โกนผมไฟ..ผิดวัน อัปมงคลทั้งเด็กและครอบครัว
ผมไฟ คือผมของเด็กแรกเกิดที่มาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ เหตุที่เรียกว่า ผมไฟ เนื่องจากในสมัยก่อนตามชนบท มีแต่หมอตำแยตามหมู่บ้าน เป็นหมอผู้ทำคลอด เมื่อคลอดออกมา แม่ต้องอยู่บนแคร่ข้างเตาไฟ เรียกว่า อยู่ไฟ อาจอยู่ไฟ 7 วัน หรือ 10 วันบ้าง เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ มีร่างกายสมบูรณ์ สามารถให้นมลูกได้อย่างเพียงพอ จึงออกจากเตาไฟได้ เรียกว่า หย่าไฟ ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกผมของเด็กแรกเกิดว่า ผมไฟ ในการจัดงานโกนผมไฟนั้น ปกติมักนิยมไปหาพระอาจารย์ที่วัด เพื่อหาฤกษ์งามยามดี แต่ที่นิยมทำกัน คือ เดือน 4, 5, 6 และเดือน 12
โดยมีหลักเกณฑ์ในการโกนผมไฟ คือ 1. หากคนในวงศ์ตระกูล บรรพบุรุษเดียวกัน (ผีเดียวกัน) ถึงแก่ความตายในปีนั้น จะทำการโกนผมลูกไม่ได้เด็ดขาด ปีต่อไปค่อยตกลงกันใหม่ 2. ในวงศ์ตระกูลเดียวกัน ถ้าคนหนึ่งคนใด มีลูกชายหรือลูกหญิง ที่ยังไม่ได้โกนผมไฟ เมียเกิดท้องขึ้นอีก จะทำการโกนผมไฟไม่ได้ ต้องคอยจนกว่าจะคลอด และต้องทำพิธีโกนผมไฟลูกทั้งสองคนนั้นพร้อมกัน 3. ถ้าไม่ขัดต่อหลักเกณฑ์ข้อ 1 และข้อ 2 แล้ว จะทำการโกนผมไฟเมื่อใดก็ได้ หรือโกนในวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษก็ได้ ถือว่าดี 4. หากยังไม่สามารถโกนผมไฟลูกได้ ให้พ่อแม่เก็บรักษาผมนั้นไว้ อาจปล่อยยาวทั้งศีรษะหรือไว้ผมเปีย หรือไว้จุกก็ได้ตามใจ แต่ห้ามโกนผมไฟนั้นทิ้งไปเฉยๆ เมื่อยังไม่ถึงเวลา เพราะถือว่าเป็นอัปมงคลแก่เด็กและครอบครัว สิ่งที่สำคัญที่ต้องจัดเตรียมให้พร้อม 1. หาฤกษ์งามยามดี โดยให้พระอาจารย์ท่านคำนวณให้ 2. นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 5 รูป หรือ 8 รูป ตามศรัทธา 3. เชิญญาติมิตรและหมอตำแย (คนที่ทำคลอดเด็ก) 4. จัดหาเครื่องใช้ในพิธีโกนผมไฟ คือ หม้อทะนน 2 ใบ, ขมิ้น, ป่อย, กระแจะ, น้ำอบ, มีดพร้า, ขวานถาก และเสียม ถ้าโกนผมเด็ก 2 คน ต้องเพิ่มตามจำนวน และเตรียมสำหรับแมวอีก 1 ที่ด้วย 5. เครื่องสังเวยสู่ขวัญเด็ก จัดอย่างละ 3 ที่ ถ้าเด็ก 2 คน เพิ่มของขึ้นอีก 1 เท่า มีดังนี้ - กล้วยสุก 3 หวี แบ่งใส่จาน 3 ใบ - มะพร้าวอ่อน 3 ผล แบ่งใส่จาน 3 ใบ - หมากพลู 3 จานๆ ละ 3 ต้นๆ บซ้อนกัน หมากวางตรงกลาง - ขนม ข้าวสุก ข้าวเหนียว 3 จาน วิธีวางใส่จานให้วางข้าวสุกก่อน วางข้าวเหนียวไว้บน ข้าวสุกและวางขนมไว้บนสุด (ขนมนี้เป็นขนมจำพวกขนมรูปกุ้ง ปู ปลา ฯลฯ) และปักเทียนจานละ 1 เล่ม - สำรับกับข้าว 3 สำรับๆ ละ 7 ถ้วย แกงที่จำเป็นต้องมี คือ แกงฟักเขียว แกงฟักทอง แกงขี้เหล็ก แกงลูกชิ้นปลา และแกงอย่างอื่นอีก 3 อย่าง ให้ครบ 7 อย่างเป็นใช้ได้ - น้ำบริสุทธิ์ 1 ขัน - ทำไม้คันเบ็ด ลักษณะคล้ายไม้เรียวปลายผูกเชือก ปลายเชือกผูกแหวนทอง มีหัวพลอยหรือเพชรห้อยไว้ - เครื่องบูชาขวัญ หมอขวัญ (บูชาครู)1 พาน ประกอบด้วย ธูป เทียน ดอกไม้ และเงิน 12 บาท - ปลาย่าง ตัวขนาดพอประมาณ 3 ตัว วางบนจานขนมทั้ง 3 จานๆ ละ 1 ตัว การโกนผมไฟทำได้ 2 แบบ โดยพิจารณาตามฐานะของแต่ละครอบครัว 1. แบบประหยัด เป็นพิธีง่ายๆ ระหว่างเครือญาติใกล้ชิด และหมอตำแย (คนทำคลอด) เมื่อได้ฤกษ์ดีแล้ว จัดหาเสื่อหรือลำแพน ปูที่ลานหน้าบ้าน ตั้งหม้อทะนนใบใหญ่ 2 ใบบนเสื่อ ใบแรกบรรจุน้ำใสบริสุทธิ์ และจัดหามีดพร้า ขวานถาก เสียม วางรวมกันไว้ข้างๆ หม้อน้ำ นอกจากนี้ มีกระบวยตักน้ำ พานที่ตั้งน้ำอบและกระแจะ เมื่อพร้อมแล้ว ลงมือโกนผมไฟเด็ก เมื่อโกนเสร็จแล้ว พ่อแม่ตักน้ำใส่หม้อใบแรก (น้ำผสม ขมิ้น ใบส้มปล่อย และกระแจะ) รดหัวลูกจนทั่วตัว แล้วค่อยตักน้ำบริสุทธิ์ในหม้อใบที่ 2 อาบชำระล้างให้สะอาด แล้วทาตัวเด็กด้วยแป้งกระแจะและน้ำอบ เป็นอันเสร็จพิธี จากนั้นแม่ของเด็กต้องตักน้ำจากหม้อใบแรก และใบที่ 2 รดให้พ่อของเด็ก ที่ฝ่ามือทั้งสอง พร้อมทั้งทาแป้งกระแจะ น้ำอบ ต่อมารดหมอตำแย และญาติผู้ใหญ่ โดยต้องรดให้ราดลงบนกองมีด พร้า ขวานถาก และเสียม ทุกครั้งจนเสร็จพิธี 2. แบบงานใหญ่ เมื่อได้วันฤกษ์ดีแล้ว เชิญญาติมิตรมาร่วมงาน และช่วยกันเตรียมของกินของใช้ ในวันงาน ตั้งแต่วันสุกดิบ (วันสุกดิบ คือ วันก่อนวันพิธีโกนผมไฟ 1 วัน ส่วนวันพิธีโกนผมไฟ เรียกว่า วันงาน) ในวันก่อนที่พระสงฆ์จะมาถึงบ้าน ต้องจัดปูเสื่อ หรือลำแพนที่ลานหน้าบ้าน และเตรียมของใช้ เช่นเดียวกัประหยัดให้พร้อม จากนั้นเริ่มพิธี พ่อแม่เด็กต้องนั่งในพิธี พระภิกษุสงฆ์เจริญพุทธมนต์ ในวงสายสิญจน์จนจบ จากนั้นพ่อแม่นำตัวเด็กเข้าไปให้พระสงฆ์องค์ประธานตัดผม และพระสงฆ์ทั้งหลาย เจริญชยันโตพร้อมกันจนกว่าจะเสร็จพิธี เมื่อเสร็จพิธีแล้ว พ่อแม่และญาติถวายภัตตาหาร แด่พระภิกษุต่อไป ที่สำคัญการโกนผมไฟนี้ ต้องโกนก่อนเวลาเที่ยงวันเสมอ ในระหว่างที่พระภิกษุกำลังฉันภัตตาหารอยู่นั้น หมอขวัญจะเริ่มทำการสู่ขวัญเด็ก ในสถานที่ที่เตรียมไว้ และเครื่องสังเวยสู่ขวัญเด็กที่เตรียมไว้ หมอขวัญเริ่มพิธี โดยให้เด็กถือแหวนที่ผูกเชือกไว้ที่ปลายคันเบ็ด แหวนที่หัวพลอยหรือเพชรนั้นไว้ แล้วสวดเรียกขวัญ พอจบตอนหนึ่ง ก็ทำพิธีตกเบ็ดเครื่องสังเวยนั้นครั้งหนึ่ง จนครบ 7 ครั้ง ในครั้งสุดท้าย หมอขวัญจะร้อง โห่ โฮ ฮิ้ว บรรดาญาติทั้งหลายจะขานรับพร้อมกัน ด้วยคำว่า สาธุ 3 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธีสู่ขวัญเด็ก และบรรดาญาติทั้งหลาย จะมอบสิ่งของหรือเงินทองเครื่องเซ่น ของกินของใช้ต่างๆ แก่เด็ก เป็นการรับขวัญด้วย เมื่อพระภิกษุฉันเสร็จ พ่อแม่และญาติทั้งหลายกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่เด็ก บรรพบุรุษและสัตว์ทั้งหลาย เจ้ากรรม นายเวร เป็นอันเสร็จพิธีโกนผมตามประเพณี หลังจากนั้น เจ้าภาพเลี้ยงอาหารแก่บรรดาญาติ ที่มาร่วมงานแล้วแยกย้ายกลับบ้าน ขอขอบคุณข้อมูลข่าว : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย