การเงินในครอบครัว...เรื่องที่ต้องสอน
Q ช่วงนี้คุณแม่ต้องบริหารจัดการเรื่องการเงินในครอบครัวให้ดี เพราะนอกจากจะมีลูกน้อยที่ต้องเลี้ยง 2 คน แล้วยังมีคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยายอีก จึงอยากให้คุณหมอแนะนำหน่อยค่ะ
คุณแม่น่าจะกำลังถามถึงการปลูกฝังความรู้เรื่องการเงิน หรือ Financial Literacy ในลูก ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นในการใช้ชีวิต แต่ถูกละเลย ไม่มีการสอนหรือฝึกฝนในเด็ก (หรือแม้แต่ในผู้ใหญ่) จนทำให้ผู้ใหญ่หลายคนเป็นหนี้ท่วมหัว ไม่มีเงินออม หารายได้ไม่พอกับรายจ่ายและหนี้สิน เพราะไม่มีความรู้ด้านการเงิน จนส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้เงินที่ไม่เหมาะสม
หมอได้อ่านบทความจากเว็บไซต์ www.investopedia.com/university/teaching-financial-literacy-kids/ เห็นว่าน่าสนใจมาก เขาพูดถึงความรู้เรื่องการเงินว่า คือ ความสามารถในการใช้ความรู้ และมีทักษะบริหารจัดการใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่การทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำวัน ไปจนถึงการออมเงินเพื่อใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุ
คุณพ่อคุณแม่หลายคนไม่ได้พูดกับลูกเกี่ยวกับเรื่องการเงินในครอบครัว เด็กหลายคนที่คุณหมอเคยดูแล ไม่รู้แม้แต่ที่มาของเงิน แถมบ่อยครั้งที่เด็ก ๆ จะได้ยินความเชื่อผิดๆ จากคนอื่นนอกบ้าน เช่น คนรวยคือคนที่โชคดี ถูกหวย ถูกล็อตเตอรี่ แทนที่จะรู้ว่าคนมีเงินใช้ไม่ขาดแคลน คือ คนที่ทำงานหนัก รู้จักเก็บออมและใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ
หากคุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ใหญ่ต้องการสอนเด็กให้มีความรู้เรื่องเงิน ควรสอนเขาให้ครบวงจร ตั้งแต่ “การหาเงิน” “การใช้จ่ายเงิน” และ “การออมเงิน” โดยเริ่มสอนได้ตั้งแต่เขาเริ่มนับเหรียญเป็น หรือรับเงินทอน หมอมีแนวทางการสอนความรู้เรื่องเงิน Financial Literacy มาฝากกันค่ะ
สอนลูกให้รู้จักความหมายของเงิน
เด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไป เริ่มเข้าใจหลักการว่าเงินมีไว้สำหรับแลกเปลี่ยนสิ่งของ เพราะเขาสังเกตเห็นคุณพ่อคุณแม่เปิดกระเป๋าเพื่อหยิบเงิน เวลาซื้อของเล่น อาหาร หรือขนมเป็นต้น แต่เขายังไม่เข้าใจว่าเงินคืออะไร และมาอยู่ในกระเป๋าของคุณพ่อคุณแม่ได้อย่างไร ดังนั้นสำหรับเด็กในวัยนี้ พ่อแม่ควรสอนลูก 3 เรื่องสำคัญดังนี้
1. สอนให้ลูกเข้าใจถึงสาเหตุที่เราใช้เงินในการแลกเปลี่ยนสิ่งของ เพราะ
• เราไม่สามารถนำสิ่งต่างๆ ติดตัวเราไปได้ทุกที่ เราจึงต้องใช้เงินซื้อมา ถามเขาว่าเราสามารถนำอาหารและน้ำดื่มจำนวนมากใส่ไว้ในกระเป๋าเรา เวลาไปไหนมาไหน
• เป็นเรื่องยากที่เราจะเอาสิ่งที่มีไปแลกสิ่งที่เราต้องการ เช่น เราไม่สามารถเอาเสื้อผ้าที่ไม่ใส่แล้ว ไปแลกกับข้าวสาร 1 กิโลกรัม
• สิ่งของบางอย่างก็มีอายุจำกัด เช่น ผลไม้ที่เน่าเสีย หรือ อาหารที่บูด
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้มนุษย์ต้องคิดหาของมีค่าอื่นมาใช้ในการแลกสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ทอง หรือ เงิน
2. สอนให้รู้จักเงิน ทั้งในรูปแบบของเหรียญและธนบัตร
• สอนผ่านรูปทรง (เหรียญเป็นวงกลม ธนบัตรเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า) ขนาด (เล็ก-ใหญ่) และสี (ธนบัตร สีเขียว = 20 บาท สีแดง = 100 บาท เป็นต้น)
• นำเหรียญหลากหลายมูลค่ามาปนกัน แล้วให้ลูกแบ่งเหรียญที่มีลักษณะเหมือนกันให้อยู่ในกองเดียวกัน
• สอนให้รู้ว่าเหรียญแต่ละเหรียญเรียกว่าอะไร เช่น เหรียญ 1 บาท 5 บาท 10 บาท 25 สตางค์ และ 50 สตางค์ รวมถึงการสอนให้เข้าใจธนบัตรต่างๆ
• นำเหรียญ 1 บาท จำนวน 5 เหรียญ มากองรวมกัน เทียบกับเหรียญ 5 บาท (เริ่มสอนได้เมื่อลูกเริ่มเข้าใจจำนวน)
3. สอนให้เข้าใจมูลค่าของสิ่งของและค่าของเงิน
• เอาขนมที่มูลค่าต่างกัน เช่น ชิ้นเล็ก ราคา 5 บาท ชิ้นใหญ่ 10 บาท แล้วฝึกให้ลูกหยิบเงินให้ตรงกับราคา
• เมื่อลูกโตขึ้น อาจฝึกให้เขาหยิบเงินให้แม่ 27 บาท โดยให้เหรียญและธนบัตรแก่เขา
• เมื่อเขาบวกลบเลขได้ ให้เขาหยิบธนบัตร 20 บาท ถามเขาว่าถ้าซื้อของ 15 บาท แม่ค้าต้องทอนกี่บาท หรือถ้าเขามีเงิน 5 บาท แม่ให้เพิ่ม 20 บาท เขาจะมีเงินกี่บาท
เด็กที่เติบใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่มี Financial Literacy ก็เหมือนเด็กที่อ่านออกเขียนได้ เพราะเป็นความรู้และทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตเมื่อเขาเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องรับผิดชอบตนเอง ครอบครัวและสังคม คุณหมอหวังว่าคุณพ่อคุณแม่รุ่นใหม่จะช่วยปลูกฝัง ฝึกฝนทักษะนี้ให้ลูกผ่านประสบการณ์จริงในชีวิตประจำวันค่ะ (รวมถึงอาจฝึกฝนตัวเองไปด้วย)