เรื่องราวน่ารู้กับโรคช็อกโกแลตซีสต์
"ช็อกโกแลตซีสต์" ฟังเพียงชื่อก็ดูไม่ค่อยถ้ากลัวหรือน่าเป็นห่วงแต่อย่างใด แต่ถ้าพูดถึงความน่ากลัวก็ไม่เบาเลยนะโรคนี้ไม่ได้ดูหวานน่ารับประทานอย่างชื่อเลย เพราะจะเป็นขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ไม่มีใครรู้ ใครที่เคยมีญาติพี่น้องหรือคนรู้จักเป็นโรคนี้มาบ้าง คงรู้จักความร้ายกาจของมันเป็นอย่างดี
นี่คือหนึ่งโรคที่สาวๆ มีโอกาสพบเจอได้ มีเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับช็อกโกแลตซีสต์ที่น่ารู้ และผู้ที่กรุณานำเรื่องราวอันเป็นประสบการณ์ส่วนตัวมาถ่ายทอดให้ทุกคนได้เรียนรู้ก็คือ สูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นายแพทย์มฆวัน ธนะนันท์กูลประสบการณ์อันมีคุณค่านี้คุณหมออยากมอบไว้ให้ทุกคนเพื่อเป็นกรณีศึกษา จะได้นำไปปรับใช้เพื่อเฝ้าสังเกตตัวเองจะได้ห่างไกลโรคช็อกโกแลตซีสต์
คุณหมอได้อธิบายให้เราเข้าใจก่อนว่า “ช็อกโกแลตซีสต์ เป็นโรคที่ประหลาดอยู่อย่างหนึ่ง คือ เป็นโรคที่มากับความพร้อม สุภาพสตรีที่มีฐานะดี ความรู้ดี อาชีพการงานดี หน้าตาดี มีความพร้อมในทุกด้านมักจะเป็น แต่กับคุณผู้หญิงที่มีคุณสมบัติตรงกันข้ามคือฐานะไม่ค่อยดี ชีวิตค่อนข้างลำบาก ความรู้ไม่ค่อยมากมักจะไม่เกิดโรคนี้ขึ้น”
เอาแล้ว คุณหมอเปิดประเด็นให้เราใคร่รู้ทันที เราเองก็แปลกใจเหมือนกันว่ามีโรคที่เลือกรักมักที่ชังแบบนี้ด้วยเหรอเราจึงซักคุณหมอต่อไป คุณหมอจึงเฉลยให้เราฟังว่า
“จริงๆ แล้ว โรคไม่ได้เลือกคนที่จะเป็นหรอก แต่องค์ประกอบและปัจจัยต่างๆ ของแต่ละคนนั้นเป็นตัวส่งเสริมและเกื้อหนุนโรคหรือไม่ต่างหาก ง่ายๆ ก็คือ สาวๆ ที่มีความรู้ดี มีฐานะอาชีพการงานมั่นคงดี มักจะแต่งงานและมีลูกช้า ผิดกับคนที่ไม่ค่อยมีความรู้ ฐานะไม่ค่อยดี สาวๆ กลุ่มนี้จะวางแผนชีวิตคนละแบบ คือ จะมีลูกเร็วกว่าสาวๆ กลุ่มแรก ซึ่งการมีลูกเร็วนี่เองที่ทำให้สาวๆ กลุ่มหลังไม่เสี่ยงต่อการเป็นช็อกโกแลตซีสต์”
เมื่อคุณหมอกล่าวมาแบบนี้ทำให้เราเกิดข้อสงสัยขึ้นมาทันทีว่า ความเชื่อที่ว่าคนที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ หากมีลูกแล้ว ช็อกโกแลตซีสต์ก็จะหาย ความเชื่อนี้เป็นจริงหรือไม่ คุณหมอกล่าวว่า
“ไม่หายหรอก เชื่อหมอเถอะ ความจริงแล้ว คนที่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ น่าจะประสบปัญหามีบุตรยากด้วยซ้ำ ดังนั้น เรื่องมีลูกแล้วโรคหายนี่ไม่น่าเกิดขึ้นได้ แต่ที่เกิดความเชื่อนี้ขึ้นมาก็เพราะว่า คนที่ตั้งท้องฮอร์โมนของผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นมากจะกระตุ้นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และเมื่อคลอดบุตรแล้วฮอร์โมนจะลดงทันที มีผลให้เซลล์บุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ฝ่อลงและคุณแม่ที่ให้นมลูก ฮอร์โมนซึ่งกระตุ้นให้สร้างน้ำนมจะมีฤทธิ์ไปกดรังไข่จึงทำให้ฮอร์โมนเพศต่ำมากหรือไม่มี ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหยุดการเจริญเติบโตของโรค
ถุงเลือดจึงไม่โตหรืออาจจะมีขนาดเล็กลง ความเจ็บปวดก็จึงไม่เกิด คนจึงคิดว่าหายจากช็อกโกแลตซีสต์แล้ว จริงๆ ไม่หาย ก็ยังคงเป็นเหมือนเดิม ถ้าคลอดลูกแล้ว ลูกหย่านมแม่ ก็กลับมามีอาการอีกครั้ง จึงเรียกได้ว่า ช็อกโกแลตซีสต์ ไม่มีทางหาย ตรงนี้คือความเป็นจริง แม้คุณจะผ่าตัดรักษาแล้วก็ตามแต่อย่างไรก็มีโอกาสเป็นได้อีก และนี่คือเหตุผลว่าทำไม สาวๆ ที่ความรู้ไม่ค่อยดี ฐานะไม่ค่อยดีจึงไม่ค่อยมีอาการของ ช็อกโกแลตซีสต์ เพราะกลุ่มนี้มีลูกเร็วฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงมากจึงไม่กระตุ้นให้โรคกำเริบครับ”
คุณหมอยังมีประเด็นที่น่าสนใจมานำเสนอเราด้วย โดยคุณหมอได้เล่าประสบการณ์ให้เราฟังว่า
“โดยส่วนตัวแล้วหมอเชื่อว่า ช็อกโกแลตซีสต์ น่าจะมีความเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ด้วย เพราะหมอเคยรักษาคนไข้อยู่คนหนึ่งที่มารักษาด้วยโรคนี้ผ่าคนพี่ไปไม่นาน คนน้องก็ตามมารักษาโดยโรคเดียวกันและอาการเดียวกัน รักษาน้องคนที่สองไป ไม่นานก็มีคนที่สามจากครอบครัวเดียวกันมารักษาด้วยโรคนี้อีก หมอจึงเชื่อว่าโรคนี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม
แต่ที่คุณหมอในต่างประเทศหรือคุณหมอส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ค่อยกล่าวถึงเรื่องเหตุผลทางพันธุกรรมนี้ก็เพราะว่าสภาพสังคมในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป ขนาดครอบครัวในทุกวันนี้เล็กกว่าสมัยก่อนมาก แต่ละครอบครัวมักมีลูกไม่เกิน 2 คน บางครอบครัวมีคนเดียว โอกาสที่หมอจะได้ตรวจรักษาโรคกันทั้งครอบครัวแบบนี้มีจึงมีน้อย เราจึงไม่อาจทราบได้แน่ชัดว่า ช็อกโกแลตซีสต์ มีความเกี่ยวพันกับเรื่องของพันธุกรรมมากน้อยแค่ไหน แต่โดยประสบการณ์ของหมอที่รักษามาคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกัน”
คุณหมอได้เล่าให้เราฟังถึงกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า
“เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือที่เราเรียกว่า ช็อกโกแลตซีสต์ นี้ไม่ใช่ว่าจะเกิดที่รังไข่ได้ที่เดียว สามารถเกิดได้หลายที่ และเกิดได้หมด ที่กระเพาะปัสสาวะ ที่ตับ หมอเคยผ่าตัดกรณีหนึ่งที่แปลกมาก เรียกว่าฉีกตำราไปได้เลย คือ คนไข้มีอาการเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญเติบโตที่ช่องปอด ทำเอาหมอถึงกับงงมากกว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร
ในตอนแรกคนไข้คนนี้ไปรักษาตัวอยู่หลายที่โดยไปหาหมอด้วยอาการไอเป็นเลือด ซึ่งแน่นอนหมอฟังแล้วก็ฟันธงเลยว่าน่าจะเป็นโรคปอดหรือวัณโรค จึงเอกซเรย์ปอดดูก็พบเหมือนมีอะไรอยู่ภายในปอด หมอจึงคิดว่าเป็นเชื้อวัณโรคแน่ ๆ จึงสั่งยาวัณโรคให้คนไข้ไปรับประทาน คนไข้รับประทานยาอยู่หลายเดือน แต่อาการก็ยังคงเหมือนเดิม รักษาจนเกิดความท้อแท้ จนในที่สุดเดินมาพบหมอที่นี่ หมอจึงซักประวัติและเห็นความผิดปกติตรงที่ว่าคนไข้รายนี้จะไอเป็นเลือดทุกครั้งที่มีประจำเดือน ตอนที่ไม่มีประจำเดือนก็จะปกติ แต่มีอาการปวดท้องร่วมด้วยหมอจึงสงสัยเรื่องช็อกโกแลตซีสต์
แต่ก็ต้องการความแน่ใจจึงส่งไปเอกซเรย์ปอดอีกคราวนี้จึงเห็นว่ามีเลือดอยู่ในปอด หมอจึงทำการปรึกษากับหมอเฉพาะทางท่านอื่น ๆ คุณหมอท่านอื่นจึงเห็นว่าควรส่งเข้าตรวจ MRI จึงส่งคนไข้ไปตรวจหมอในทางปอดบอกว่าปอดของคนไข้ไม่ได้มีความผิดปกติแต่ทำไมมีเลือดในปอดได้ ทุกคนก็ประหลาดใจว่าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร
ทีนี้หมอก็ต้องจัดการตรวจภายในช่วงนั้นก็ต้องมีการให้ยาเพื่อกดรังไข่ให้ฝ่อเป็นการลดฮอร์โมนลง ปรากฏว่าเมื่อให้ยาแล้ว เลือดตรงช่องปอดกลับลดลงและคนไข้ก็ไม่มีอาการไอเป็นเลือดอีกเลย ก็ต้องเรียกว่าเป็นกรณีที่แปลกประหลาดและน่าศึกษามาก แต่จากกรณีเหล่านี้ทำให้หมอเข้าใจได้ว่า เยื่อบุโพรงมดลูกสามารถไปเจริญเติบโต ณ จุดไหนก็ได้จึงเป็นอะไรที่อันตรายไม่น้อยเลยทีเดียว”
วันนี้เรียกได้ว่า เราได้จัดเต็มกับความรู้เรื่องช็อกโกแลตซีสต์กันแบบครบถ้วนจริงๆ ต้องขอบขอบพระคุณ คุณหมอมฆวัน ธนะนันท์กูลอีกครั้งที่ได้สละเวลามาถ่ายทอดความรู้ผ่านประสบการณ์การรักษาให้เราได้รับรู้เมื่อคุณรู้ถึงพิษภัยของโรคนี้แล้ว ก็หวังว่าคุณสาวๆ จะหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเอง หากพบความผิดปกติให้รีบไปพบสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจอาการตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนที่โรคจะลุกลามก็น่าจะเป็นการดีที่สุด
ขอบคุณข้อมูล : โรงพยาบาล สมิติเวช
นายแพทย์มฆวัน ธนะนันท์กูล
สูติ – นรีแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดด้วยกล้องลาปาโรสโคปทางนรีเวช และรักษาผู้ป่วยมีบุตรยาก