เลี้ยงลูกให้อ้วน..ดีจริงหรือ !?!
โดย พญ.นวลผ่อง เหรียญมณี สาเหตุที่ทำให้เกิดความอ้วนในเด็ก 1. เด็กที่เจริญอาหารเป็นพิเศษ เห็นอะไรก็อร่อยไปเสียทุกอย่าง 2. ไม่ได้ออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญอาหาร 3. อ้วนจากความผิดปกติของฮอร์โมน พบน้อยกว่าพวกแรกๆ แต่อาจแก้ไขได้ถ้ารักษาถูกต้อง 4. ความไม่สบายใจ เด็กอ้วนบางคนเวลามีความเครียด จะหาทางระบายโดยการรับประทานมากขึ้น เช่น ขาดเพื่อน วิตกเรื่องการเรียน ภาวะแทรกซ้อนจากความอ้วน 1. ทำให้เกิดโรคเบาหวานได้ง่าย โดยเฉพาะหากมีคนในครอบครัวเป็นเบาหวาน 2. ทำให้มีภาวะไขมันในเลือดสูง , ความดันโลหิตสูง 3. ทำให้เกิดการนอนกรน มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ หยุดหายใจขณะหลับ 4. ทำให้กระดูกและข้อต่อเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควร เนื่องจากต้องรับน้ำหนักมากอยู่นาน 5. ทำให้การพัฒนาอาจจะล่าช้า เช่น หัดนั่ง หัดคลาน หัดเดิน อาจล่าช้ากว่าเด็กปกติ 6. ทำให้เกิดความอาย เพราะบางคนถูกเพื่อนล้อเลียน เก็บตัว เข้ากลุ่มเพื่อนไม่ได้ การเรียนและสมาธิแย่ลง อ้วนแล้วควรทำอย่างไร ในเด็ก จะใช้ตารางการเจริญเติบโตเพื่อบอกว่าลูกอ้วนเกินไปหรือไม่ คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นสังเกตดู ถ้าเริ่ม อ้วนให้ทำดังนี้ 1. การควบคุมอาหาร อาหารเป็นส่วนสำคัญยิ่งที่ทำให้อ้วน จึงควรควบคุมอาหารประเภทแป้ง ได้แก่ ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ของหวาน ของมัน ของทอด ควรเปลี่ยนเป็นอาหารที่ใช้ปิ้ง หรือนึ่ง หรืออบ เพื่อลดแคลอรี่ ไม่ควรดื่มน้ำอัดลม การควบคุมอาหารนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองด้วย 2. เพิ่มการออกกำลังกาย 3. ถ้ายังไม่สำเร็จ ควรจะพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุความอ้วน ภาวะแทรกซ้อนจากความอ้วน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีผู้เป็นเบาหวาน พบว่ามีโอกาสที่เด็กจะเป็นโรคเบาหวานได้มากกว่าเด็กทั่วไป ซึ่งควรทำการตรวจคัดกรองเบาหวานในภาวะเด็กอ้วน และให้คำแนะนำและรักษาภาวะเด็กอ้วนที่ถูกต้อง