การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างตั้งครรภ์
การเดินทางไปต่างประเทศขณะตั้งครรภ์:
การประกันอุบัติเหตุสำหรับการเดินทาง
ควรตรวจสอบให้แน่ใจก่อนการเดินทาง เช่น ประกันอุบัติเหตุการเดินทางครอบคลุมถึงการตั้งครรภ์และลูกน้อยในครรภ์หรือไม่ สำหรับกรณีที่คลอดบุตรก่อนกำหนด
การเดินทางทางเรือและเครื่องบิน
ควรสอบถามกับสูติแพทย์ของคุณก่อนว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินปลอดภัยสำหรับคุณหรือไม่ หากคุณวางแผนว่าจะเดินทางกลับในช่วงสัปดาห์ที่ 28 ถึง 32 ของการตั้งครรภ์ คุณอาจจะต้องใช้ใบรับรองแพทย์เพื่อรับรองว่าคุณมีสุขภาพแข็งแรงพอสำหรับการเดินทางด้วยเครื่องบิน สายการบินแต่ละแห่งอาจมีกฎระเบียบในการอนุญาตให้หญิงมีครรภ์โดยสารบนเครื่องบินที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น คุณควรตรวจสอบกฎระเบียบล่วงหน้าก่อนจองตั๋วเครื่องบินเสมอ
ขณะที่โดยสารอยู่บนเครื่องบิน
การเดินทางด้วยเครื่องบินขณะตั้งครรภ์อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ( deep vein thrombosis; DVT) บ้างเล็กน้อย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว การเดินทางด้วยรถยนต์ รถประจำทางหรือรถไฟเป็นระยะเวลานานๆ ก็อาจเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะนี้ได้ด้วยเช่นกัน แต่ไม่ต้องตกใจถึงขนาดยกเลิกการเดินทางของคุณ เพราะภาวะนี้มีโอกาสเกิดน้อยมาก เพียงแค่ปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ คุณก็จะเดินทางได้อย่างสบายใจ
- ตรวจสอบดูว่าสายการบินของคุณมีถุงเท้าสำหรับสวมใส่ระหว่างเที่ยวบิน ( flight socks หรือ elastic compression stockings) ไว้ให้บริการหรือไม่ หากไม่มี คุณควรซื้อเตรียมไว้สักคู่หนึ่งเนื่องจาก ถุงเท้าชนิดนี้สามารถช่วยลดโอกาสเกิด DVT ได้ อันที่จริงแล้ว ถุงเท้าชนิดนี้เหมาะสำหรับสวมใส่สำหรับการเดินทางที่ต้องใช้ระยะเวลานาน
- หลีกเลี่ยงการดื่มชากาแฟ และดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ
- พยายามเดินยืดเส้นยืดสายโดยเดินไปมาตามทางเดินทุกๆ ชั่วโมงเพื่อให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น แต่ควรหาที่จับเพื่อช่วยในการทรงตัวและป้องกันการสะดุดล้ม
- พยายามเหยียดส้นเท้าและปลายเท้าสลับกันเป็นพักๆ ตลอดการเดินทาง
คุณอาจจะรู้สึกเมารถระหว่างเดินทางได้ ดังนั้นลองรับประทานขิงแช่อิ่มอบแห้ง ระหว่างเดินทางก็อาจช่วยได้ และสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งคือต้องพักผ่อนให้มากๆ
ขณะที่คุณพักผ่อนในวันหยุด
เมื่อคุณเดินทางถึงที่หมายปลายทางและเอาสัมภาระออกจากกระเป๋าเดินทางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะผลุนผลันออกไปเที่ยว ขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเราก่อนสักนิด แล้วคุณจะได้พักผ่อนอย่างไร้กังวล
- พกสมุดบันทึกอาการและบัตรประกันอุบัติเหตุ
- พกสมุดบันทึกชื่อและหมายเลขโทรศัพท์ของบุคคลที่สามารถติดต่อได้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินไว้กับตัวเสมอ เช่น สูติแพทย์ของคุณ เป็นต้น
- พยายามเก็บข้อมูลสถานที่ตั้งของโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงไว้กับตัว ซึ่งคุณแม่สามารถขอรับข้อมูลดังกล่าวได้จากสถานทูตของประเทศนั้นๆ ศูนย์ข้อมูลสำหรับนักท่องเที่ยว หรือโรงแรมและที่พักของคุณ
- ทาครีมป้องกันแสงแดดที่มีค่า SPF สูงกว่าปกติ และหลีกเลี่ยงการตากแดดเป็นเวลานานเกินไป เนื่องจากผิวหนังในระหว่างตั้งครรภ์จะมีความไวต่อแสงแดดมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาทากันยุงที่มีส่วนผสมของสารเคมีจำพวก DEET (สารเคมีที่ใช้แพร่หลายในผลิตภัณฑ์กันยุง ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ของกองควบคุมวัตถุมีพิษ กระทรวงสาธารณสุข) ลองเปลี่ยนมาใช้ยาทากันยุงจากธรรมชาติ เช่น น้ำมันตะไคร้หอม หรือใช้มุ้งแทน
- หลีกเลี่ยงการดำน้ำและกีฬาทางน้ำทุกประเภท
ควรรัดเข็มขัดนิรภัยในขณะตั้งครรภ์หรือไม่
จากการศึกษาวิจัยพบว่าคุณแม่และลูกน้อยจะมีความปลอดภัยมากขึ้นหากรัดเข็มขัดนิรภัย แต่ทั้งนี้ ควรตรวจดูให้แน่ใจว่าเข็มขัดที่รัดบริเวณโคนขารอบสะโพก ไม่รัดใต้ท้องจนแน่นจนเกินไป และควรรัดเข็มขัดพาดผ่านสะโพกและไหล่ในตำแหน่งที่อยู่ระหว่างหน้าอกและท้องของคุณ คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจกันผิดๆ ว่ากฎหมายอนุญาตให้หญิงมีครรภ์เลือกจะรัดเข็มขัดนิรภัยหรือไม่ก็ได้ แต่คุณแม่ควรรัดเข็มขัดเพื่อความปลอดภัย
ถุงลมนิรภัยในรถยนต์ปลอดภัยสำหรับคุณหรือไม่
ตอบได้ทันทีเลยว่าปลอดภัย อย่างไรก็ตาม คุณอาจต้องเลื่อนเบาะให้ถอยห่างจากแผงหน้าปัดรถยนต์หรือพวงมาลัย (หรือปรับพวงมาลัยลดลงต่ำ) เพื่อให้แผงหน้าปัดและพวงมาลัยอยู่ห่างจากท้องของคุณ