อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูก

อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูก

อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เรื่อง - วรธาร ทัดแก้ว ความเครียดเกิดขึ้นได้กับทุกคนไม่เฉพาะผู้ใหญ่ เด็กน้อยวัยน่ารักไร้เดียงสาไปจนถึงวัยรุ่นก็เครียดได้ตามความหนักเบาของเหตุปัจจัยและอารมณ์ที่มากระทบ ผู้ที่เป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองควรจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด หมั่นสังเกตอาการของลูกว่ามีความไม่ปกติอะไรเกิดขึ้นกับเขาบ้าง ไม่ว่าเรื่องความคิด พฤติกรรม และอารมณ์ เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดผลเสียแก่ลูกในภายหลัง เครียด, ลูกเครียดวิธีสังเกตอาการเมื่อลูกเครียด วันนี้ลองไปปรึกษาจิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็กและวัยรุ่นเพื่อจะได้รู้ว่าเวลาที่เด็กเครียดเขาจะมีอาการอย่างไรบ้าง เกิดจากสาเหตุอะไร และจิตแพทย์เองจะมีคำแนะนำ และมีกระบวนการในการรักษาอย่างไร พญ.เพียงทิพย์ พรหมพันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลมนารมย์ เปิดเผยว่า เด็กทุกคนเกิดความเครียดได้มาจากสาเหตุแตกต่างกันไป พ่อแม่สามารถสังเกตอาการที่แสดงออกมาตามวัยได้ โดยเด็กก่อนวัยเรียนจะเกิดความเครียดในเรื่องปากท้อง ความหิว อาจรับประทานอาหารไม่ได้ นอนไม่ค่อยหลับ ร้องไห้งอแงบ่อย หรือมีอาการปวดทางร่างกาย ปวดหัว ปวดท้อง ปวดฟัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเด็กว่ามีความต้องการแล้วได้รับการตอบสนองจากพ่อแม่หรือไม่เท่านั้น เด็กในวัยเรียนสังเกตได้จากอาการ เช่น เดิมเป็นคนพูดเก่งก็เป็นคนพูดน้อยลง เงียบขรึมผิดปกติ หรือเป็นคนเรียบร้อยก็กลายเป็นคนก้าวร้าว หรือไม่ก็พูดในด้านลบของตน พูดอะไรที่ทำให้รู้สึกว่าพ่อแม่หรือเพื่อนๆ ไม่รัก ซึ่งทำให้อาจตีความออกมาในลักษณะว่าเด็กรู้สึกผิดทั้งที่จริงแล้วไม่ได้ผิดอะไร คิดว่าพ่อแม่จะไม่ให้อภัย ส่วนเด็กวัยรุ่นจะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น แต่ก็สังเกตได้จากอาการเหล่านี้ เช่น เดิมตั้งใจเรียนอยู่บ้านอ่านหนังสือ กลางคืนไม่เคยออกไปเที่ยว ไม่ใช้เงินเปลือง แต่จู่ๆ ก็เปลี่ยนไปออกไปนอกบ้านบ่อย หงุดหงิดง่ายเวลาที่พ่อแม่เตือน ชอบคุยโทรศัพท์มากๆ หรือมักไปเที่ยวสนุกกับเพื่อนๆ หลายวันติดต่อกัน หรือทำกิจกรรมที่ให้ความบันเทิงมากขึ้น เช่น เล่นเกมคอมพิวเตอร์ เป็นต้น มีผู้ปกครองคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าแต่ก่อนลูกมองโลกในแง่ดีมาก ไปไหนไปได้ เข้าไหนเข้าได้ เข้าผู้ใหญ่ได้ดี ใครๆ ก็ชื่นชม แต่ตอนหลังพาไปไหนไม่ค่อยคุยกับใคร ใครเข้ามาหาก็ลังเลที่จะพูดด้วย กลับมาบ้านจะบอกว่าเพื่อนไม่ชอบ มาแอบร้องไห้ เก็บตัวเงียบอยู่ในห้อง ไม่ดูทีวี ไม่อ่านการ์ตูนที่เคยชอบ จากที่เป็นเด็กไม่ชอบเก็บตัวไม่มองคนในแง่ร้ายแล้วมาทำเช่นนี้ อย่างนี้ก็เป็นอาการของเด็กที่เกิดความเครียด พญ.เพียงทิพย์ เปิดเผย คุณหมอเล่าว่า ลูกบางคนเครียดแต่ไม่ยอมบอก พ่อแม่ต้องคอยสังเกตจากการแสดงออกหลายอย่าง เช่น การร้องไห้ บางคนแอบไปร้องไห้ไม่ยอมบอกอะไร แต่ก็สามารถเห็นได้ทางสีหน้า การเคลื่อนไหวหรือความคิดที่ช้าลง เหม่อลอยมากขึ้น กดดันทำเด็กเครียด...กำลังใจช่วยได้ การกดดันเด็กไม่ใช่สิ่งที่พึงกระทำ เพราะจะเป็นการสร้างความวิตกกังวลและความเครียดให้แก่เด็กมากขึ้น ดีไม่ดีเด็กอาจช็อกได้ ดังนั้นสิ่งที่พ่อแม่ ผู้ใหญ่ ครู สมควรทำก็คือการให้กำลังใจและการพูดถึงสิ่งดีๆ ในตัวเด็กที่เขาเองก็อาจมองไม่เห็น พญ.เพียงทิพย์ เล่าว่า ทุกวันนี้จะเห็นว่ามีเด็กๆ เป็นพิธีกรรายการโทรทัศน์ หรือเข้าประกวดแข่งขันในเวทีต่างๆ มากขึ้น แต่เด็กบางคนเห็นเพื่อนทำอย่างนั้น หากตัวเองต้องทำเช่นนั้นบ้างก็เครียดแล้ว ถ้าพ่อแม่หรือครูดึงดันที่จะจับขวทีย่อมเกิดผลเสียแก่ตัวเด็ก เช่น เด็กจะสรุปเองว่าฉันมันแย่ ฉันไม่ได้เรื่อง ทั้งนี้เพราะความรู้สึกว่าทำไม่ได้มันท่วมท้นฝังใจอยู่ คุณหมอแนะนำว่า ทางที่ดีต้องเตรียมความพร้อมเขาก่อน ถ้าเด็กกล้าที่จะขึ้นเวทีก็ค่อยส่งขึ้นไป แต่ต้องให้ความมั่นใจก่อนว่าเขาทำได้แค่ไหน ควรจะมีความพร้อมหรือมีบทบาทสมมติตรงข้างล่างเวที เพื่อพอขึ้นไปบนเวทีหากต้องการความช่วยเหลือเขาจะส่งสัญญาณอย่างไรให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้บ้าง หรือหากต้องการหยุดแค่นี้เขาจะขอตัวได้อย่างไร เป็นต้น ถ้าเด็กรู้ว่าตัวเองมีทางหนีทีไล่และรู้สึกว่าพ่อแม่หรือครูคอยช่วยเหลือ พอเขาทำเสร็จแม้ทำได้ไม่สมบูรณ์เราก็ไม่ต้องพูดถึงสิ่งนั้นว่าเขาทำได้ไม่ดี เพราะเรารู้อยู่แล้วว่าคนที่ไม่มั่นใจในตัวเองมักจับผิดตัวเองเก่งอยู่แล้วจึงกังวลใจ แต่บางทีผู้ใหญ่ก็ยังเผลอตรงนั้นตรงนี้ยังทำได้ไม่ดีต้องแก้ไข ประเด็นนี้ตอกย้ำเขาซึ่งไม่ควรทำ ควรจับในสิ่งที่เด็กไม่สามารถจะจับได้ เช่น เมื่อกี้ยิ้มสวยนะ ดีมากเลยที่กวาดตาไปรอบห้อง พูดอักขระได้ชัดเจน ควรบอกในสิ่งที่เขาทำได้ดีเพื่อเขาจะทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างน้อยถึงทำไม่ได้สมบูรณ์ก็ต้องชมถึงความพยายามของเขา ให้เขายอมรับตัวเองให้ได้ว่าได้ทำเต็มที่แล้ว ให้พอใจตัวเองที่เป็นอยู่นี้ไม่ว่าจะทำได้หรือไม่ได้ก็ตาม พญ.เพียงทิพย์ กล่าว ฝึกเด็ก...ให้คิดรอบด้าน วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กไม่ถูกความเครียดครอบงำไปตลอดก็คือการฝึกหัดเด็กให้รู้จักการคิดกว้างๆ หรือคิดให้รอบด้าน คิดด้านบวกเป็นด้านลบ คิดด้านลบเป็นด้านบวก ไม่คาดหวังอะไรไปทางเดียว เพราะทำให้ไม่มีความยืดหยุ่นอันไม่เป็นผลดีแก่ตัวเอง ซึ่งต่างจากคนที่มีความยืดหยุ่นที่มีแต่ความสะดวกสบาย ปัญหาจะไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขา เพราะเจอแล้วก็ปรับตัวได้ ถ้าลูกเป็นคนคิดด้านบวก เช่น แม่หนูต้องทำข้อสอบได้หมดเพราะหนูจำหนังสือเล่มนี้ได้หมดแล้ว แม่อาจจะบอกว่าถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็ดีสิ เสริมลูกไปก่อนแล้วก็ค่อยๆ ฝึกให้เขาหัดคิดด้านลบให้ได้ เช่น มันจะเกิดผิดพลาดอะไรไหมลูกถ้าตรวจข้อสอบผิดหรือลูกอาจง่วงนอนหลับทำไม่เสร็จ หรือไปถึงตอนนั้นที่หนูจำได้หมดอาจจะเหลือ 50 เปอร์เซ็นต์ ลูกจะต้องเผื่อใจไว้ด้วย ไม่ใช่ผิดหวังเพราะมองในด้านดีมากเกินไป พญ.เพียงทิพย์ กล่าวว่า ในทางตรงกันข้ามถ้าลูกบอกว่าแม่หนูจำไม่ได้เลย ต้องสอบตกแน่ๆ แม่ก็อาจจะพูดว่าเสียใจด้วยนะเออออเหมือนรับฟังไปก่อน ทีนี้ถ้าจะเปลี่ยนความคิดเขาจะต้องรับฟังความคิดเขาก่อนว่าเขาคิดบวกหรือคิดลบ การพูดทวนสิ่งที่ลูกพูดมาเป็นการทำให้ลูกมีความรู้สึกดี เราอาจจะบอกลูกว่าจริงแล้วมันอาจจะมีอะไรเซอร์ไพรส์ได้ไหม หรือเป็นไปได้ไหมที่หนูจะทำได้ดีกว่าที่หนูคิด เขาจะได้หัดคิดในด้านบวก คิดถึงความเป็นจริงได้มากขึ้น เพราะถ้าคิดแต่ด้านลบมากเกินไปก็ยิ่งกังวลและบั่นทอนความสามารถในการที่จะทำข้อสอบ พูดคุยกับลูกอยู่เสมอ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ลูกไม่เกิดความเครียดได้ง่ายๆ หรือเกิดขึ้นก็สามารถที่จะสลายความเครียดได้โดยเร็วก็คือ พ่อแม่จะต้องมีการพูดคุยกับลูกเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่รอแต่ปัญหาเกิดขึ้นแล้วจึงมาพูดเปิดใจ พ่อแม่ควรมีเวลาสำหรับลูกอยู่เสมอ เผื่อวันไหนลูกมีเรื่องปรึกษาก็จะมาปรึกษาได้โดยไม่เคอะเขินว่าจะเป็นรบกวนพ่อแม่ และเขาจะรู้สึกว่ายังมีพ่อแม่ที่คอยรับฟังปัญหาของเขาอยู่ คุณหมอเพียงทิพย์ เล่าว่า ธรรมดาวัยรุ่นต้องการให้พ่อแม่รับฟังมากกว่า แต่เท่าที่เห็นลูกๆ ไม่ค่อยปรึกษาพ่อแม่ เกือบทั้งหมดบอกว่าพ่อแม่ไม่รับฟัง หรือรับฟังอยู่แต่ไม่รู้จักใช้ภาษากายให้เหมาะสม เช่น อ่านหนังสือพิมพ์ ทำกับข้าว ดูทีวีไปด้วยลูกก็รู้สึกเหมือนว่าพ่อแม่ไม่ให้ความสำคัญจึงไม่อยากคุยด้วย ฉะนั้นพ่อแม่ถ้าจะพูดกับลูกควรพูดในห้องของเขาหรือที่ที่เขาสบายใจ กระบวนการรักษาความเครียด พญ.เพียงทิพย์ กล่าวว่า ปกติความเครียดจะไม่อยู่ต่อเนื่องทุกวัน ถ้าเกิดขึ้นแล้ววันสองวันหรือไม่เกินสัปดาห์ก็หาย เมื่อพูดคุยกันแล้วดีขึ้น ไม่มีพฤติกรรมย่ำแย่หรือทำร้ายตัวเอง ก็ไม่ต้องพาไปหาจิตแพทย์ แต่ถ้าเห็นอาการเปลี่ยนไปต่อเนื่องเจ็บทุกวันปวดทุกวันเกินสัปดาห์ขึ้นไป ก็ควรจะพาไปพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นโรคซึมเศร้าวิตกกังวล หรือเป็นพวกย้ำคิดย้ำทำ ที่ถ้าหากรักษาเร็วก็จะได้ผลดี เกี่ยวกับกระบวนการรักษา คุณหมอด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า ครั้งแรกถ้าเป็นเด็กจะแนะนำผู้ปกครองที่จะพูดคุยไปด้วยกัน เรื่องไหนไม่ควรให้เด็กฟังจะให้นักจิตวิทยาพาเด็กไปเล่นหรือไปวาดรูป ถ้าเป็นวัยรุ่นจะถามวัตถุประสงค์ของการมาพบดูว่าผู้ปกครองได้แจ้งเด็กว่าอย่างไร บางทีอาจยังไม่ได้แจ้งหรือเด็กอาจไม่ร่วมมือ จะได้ทราบ ณ ตรงนั้น เสร็จแล้วก็จะไปคุยกับเด็กวัยรุ่นก่อน เพื่อให้รู้สึกว่าเราไม่ได้รับข้อมูลจากฝ่ายผู้ใหญ่ เพราะบางทีอาจจะมีความขัดแย้งกับผู้ที่พามา อย่างนี้ถึงไม่ได้ข้อมูลครบถ้วนอย่างน้อยก็ได้การพูดคุยกันดีๆ ได้มิตรภาพและความไว้ใจจากเขา ทั้งนี้ เมื่อประเมินสุขภาพจิตใจของเด็กก็สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร รวมถึงการรักษาว่าจะใช้การรักษาแบบจิตบำบัดหรือใช้ยา หรือการรักษาด้วยทางเลือกอื่นๆ เช่น ดนตรีบำบัด ศิลปะบำบัด ก็จะอธิบายให้เขาฟังในภาพรวมเพื่อให้เขามีส่วนร่วมในการเลือกที่จะดูแลตัวเองด้วยวิธีต่างๆ ที่เขาชอบ ป้องกันอย่างไรไม่ให้ลูกเครียด คุณหมอ กล่าวว่า ความเครียดคือการปรับตัวกับปัญหา ถ้าไม่ถูกวิธีเด็กก็จะเกิดความเครียด เพราะฉะนั้นวิธีป้องกันเพื่อจะไม่ให้เด็กและวัยรุ่นเครียดก็คือ 1.พ่อแม่ควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดูให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลูกแต่ละคน เพราะลูกจะมีพัฒนาการ ความสามารถ ระเบียบวินัย นิสัยใจคอ พฤติกรรม ความคิดและอารมณ์ที่แตกต่างกัน 2.การยอมรับตัวเอง ซึ่งต้องเกิดจากการที่ผู้ใหญ่ยอมรับในตัวเด็ก ไม่ว่าเขาจะทำอะไรผิดก็ยังเป็นที่รักและยอมรับ ที่สำคัญพ่อแม่จะต้องปลูกฝังสิ่งที่ดีๆ ให้กับลูก นอกจากนี้ จะต้องให้เขารู้จักการแก้ปัญหาด้วยตนเอง ไม่ใช่เจอความเครียดแล้วหลีกเลี่ยงหมด ถ้าเจอความเครียดที่เหมาะกับวัยให้เขาแก้ปัญหาเอง เขาจะได้รู้สึกว่าตนเองมีความสามารถแก้ปัญหาได้ ก็จะเกิดการยอมรับตัวเองและคนอื่นก็ยอมรับเขา ประการสำคัญ ไม่ควรปกป้องเด็กมากเกินไปเพราะจะทำให้เด็กอ่อนแอ ขอบคุณข้อมูล : โพสต์ทูเดย์

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ

อัลบั้มภาพ 2 ภาพ ของ อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูก

อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูก
อย่าปล่อยให้ความเครียดเล่นงานลูก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook