ปรับพฤติกรรมสุนัข เทคนิคสร้างสุขคนเลี้ยง-น้องหมา ตำรับ ประไพศิริ เชี่ยวสาริกิจ
โดย พนิดา สงวนเสรีวานิช
ข่าวของสุนัขพันธุ์ร็อตไวเลอร์ขย้ำกัดเด็กเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า ทำให้คนจำนวนมากเข็ดขยาดกับสุนัขพันธุ์ดุๆ ทั้งหลาย รวมทั้งเจ้าของสุนัขเองที่สุดก็ถึงกับนำสุนัขนั้นไปปล่อยทิ้ง ในความเป็นจริง สุนัขกัดเด็กแม้ไม่ถึงตายหรือบาดเจ็บสาหัส ถือว่าเจ้าของสุนัขมีความผิดตามกฎหมาย หรือแค่ส่งเสียงเห่ารบกวนเพื่อนบ้าน สามารถเอาผิดเจ้าของสุนัขได้ โทษฐานก่อความไม่สงบปรับ 5,000 บาท ตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 ของข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เพียงแต่ในบ้านเรายังไม่มีการเอาจริงเอาจังที่จะบังคับใช้กฎหมาย ปัญหาสุนัขกัดหรือทำร้ายเด็กจึงยังคงเกิดขึ้นเป็นประจำ แต่...เชื่อมั้ยว่า เราสามารถปรับพฤติกรรมเหล่านั้นได้ ถ้าเราเข้าใจลักษณะนิสัย ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูสุนัขนั้นๆ พรศิริ เชี่ยวสาริกิจ ผู้มีประสบการณ์ในการปรับพฤติกรรมสุนัขในแนวทางของซีซาร์ มิลาน (ซีซาร์ มิลาน-นักปรับพฤติกรรมสุนัข จาก "Dog Whisperer with Cesar Millan" รายการที่ฮิตที่สุดในหมู่คนที่รักสุนัขในประเทศอเมริกา) เล่าให้ฟังว่า ปัญหาสุนัขกัดเด็กนั้นสาเหตุสำคัญเป็นเพราะคนไทยเลี้ยงสุนัขไม่เป็น "การปรับพฤติกรรมคือ การปรับพื้นฐานอารมณ์ของสุนัข จะทำควบคู่กับการปรับพฤติกรรมของเจ้าของ เนื่องจากสุนัขถูกเลี้ยงโดยความเข้าใจผิดของผู้เลี้ยงมานาน เพราะผู้เลี้ยงไม่รู้สึกว่าเขาเลี้ยงผิด" ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้าสุนัขเกิดอาการกลัว โดยมากจะกอดสุนัขเพื่อปลอบ แต่นั่นเป็นวิธีที่ผิด "การกอดหมายถึงการให้รางวัล เป็นการบอกว่าสิ่งนั้นถูกต้องแล้ว" พรศิริย้อนประสบการณ์การเลี้ยงสุนัขของตนก่อนจะได้พบและศึกษาวิธีการปรับพฤติกรรมสุนัขจากหนังสือของ ซีซาร์ มิลาน และนำมาปรับใช้กับ "บ็อบบี้" สุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ อายุ 3 ขวบ ว่า "บ็อบบี้" เป็นสุนัขขี้กลัว กลัวสิ่งที่เคลื่อนไหว กลัวเสียงดังๆ โดยเฉพาะเวลาที่ฝนตก ฟ้าร้อง ซึ่งสุนัขข้างถนนจะไม่กลัวฟ้าร้องฟ้าผ่า แต่บ็อบบี้เป็นเพราะเมื่อก่อนเราเห็นเขากลัว เรากอดเขาและบอกว่าไม่เป็นไรๆ เราทำตั้งแต่เขาอายุ 2 เดือนครึ่ง เขาก็เลยรู้สึกว่าหน้าฝนสิ่งที่ทำให้เขารู้สึกปลอดภัยที่สุด คือการที่เขาเข้าไปอยู่ในกรง หลังจากศึกษาทำความเข้าใจหนังสือของซีซาร์อยู่ปีเศษ พรศิรินำวิธีการเหล่านั้นมาปรับใช้กับ "บ็อบบี้" จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 7-8 เดือน พฤติกรรมเหล่านั้นแม้จะยังไม่หายขาด แต่ดีขึ้นมากเช่น อาการตื่นกลัวเมื่อพาออกนอกบ้าน จากที่เคยหางจุกก้น (หมายถึงกลัวมากๆ) เมื่อพาออกข้างนอกบ่อยๆ ค่อยๆ ดีขึ้น หางส่ายไปส่ายมา นั่นคือ ต้องให้เขาเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ
ส่วนการปรับอาการกลัวฟ้าร้องนั้น พรศิริบอกว่า สิ่งที่ทำได้ง่ายสุดคือ "No Touch, No Talk, No Eye Contact! อย่ามอง อย่าพูด อย่าสัมผัส!" ทั้งนี้ ต้องเข้าใจสัญชาติญาณของสุนัขก่อนว่า สุนัขก็มาจากสัตว์ป่า สัตว์ป่าจะอยู่รวมกันเป็นฝูง มีสังคมของเขา ตัวไหนที่มีพลังมากที่สุดจะเป็นจ่าฝูง เมื่อบ็อบบี้รู้สึกกลัว เราต้องทำเฉยๆ ไม่สนใจ ไม่มอง ไม่ปลอบ ปล่อยให้บ็อบบี้อยู่อย่างนั้น จะสังเกตว่า เขาจะหันมามองเราทันที บ็อบบี้จะรู้สึกว่าขณะที่เขากลัวทำไมเราไม่กลัว เพราะสุนัขมีพฤติกรรมการเลียนแบบ นอกจากนี้ "No Touch, No Talk, No Eye Contact!" ยังใช้ในการลงโทษสุนัขดื้อได้ด้วย พึงจำไว้ว่า "อย่าทำโทษด้วยการตี เพราะสุนัขไม่เข้าใจ" ยังมีวิธีการลงโทษอีกวิธีหนึ่ง ในกรณีที่สุนัขอยู่ในสายจูง จะใช้การกระตุกสายจูง ซึ่งการกระตุกสายจูงจะมี 2 ลักษณะ ถ้ากระตุกไปตามแนวราบทางด้านข้างของสุนัขหมายถึงให้เขาทำตาม แต่ถ้าจะทำโทษให้กระตุกขึ้นด้านบนแรงๆ 1 ที เขาจะหยุดการกระทำนั้นในทันที พรศิริจึงยืนยันว่า เราสามารถปรับพฤติกรรมสุนัขในกรณีที่เราไม่พึงพอใจ "ทุกพฤติกรรม" เช่น สุนัขนิ่งเกินไปก็ปรับให้อเลิร์ตขึ้นมานิดนึงก็ทำได้ เป็นการปรับให้สมดุลกับเจ้าของ กลับมาที่จุดเริ่มต้น...ถ้าเวิร์กกิ้งวูแมนที่พักอาศัยอยู่บนคอนโดฯ แต่อยากเลี้ยงสุนัขล่ะ พรศิริแนะนำว่าให้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เล็ก สุนัขที่มีพลังงานต่ำ เช่น ชิวาวา ปอมเมอเรเนียน ชิสึ หรือพันธุ์กระเป๋า แต่คนพอเลี้ยงสุนัขเล็กมักจะทะนุถนอมเกินไปอุ้มไว้กับอกตลอดเวลา แต่สุนัขเล็กก็คือสุนัข ควรพาเดิน เพียงแต่ระวังคนจะมาเตะเท่านั้นเอง อย่าอุ้ม เพราะถ้าอุ้มเมื่อไหร่ คุณสปอยเขา เขาจะคิดว่าเขาสูงกว่าคนอื่น "กรณีที่สุนัขเล็กกัดเด็กเกิดขึ้นก็เพราะเหตุนี้ อย่างเวลาที่คุณอุ้มสุนัขเล็กแล้วเด็กเดินผ่าน ถ้าคุณรู้สึกว่า ฉันไม่ชอบเด็กคนนี้ สุนัขจะรู้ทันที เขาจะเห่าเด็ก เพราะเข้าใจว่าตัวเองตัวใหญ่กว่ามีอำนาจมากกว่า ฉะนั้นวันใดที่สุนัขอยู่ตัวเดียวแล้วเจอเด็ก ถึงแม้เด็กตัวสูงกว่าก็ไม่สนใจ ฉันเคยอยู่สูงกว่าเธอ ฉันเคยเห่าเธอ วันนี้แม่ไม่อยู่...กัดเลย"
วิธีการเลี้ยงสุนัขที่ถูกต้อง พรศิริบอกว่า มีกฎอยู่ 3 ข้อ คือ ต้องให้ออกกำลังกาย ต้องให้วินัย และต้องให้ความรัก สุนัขบางพันธุ์อย่างโกลเด้นรีทรีฟเวอร์เป็นสุนัขเก็บเป็ดน้ำ จะใช้จมูกดมกลิ่นไปหาของกลับมาให้เรา พอเขามาอยู่ในเมืองไม่มีโอกาสเก็บนก พลังที่เหลือเฟือจะทำอย่างไร ฉะนั้น ต้องให้เขาได้ออกกำลังกาย นั่นเป็นกฎข้อแรกและเป็นกฎข้อที่สำคัญมาก เพราะกรณีของร็อตไวเลอร์ที่เจ้าของจับใส่กรงขัง จะปล่อยออกมาก็ในช่วงกลางคืนเพื่อทำหน้าที่เฝ้าบ้าน วันดีคืนดีสุนัขนั้นก็ขย้ำเด็กน้อย รวมทั้งเจ้าของบ้านที่พยายามจะช่วยลูกของตนนั้น เป็นเพราะสุนัขมีความเครียดสูง วิธีแก้ไขทำได้ง่ายๆ ด้วยการ "พาสุนัขไปออกกำลังกาย" ซึ่งแค่การปล่อยให้สุนัขวิ่งเล่นเองอยู่ในสนามหน้าบ้านเท่านั้นไม่พอ "คุณต้องวิ่งกับเขาตลอดเวลา แค่ในบ้านก็ได้ แต่คุณต้องจูงเขาตลอดเวลา" พรศิริย้ำ "เป็นการบังคับให้เขาปลดปล่อยพลังงาน เพราะถ้าคุณหยุด เขาก็จะหยุด อย่างพิทบูลเทอร์เรียควรออกกำลังกาย 1 ชั่วโมง วันละ 3 ครั้ง โดยที่เราอาจจะหาเป้ถ่วงน้ำหนักให้เขาสะพายบนหลัง จากปกติเขาต้องวิ่ง 10 รอบ ก็เหลือแค่ 5 รอบ คุณจะได้ไม่ต้องเหนื่อยมาก" ข้อที่ 2 ต้องมีระเบียบวินัย โดยเจ้าของเป็นคนกำหนดตามความสะดวกของเจ้าของ อย่างเจ้าของตื่นสาย สุนัขต้องเข้าใจว่าจะได้กินอาหารสาย แต่เมื่อเราตรากฎระเบียบนั้นแล้ว เราต้องทำตามกฎระเบียบนั้นด้วย ไม่อย่างนั้นเขาจะเริ่มลังเลแล้วว่า คนนี้ใช่จ่าฝูงของเขาหรือเปล่า เพราะกฎของธรรมชาติเมื่อวันหนึ่งที่จ่าฝูงหมดพลังก็ต้องลงมาอยู่เป็นลูกฝูง ให้คนที่แข็งแรงกว่ามีพลังกว่าไปอยู่ข้างหน้าเป็นจ่าฝูงแทน และข้อ 3 คุณจะต้อง ให้ความรักให้เป็นและถูกเวลา นั่นหมายถึงการให้รางวัล การลูบไล้สัมผัส การให้ความมั่นใจ การสร้างความภาคภูมิใจ นั่นรวมอยู่ในส่วนที่เรียกว่า "ความรัก" "สุนัขขี้กลัวจะทำให้เขารู้สึกดีขึ้นมาได้อย่างไร ด้วยการให้ความรัก ความภาคภูมิใจกับเขา เมื่อเขาทำอะไรดีก็ชม เขารู้ได้ด้วยน้ำเสียง และให้รางวัลด้วยขนมสักนิด เขาจะรู้โดยที่เราไม่ต้องพูดอะไรมาก" สำหรับปัญหาของสุนัขที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว พรศิริว่าต้องดูที่พฤติกรรมการเลี้ยงสุนัขของเจ้าของและสภาพแวดล้อมที่เลี้ยง "สุนัขที่มีความหวาดระแวงสูง สุนัขที่มีพลังงานสูงอย่างร็อตไวเลอร์ พิตบูล เทอร์เรีย ถ้าเป็นพันธุ์ไทยก็จะเป็นบางแก้ว รวมทั้งเยอรมัน เชพเพิร์ด มาลินัวส์-หวาดระแวงกว่าบางแก้วอีก ดุกว่า กัดไม่ปล่อย สุนัขพันธุ์เหล่านี้ถ้าปรับพฤติกรรมแล้วสามารถเลี้ยงได้ แม้กระทั่งพิตบูล เทอร์เรีย โดยพื้นฐานแล้วเป็นสุนัขที่น่ารักมาก ไม่ใช่สุนัขดุ แต่คนทำให้เขาดุ" พรศิริบอกว่า สุนัขมี 4 ลักษณะ ถ้าเขา ไม่หนี ไม่เลี่ยง เขาก็จะยอม กับสู้ แต่สุนัขจะเลือกสู้ก่อนยอม เพราะฉะนั้นถ้าฉันกัดเธอก่อนได้เปรียบ "เวลาที่สุนัขแยกเขี้ยวใส่ เราจะกลัวแล้วไม่ยุ่ง เขาจะเรียนรู้ว่า อ๋อ ฉันแค่แยกเขี้ยวเธอก็แพ้แล้ว แต่ถ้าแยกเขี้ยวแล้วไม่กลัวยังเดินเข้าหา ลองกัดเธอ 1 ที แต่ถ้ากัดแล้วก็ยังคงไปแหย่มัน เขาก็จะกัดแรงขึ้นๆๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมฝังในพื้นฐานนิสัยว่า ถ้าคนมาทำอย่างนี้อีกฉันจะต้องกัดก่อน หรืออย่างของอยู่ในปากสุนัขคนไปดึงออกมา อาการครั้งแรกของเขาคือ ฉันจะยอมให้เธอแต่แค่ครั้งแรกเท่านั้นนะ ถ้าทำอีกครั้งหนึ่งฉันจะกัดเธอ" สิ่งสำคัญที่คนเลี้ยงสุนัขพึงรู้คือ "สุนัขต้องการการเอาใจใส่มากๆ โดยเฉพาะช่วงอายุ 2 เดือนครึ่ง ถึง 6 เดือน เป็นช่วงที่สุนัขกำลังจำ เป็นช่วงที่เราจะต้องให้ระเบียบวินัย ให้ความรักแก่เขา" สำหรับใครที่ถูกสุนัขที่ตั้งหน้าตั้งตาเห่าใส่ทุกครั้งที่เจอหน้าเช่น บุรุษไปรษณีย์ พรศิริย้ำว่าแก้ได้ไม่ยาก โดยทิ้งความกลัวความหวาดระแวงที่เคยมี อย่าแสดงทีท่ากลัวให้สุนัขเห็น และถ้าทนรำคาญไม่ไหว ให้เดินเข้าไปหา แต่ใช้การเบี่ยงตัวเข้าไป "อย่าเดินตรงเข้าหา" เมื่อเข้าไปใกล้แล้วให้ส่งเสียง "แอ๊ะ" (ดุใส่) เหมือนปรามว่า อย่านะ ฉันไม่กลัวแกนะ นี่เป็นเพียงเทคนิคเล็กๆ ที่ซีซาร์บอก ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่คนไม่เลี้ยงสุนัขควรจะรู้ คนที่เลี้ยงสุนัขยิ่งควรจะรู้ หนังสือของซีซาร์ มิลาน ฉบับภาษาไทยจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟรีดอม 1 ชุด มี 2 เล่ม คือ "ซีซาร์ เวย์" และ "สู่วิถีการเป็นผู้นำสุนัข" ชุดละ 750 บาท มีเพียงแค่ 3,000 ชุดเท่านั้น ไม่วางตามร้านหนังสือ สั่งซื้อได้ที่ โทร.09-8128-8665 หรือที่ www.freedom-books.com รายได้จากการจำหน่ายหนังสือบริจาคให้กับมูลนิธิและกองทุนช่วยสุนัขจรจัดและถูกทำร้าย อาทิ มูลนิธิบ้านสงเคราะห์สัตว์พิการ (หลวงตามหาบัว) มูลนิธิวัดสวนแก้วฯ กลุ่มช่วยเหลือสุนัขจากเว็บไซต์สุนัขต่างๆ เช่น พันทิบฉุกเฉิน บางแก้วเพื่อปุยฟ้า ฯลฯ
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ