ท้องนี้ ต้องจ่ายเท่าไร

ท้องนี้ ต้องจ่ายเท่าไร

ท้องนี้ ต้องจ่ายเท่าไร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีคำกล่าวที่ว่า “มีลูกหนึ่งคน จนไปสิบปี” แม้ว่าการตั้งครรภ์จะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็มีหลายบ้านที่ต้องปวดหัวกับตัวเลขในบัญชีที่ติดลบหรือสถานะการเงินที่ง่อนแง่น เพราะไม่ได้เตรียมเงินส่วนนี้ไว้ล่วงหน้า ดังนั้นเพื่อไม่ให้คำกล่าวข้างต้นเป็นจริง เรามาดูกันดีกว่าว่า ตั้งครรภ์ลูกหนึ่งคนจะต้องออมเงินกันไว้เท่าไร และจะวางแผนแผนการเงินอย่างไรให้สบายกระเป๋ากันค่ะ

ฝากครรภ์
เมื่อคุณเห็นสองขีดขึ้นบนที่ตรวจครรภ์เมื่อไร ก็เตรียมตัวเสียสตางค์ได้เลย เพราะเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ ทุกคนต้องไปหาคุณหมอและฝากครรภ์โดยเร็วที่สุด หากใครวางแผนเก็บเงินเพื่อมีลูกล่วงหน้าก็หายห่วงหน่อย แต่ใครที่ไม่ได้วางแผนไว้เลยอาจจะต้องรีบเก็บเงินกันตัวเป็นเกลียว

สำหรับค่าฝากครรภ์นั้นมีเรตราคาแตกต่างกันไป อย่างที่ทราบกันดีว่าโรงพยาบาลรัฐนั้นถูกกว่า แต่ไม่สะดวกสบายเพราะต้องตื่นแต่เช้าไปรอคิว ส่วนเอกชนนั้นราคาก็สูงขึ้นตามความสะดวกสบายเช่นกัน รวมถึงคลินิคพิเศษด้วย นอกจากนี้บางคนอาจมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่าปกติ เพราะมีปัจจัยเรื่องสุขภาพหรือภาวะแทรกซ้อนที่ต้องได้รับการตรวจมากเป็นพิเศษ

เมื่อคุณแม่ฝากครรภ์ คุณหมอจะนัดตรวจครรภ์โดยเฉลี่ยประมาณ 9-12 ครั้ง (บางคนอาจมากหรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแม่และลูก) ซึ่งแต่ละครั้งมีค่าตรวจของแพทย์ ค่ายาบำรุง ค่าอัลตร้าซาวด์ ค่าวัคซีน ค่าตรวจเลือด เจาะน้ำคร่ำ ตรวจพิเศษอื่นๆ เป็นต้น เพื่อให้เห็นภาพ ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ

โรงพยาบาลรัฐ
ค่าฝากครรภ์ครั้งแรก (รวมค่าตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ค่าแพทย์ ฯลฯ) ประมาณ 1,500 บาท
ค่าตรวจครรภ์ ครั้งละประมาณ 80-300 บาท
ค่ายาตลอดการตั้งครรภ์ ประมาณ 1,000 บาท
ค่าอัลตร้าซาวด์ ครั้งละประมาณ 500 บาท
ค่าวัคซีน ประมาณ 200 บาท
หมายเหตุ ราคาข้างต้นเป็นราคาโดยประมาณเท่านั้น และยังไม่รวมค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ กรณีที่คุณแม่มีภาวะเสี่ยงต่างๆ

โรงพยาบาลเอกชน
ส่วนมากจะเป็นแพ็คเกจเหมาจ่าย โดยครอบคลุมการตรวจทั้งหมด และแบ่งชำระเป็นงวด ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละโรงพยาบาล บางแห่งรวมการฝากครรภ์ไว้กับแพ็คเกจคลอดด้วยก็มี ส่วนค่าใช้จ่ายนั้นเริ่มต้นที่ 10,000-30,000 บาท
หมายเหตุ ราคาข้างต้นเป็นราคาโดยประมาณเท่านั้น และยังไม่รวมค่าใช้จ่ายพิเศษอื่นๆ กรณีที่คุณแม่มีภาวะเสี่ยงต่างๆ

คลอด
สำหรับค่าคลอด ราคาแตกต่างกันไปตามลักษณะโรงพยาบาล ซึ่งแน่นอนว่าโรงพยาบาลรัฐราคาย่อมถูกกว่าเอกชน รวมไปถึงรูปแบบการคลอดด้วย หากคลอดธรรมชาติจะราคาก็จะถูกกว่าการผ่าตัดคลอด เพราะการผ่าคลอดมีขั้นตอนที่ยุ่งยากกว่า อีกทั้งคุณแม่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานกว่า ค่าใช้จ่ายจึงเพิ่มเป็นเงาตามตัว

สำหรับโรงพยาบาลรัฐค่าคลอดประมาณ 5,000-10,000 บาท กรณีคลอดธรรมชาติ หากผ่าคลอดราคาจะอยู่ที่ประมาณ 15,000 -25,000 บาท ราคานี้รวมค่าห้องแล้ว โดยราคาห้องมีตั้งแต่ 500-3,000 บาท สำหรับจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาล หากคลอดธรรมชาติจะนอนโรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน หากผ่าคลอดประมาณ 4-5 วัน

ส่วนโรงพยาบาลเอกชน กรณีคลอดธรรมชาติ ราคาประมาณ 30,000-50,000 บาท กรณีผ่าตัดคลอด ราคาประมาณ 60,000-100,000 บาท (ส่วนมากจะรวมค่าห้องแล้วในแพ็คเกจ) หากคลอดธรรมชาติจะนอนโรงพยาบาลประมาณ 2-3 วัน หากผ่าคลอดประมาณ 4-5 วันเช่นกัน

คลอดฟรี มีไหม
ตอบเลยว่าไม่มี แต่...มีค่าคลอดเบิกจ่ายได้ หากคุณแม่หรือคุณพ่อมีสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิข้าราชการ ประกันสังคม บัตรทอง เป็นต้น

สิทธิประกันสังคม จะได้รับค่าคลอดบุตรแบบเหมาจ่ายครั้งละ 13,000 บาท แต่มีเงื่อนไขว่าต้องสำรองจ่ายไปก่อน แล้วจึงทำเรื่องเบิกทีหลัง ที่สำคัญคือภายใน 15 เดือนก่อนการคลอด คุณแม่ต้องส่งเงินสมทบประกันสังคมมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 เดือน จึงจะได้สิทธิ สิทธิที่กล่าวมานั้น ได้แก่ ค่าคลอดบุตร ค่าชดเชยค่าจ้างจากการหยุดงานในอัตราร้อยละ 50 เป็นเวลา 90 วัน และค่าสงเคราะห์บุตร



Tips
• การเลือกใช้สิทธิเบิกค่าคลอดบุตรต่อครั้ง ให้เลือกใช้สิทธิของคุณแม่หรือของคุณพ่อคนเดียวเท่านั้น จะใช้ซ้ำกันไม่ได้
• สามารถเลือกใช้บริการโรงพยาบาลใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นโรงพยาบาลที่คุณแม่ใช้สิทธิประกันสังคม และสามารถเบิกค่าคลอดได้ไม่จำกัดจำนวนครั้ง
• กรณีที่คุณพ่อหรือคุณแม่ลาออก ยังสามารถใช้สิทธิจากประกันสังคมได้ภายใน 6 เดือน ซึ่งหากคลอดบุตรภายในระยะเวลาดังกล่าว ยังสามารถเบิกค่าคลอด
• สำหรับบุตรคนที่ 3 จะไม่ได้รับสิทธิค่าชดเชยค่าจ้างจากการหยุดงาน
• รายละเอียดเพิ่มเติม สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th หรือสายด่วน 1506

สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง 30 บาท ก็สามารถใช้สิทธิได้ทั้งการฝากครรภ์และคลอดบุตร โดยไม่จำกัดจำนวนครั้ง และหากคุณแม่มีสิทธิบัตรทอง คุณพ่อมีสิทธิประกันสังคม สามารถใช้สิทธิของคุณพ่อเบิกค่าคลอดบุตรได้ ทั้งนี้ บัตรทองจะไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดจากข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ เช่น การอัลตร้าซาวด์ดูเพศบุตร เป็นต้น ที่สำคัญอย่าลืมตรวจสอบสิทธิและรายละเอียดต่างๆ ของโรงพยาบาลที่ไปเข้ารับการรักษาก่อน รายละเอียดเพิ่มเติม สำนักงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า http://www.nhso.go.th หรือสายด่วน 1330

สรุปแล้ว ไม่ว่าใครมีสิทธิอะไรหรือไม่ ก็อย่าลืมตรวจสอบสิทธิของตัวเองก่อนทุกครั้ง เพราะจะช่วยบรรเทาและลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงได้ไม่มากก็น้อย

หลังคลอด
หลังจากคลอดแล้ว ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็ยังนอนรอคุณพ่อคุณแม่อยู่ค่ะ ทั้งค่าเสื้อผ้าลูก รวมถึงค่าข้าวของเครื่องใช้ของเด็กและผู้ใหญ่อีกจุกจิกจิปาถะ ซึ่งหลายคนมักจะลืมเผื่อเงินไว้ ทำให้ช็อตกันได้ง่ายๆ ยิ่งคุณแม่ต้องลาคลอด หยุดงานไป 3 เดือน รายได้ยิ่งหดหายกันไปใหญ่ หรือบางครอบครัว ลูกมีปัญหาสุขภาพ ไม่สามารถกินนมแม่ได้ ต้องใช้นมพิเศษอีก

แต่ถึงแม้รายได้ประจำของคุณแม่จะหายไป แต่คุณแม่ที่เป็นผู้ประกันตนของประกันสังคม จะได้รับค่าชดเชยจากการหยุดงานร้อยละ 50 เป็นเวลา 90 วัน (ฐานเงินเดือนสูงสุดไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท) นอกจากนี้ยังได้ค่าสงเคราะห์บุตรอีกเดือนละ 400 บาทต่อบุตรหนึ่งคน ไปจนลูกอายุ 6 ขวบเลย แต่มีข้อแม้ว่าต้องส่งเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายในระยะเวลา 36 เดือนก่อนบุตรคลอด และใช้สิทธิค่าสงเคราะห์บุตรได้ไม่เกิน 3 คน แต่ใครลืมใช้สิทธิ สำนักประกันสังคมจะโอนงินค่าสงเคราะห์บุตรย้อนหลังให้รวมไม่เกิน 1 ปี

สรุปค่าใช้จ่าย
ใครอ่านมาถึงตรงนี้แล้วก็ยังนึกไม่ออกว่า สรุปแล้วหากจะมีลูกสัก 1 คน ค่าใช้จ่ายตั้งแต่ตั้งครรภ์จนถึงคลอดนั้นต้องมีในบัญชีอย่างน้อยเท่าไร หากคุณพ่อคุณแม่เลือกใช้บริการโรงพยาบาลรัฐ อาจจะต้องเตรียมเงินออมไว้อย่างน้อย 30,000-50,000 บาท หากเลือกโรงพยาบาลเอกชน ประมาณ 80,000-150,000 บาท แต่ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายต่างๆ อาจเพิ่มไปตามปัจจัยอื่นๆ ที่ไม่คาดคิดได้ เช่น ค่ารักษาพยาบาลกรณีป่วยฉุกเฉินหรือมีภาวะแทรกซ้อน เป็นต้น รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงที่เราอาจลืมคิดไป เช่น ค่ารถ ค่าน้ำมันจากบ้านมาโรงพยาบาล ค่าข้าวของเครื่องใช้สำหรับการตั้งครรภ์และหลังคลอด เป็นต้น ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ วางแผนการเงินและลงมือออมเสียตั้งแต่วันแรกที่แต่งงาน เพราะการมีลูกหนึ่งคน นอกจากให้ความรักความอบอุ่นแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องใช้เงินเลี้ยงดูเขาตั้งแต่วันแรกที่อยู่ในท้องไปจนเขาเรียนจบเลยล่ะค่ะ เพื่อไม่ให้ครอบครัวมีปัญหา อย่าลืมวางแผนการเงินกันนะคะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook