจากที่ช่วยทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น อาจนำผลไม้มาปั่นทำเป็นไอศกรีมแท่ง หรือหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แช่แข็งแล้วใส่ในน้ำดื่มแทนน้ำแข็งก็จะได้น้ำดื่มกลิ่นผลไม้ แต่ไม่ได้น้ำตาลส่วนเกิน
3. เลือกชนิดของขนมหวานที่จะรับประทาน
หากอยากจะกินขนมหวานน้ำแข็งใสก็ควรกินกับธัญพืชที่ให้ใยอาหารสูง เช่น ลูกเดือย ถั่วแดง ถั่วเขียว ข้าวโอ๊ต ข้าวโพด หรือผลไม้รสไม่หวานเช่นฝรั่ง มะม่วงมันดิบ ลูกพรุน เนื่องจากใยอาหารจะช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายและช่วยลดปริมาณความต้องการอินซูลินของร่างกาย ร่างกายก็จะไม่ทำงานหนักทำให้ร่างกายมีเวลาเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรง นอกจากนี้ใยอาหารยังช่วยให้อิ่มท้องได้นาน ลดความหิวของหวาน ลดความอ้วนได้
4. หลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการเติมนํ้าตาลลงในอาหารและเครื่องดื่ม
ในที่นี้หมายถึงน้ำตาลทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น น้ำตาลทราย น้ำตาลทรายแดง น้ำผึ้ง ไซรัป และไฮฟรักโทสคอร์นไซรัปหรือน้ำตาลที่สกัดจากข้าวโพด เป็นต้น เพราะเมื่อเข้าสู่ร่างกายสุดท้ายจะเปลี่ยนไปเป็นกลูโคสดังนั้นจึงควรลดปริมาณการใช้น้ำตาลเหล่านี้ในอาหารและเครื่องดื่ม
5.ชิมรสชาติอาหารก่อนปรุงทุกครั้ง
ในบางครั้งเรามักจะติดการปรุงอาหารโดยการใส่น้ำตาลก่อนเสมอทำให้ได้รับน้ำตาลมากเกินไปจนเกิดโทษ และหากสั่งอาหารก็ควรเน้นว่าไม่หวานเนื่องจากหากรสชาติไม่หวานเราสามารถเพิ่มเติมเองที่ละน้อยได้
6. บ้วนปากทุกครั้งหลังรับประทานของหวาน
บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าธรรมดาหลังจากกินขนมหวานหรือน้ำหวาน เนื่องจากความรู้สึกที่สัมผัสได้ถึงความหวานจากต่อมรับรสชาติภายในช่องปากจะส่งผลให้เกิดความอยากอาหาร และยังเป็นสาเหตุหลักที่ทําให้ฟันผุ เพราะแบคทีเรียที่ยังคงหลงเหลืออยู่หลังจากรับประทานอาหารจะมีโอกาสทำลายฟัน หรือหาโอกาสแปรงฟันหลังจากรับประทานอาหารหรือของว่างทุกครั้ง
7. อ่านฉลากโภชนาการข้างบรรจุภัณฑ์
ควรอ่านฉลากโภชนาการที่บอกถึงปริมาณน้ำตาลที่ข้างกล่องว่า มีน้ำตาลซูโครส แล็กโทส ฟรักโทส กลูโคส มอลโทส น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง ไฮฟรักโทสคอร์นซีรัป คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์หรือเป็นกี่กรัมหากมีมากกว่า 15 กรัมหรือประมาณ 3 ช้อนชาก็ควรจะหลีกเลี่ยง
8. ให้เวลาร่างกายในการปรับตัว
ร่างกายเราจะใช้เวลาประมาณ 10 วันในการปรับสภาพลิ้นที่ติดรสชาติอาหารหวาน ในช่วงแรกอาจทำให้รู้สึกว่าอาหารหรือเครื่องดื่มขาดรสหวานและรสชาติไม่เหมือนเดิม แต่หากให้เวลาสักพักร่างกายจะสามารถปรับและลิ้นจะมีความชินกับชาติอาหารที่ไม่หวานและต่อไปก็จะต้องการน้ำตาลลดลง
9.ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเด็ก
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเด็กโดย ไม่ให้ขนมหวาน ทอฟฟี่ ช็อคโกแลต และไม่ควรแสดงความรักให้รางวัลปลอบใจเด็กหรือฉลองเทศกาลต่างๆ ด้วยอาหารที่มีน้ำตาลสูง
10.ใช้สารให้ความหวานบางตัวที่มีประโยชน์
ในช่วงที่ลดน้ำตาลอาจมีการใช้สารให้ความหวานบางตัวที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่น หญ้าหวานหรือ Stevia ใบของหญ้าหวานนี้จะให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายขาวปกติถึง 30 เท่าจึงใช้เพียงปริมาณที่เล็กน้อยเท่านั้น แม้ว่าการศึกษาจะระบุถึงความปลอดภัยของหญ้าหวาน ไม่มีอันตรายในคน และไม่เกิดพิษสะสมได้ แต่กระนั้นก็ตามการใช้หญ้าหวานก็ควรที่จะระมัดระวัง เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงเล็กน้อยเช่น ในบางรายอาจเกิดแก๊สในระบบทางเดินอาหารได้
ถึงแม้ว่าการได้รับน้ำตาลมากเกินไปจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคเรื้อรังและเร่งความชรา การได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เหมาะสมคือไม่เกินกว่า 5 ช้อนชาในหนึ่งวันก็ไม่ถือว่าอันตรายเนื่องมาจากน้ำตาลมีหน้าที่คือให้พลังงาน เพื่อใช้ในการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น การหายใจ การย่อยอาหาร การทำงานของต่อมมีท่อและไร้ท่อต่างๆ และที่สำคัญคือน้ำตาลเป็นอาหารของสมอง ร่างกายจะใช้พลังงานจากน้ำตาลก่อนสารอาหารประเภทไขมันหรือโปรตีน ในผู้ที่เป็นโรคเบาหวานก็ควรพกน้ำตาลติดไว้หากมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำก็ควรดื่มน้ำหวานหรือลูกอมน้ำตาล และในผู้ที่สูญเสียเหงื่อหรือมีอาการท้องเสียการได้รับน้ำตาลก็จะทำให้รู้สึกดีขึ้น ไม่อ่อนแรง เพราะฉะนั้นหากเราเลือกรับประทานนํ้าตาลในปริมาณที่เหมาะสมให้ถูกต้องตามปัจจัย แวดล้อมของแต่ละบุคคลอันประกอบไปด้วยอายุ เพศ นํ้าหนัก ส่วนสูง และกิจกรรมระหว่างวันก็จะทําให้ร่างกายไม่ขาดสมดุลและไม่ก่อให้เกิดความชราก่อนวัยอันควร
ติดตามคอลัมน์อื่นๆ เพิ่มเติม ดาวน์โหลดนิตยสารในเครือจีเอ็มได้แล้วที่