“ติ๊ก กัญญารัตน์” ในมิติคนเบื้องหลังสร้างหนังสู่ตลาดสากล

“ติ๊ก กัญญารัตน์” ในมิติคนเบื้องหลังสร้างหนังสู่ตลาดสากล

“ติ๊ก กัญญารัตน์” ในมิติคนเบื้องหลังสร้างหนังสู่ตลาดสากล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

ครั้งหนึ่งอดีตนางเอกสาวหน้าหวาน “ติ๊ก กัญญารัตน์” เคยฝากผลงานไว้ในฐานะคนเบื้องหน้า ในขณะที่ชื่อเสียงและเส้นทางในวงการบันเทิงกำลังไปได้สวย เธอกลับเลือกเบนเข็มไปทำงานเบื้องหลัง จนในที่สุดบทบาทการเป็นคนเบื้องหลังของเธอเด่นชัดยิ่งกว่างานเบื้องหน้า เพราะเธอสามารถคว้ารางวัลในฐานะ “คนสร้างหนัง” ได้จากหลายเวที

ล่าสุดในเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ผ่านมา สำหรับบ้านเรากระแสความสนใจถาโถมไปที่แฟชั่นพรมแดง น้อยคนนักที่จะรู้ว่าสาวเก่งหน้าหวานคนนี้เธอเป็นหนึ่งในคนบันเทิงไทยที่มีโอกาสนำภาพยนตร์ Take Me Home ภายใต้การสร้างของตนเองร่วมฉายในเทศกาลหนังเมืองคานส์ด้วยเช่นกัน เส้นทางจาก “นักแสดง” ไปสู่ “คนสร้างหนัง” ของเธอเกิดขึ้นได้อย่างไร Sanook! Women อาสาพาไปพบคำตอบ

จุดเริ่มต้นของคุณเริ่มจากนักแสดงและหันไปเป็นผู้สร้างภาพยนตร์ได้อย่างไร
“สำหรับภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งก้าวของติ๊กเพราะติ๊กมีความรู้สึกว่าหลังจากที่ติ๊กต้องรอเสนองานละครหรืองานรายการ ช่วงที่เรารอเราก็อยากจะหาอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ทำกับวงการบันเทิง เลยคิดว่าหนังเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และไม่ต้องรอใครด้วย เป็นสิ่งที่ลงทุนเอง ทำเองคิดเอง ถ้าได้ก็คือตัวเรา ถ้าไม่ได้ก็คือตัวเรา เลยรู้สึกว่าน่าลอง ท้าทาย กล้าได้กล้าเสีย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำหนัง ซึ่งโจทย์ทำหนังตอนนั้นติ๊กอยากได้หนังเรื่องที่มัน Success ในทางของรางวัลให้ทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทย ได้รู้จักคนทำหนังคนใหม่อีกคนหนึ่งที่เข้ามาในตลาด เลยไม่ได้คิดถึงว่าจะต้องเป็นหนังแมส หนังตลาด คิดอย่างเดียวทำยังไงให้มันดู Worldwide มากที่สุด”

ความรู้สึกต่องานภาพยนตร์ของคุณที่ได้รับการยอมรับจากต่างชาติและได้รางวัลการันตี
“หนังเรื่องตั้งวงเป็นหนังเรื่องแรกที่ทำและได้รับรางวัลต่างๆ มากมายจากทุกเวที ตอนที่ติ๊กทำก็ไม่ได้คิดว่าในตลาดเมืองไทยเขาจะให้ความสนใจกับตั้งวงของเรา แค่คิดว่าหนังของเราได้เข้าประกวดต่างประเทศก็แฮปปี้แล้ว เรารู้สึกว่าตลาดไทยให้ความสำคัญกับเรา มันก็เป็นก้าวแรกที่เรารู้สึกว่าเราดีใจแล้วก็ตื่นเต้นสำหรับรางวัลต่างๆ มากมาย ตอนที่ได้รับรางวัลคือร้องไห้ ณ ตอนนั้น มีหนังดังที่เข้าโรงฉาย เขาได้รางวัลต่างๆ มากมาย ซึ่งคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้แต่ว่าเราก็ให้เกียรติกับงานโดยที่อย่างน้อยมันมีชื่อเข้าชิง แต่ไม่คิดว่ามันจะได้และมันก็ได้จริงๆ รู้สึกดีใจจนน้ำตาแห่งความดีใจออกมาด้วย”

ล่าสุดมีโอกาสนำหนังไทยเรื่อง Take Me Home และ Snap ไปร่วมเทศกาลหนังเมืองคานส์ หนังของคุณได้รับการตอบรับอย่างไรบ้าง
“สำหรับประสบการณ์ที่ไปเราก็ได้รู้ว่าการซื้อขายหนังเขาเป็นยังไง ไปตั้งบูทแล้วเป็นยังไง ไปสกรีนนิ่งหนังหรือว่าการเดินพรมต่างๆ ซึ่งหนังที่จะเข้าไปฉายหรือเขาเลือกไปก็สามารถไปเดินพรมแดงได้ เทศกาลเขาจะไม่เหมือนกับบ้านเราที่บ้านเราก็คือรางวัลหนึ่งจัดขึ้นมาก็ไปเดินพรมแดง มีรางวัลอีกรางวัลหนึ่งขึ้นมาก็เดินพรมแดง แต่ที่นั้นจะเป็นเทศกาลขึ้นมาเทศกาลของเขามี 7 วัน ก็คือในหนึ่งสัปดาห์หนังแต่ละเรื่องสามารถมาลงทะเบียนเดินได้ เพราะเขาให้สิทธิทุกเรื่องเดินได้ทุกเรื่อง เดินได้ทุกวัน เราจะเดินก็ได้ไม่เดินก็ได้หรือบ้างเรื่องเลือกเดินแค่วันเดียว หรือจะเลือกไม่เดินก็ได้ไม่มีปัญหา เขาไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์อะไร สำหรับหนังของติ๊กไปที่คานส์ก็ถือว่าก็ success ในระดับหนึ่งเพราะว่าหนังที่เข้าไปขาย เข้าไปให้คนได้ช้อป เท่าที่เดินดูน่าจะเกือบหมื่นได้ จากทั่วโลก อย่าง Take Me Home ในรอบสกรีนนิ่งที่เขาเข้าไปชมกันเขาก็ชอบและก็มีคนเข้าชมเยอะด้วย ตอนนี้ก็มีติดต่อมาแล้วหลายประเทศที่ซื้อค่ะ”

ในฐานะคนทำหนังสู่ตลาดสากลคุณคิดว่าการดูหนังของคนต่างชาติแตกต่างจากเราอย่างไร
“ติ๊กว่าคนต่างชาติที่เขาดูหนัง เขาอาจจะถนัดการดูหนังแบบไม่ต้องเล่าเรื่องเป็นโมโนโทนค่อยๆ เป็นสเต็ปขึ้นไปแล้วก็พีค สามารถเล่ากระโดดแล้วเขาสามารถจับใจความของเขาได้ว่ามันคืออะไร ไม่ต้องมาตีโจทย์ให้ว่ามันต้องมีไคลแม็กซ์ มันไม่ต้องมีดำเนินเรื่องให้ค่อยๆ ขึ้นไป มันสามารถเล่าฉันจะขึ้น ฉันจะลงแล้วเขาก็สามารถตามเราได้ เพราะว่าเขาเสพหนังกันแบบนี้ แบบที่เราดูหนังฝรั่ง เรามีความรู้สึกว่ามันโดดไปมันโดดมา แต่ว่าเราก็ดูกันจนรู้เรื่องแบบนี้ค่ะ แต่ว่าบางทีด้วยความที่เป็นหนังไทยก็จะต้องคิดแล้วว่าต้องเล่าเรื่องให้ฉันดูแล้วต้องรู้เรื่องตาม”

จากประสบการณ์ทำหนัง คุณคิดว่าหนังแบบไหนทำแล้วจะก้าวไปตลาดสากลได้
“สำหรับหนังของติ๊กก็พยายามที่จะผลักดันให้หนังของตัวเองก้าวเข้าสู่ตลาดสากลมากขึ้น เพราะอยากให้คิดว่าทุกก้าวของเราที่ออกไปสู่สายตาทั่วโลก ให้ทั่วโลกได้รู้จักในมุมมองของคนทำหนังในประเทศไทยมากขึ้น แต่จะเป็นหนังแบบไหนที่จะก้าวเข้าตลาดสากลอันนี้มันขึ้นอยู่กับการเลือกของเขาด้วยจริงๆ ค่ะ เพราะมีหนังส่งเข้าประกวดเยอะมากจากทั่วโลกก็เป็นหมื่นเป็นพันเรื่อง เขาก็ต้องไปคัดเลือก แต่หนังของติ๊กหลายๆ คนบอกว่าทำไมหนังของติ๊กบางทีดูยาก แต่จริงๆ แล้ว ความที่เป็นสากลหนังมันต้องดูไปด้วยคิดตามไปด้วย ซึ่งไม่ใช่เหมือนกับเราปูพื้น เหมือนละคร เพื่อให้ดูไปเรื่อยๆ แต่ว่าหนังมันจะดำเนินเรื่องเพียงแค่ 2 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นการเล่าเรื่อง 2 ชั่วโมงที่ให้ความรู้สึกมันจะต้องให้ความรู้สึกที่คิดไปด้วยและสอดคล้องไปด้วย และก็มีหลักความเป็นสากลด้วย มันคือชิ้นงานที่จะต้องทำแบบนั้นค่ะ”

คุณอยากบอกอะไรกับคนไทยที่ยังไม่ค่อยยอมรับหนังไทย
“ประเทศไทยเป็นตลาดที่ดูหนังต้องเป็นแมส ต้องเป็นอะไรที่สัมผัสง่าย และคนในประเทศไทยอาจจะกลัวหนังผีไม่กล้าดูหนังผีไม่กล้าดูหนังหลอน แต่บางทียังไม่รู้เรื่องราวก็ตัดสินใจไปแล้วว่าฉันไม่กล้าดู จึงรู้สึกว่าตลาดประเทศไทยมองหนังแบบหายไปครึ่งหนึ่ง แต่ว่าเราก็ภูมิใจที่มีคนเข้าไปชมเพราะชอบดูหนังแนวนี้และให้การตอบรับที่ดีกลับมา ตรงนี้ก็ต้องได้กำลังใจและแรงผลักดันที่ดีจากทุกคน ตลาดเมืองไทยหรือว่าคนที่เสพหนังก็ดี คนที่ชื่นชอบเราก็ดี ช่วยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ติ๊กอยากบอกว่าเสียงตอบรับจากต่างชาติแค่ชมชั่วคราว แต่ว่าเขาไม่ได้รู้จักพื้นฐานและวัฒนธรรมหรือว่าตัวติ๊กดีเท่ากับคนไทย”

คุณว่างเป้าหมายต่อไปกับการสร้างหนังไปสู่ตลาดสากล
“ติ๊กสนุกกับการทำหนังไปอินเตอร์ อยากเป็นโปรดักชั่นอินเตอร์ เป็นแค่ความคิดนะคะ ยังไม่ได้เริ่ม แค่คิดเฉยๆ เราสนุกกับมัน เราเป็นคนชอบเดินทาง ถ้าเราเอาโปรดักชั่นของเราทำอะไรสู่สากล เหมือนติ๊กทำรายการแล้วญี่ปุ่นยอมรับเปิดประเทศให้ ติ๊กรู้สึกว่าเราได้บุกเบิก อะไรที่มันเป็นอินเตอร์มันคงจะเหมาะกับเรา เราก็นั่งคิดว่าเราควรจะทำอะไร ส่วนหนังที่ตั้งใจพยายามผลักดันไปตลาดสากลที่ทำมาแล้วก็มีเรื่องตั้งวงได้ไปเบอร์ลิน เทศกาลหนังในยุโรปเทศกาลใหญ่ก็จะมีเมืองเบอร์ลิน เวนิช และ เมืองคานส์ ก็ได้ไปที่ฮ่องกง อย่างเรื่อง Snap ก็ไปที่ญี่ปุ่น Take Me Home ตอนนี้ก็น่าจะมี Tokyo Film Festival เร็วๆ นี้ ก็ต้องรอดูว่าจะมีเทศกาลอะไรอีกค่ะ”

ผู้หญิงเก่งที่ทำงานเพราะความสนุก และทุกย่างก้าวคือความท้าทาย ทำให้เรามั่นใจว่าเธอจะเป็นคนสร้างหนังที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักฝีมือคนไทยมากขึ้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook