เมื่อสัตว์ต้องถูกวางยาสลบ
The Vet is in Story: ผศ.น.สพ.ดร.สุมิตร ดุรงค์พงษ์ธร ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สุนัขอายุมากไม่ควรวางยาสลบเพื่อการขูดหินปูนจริงหรือ ? ท่านเจ้าของสุนัขที่เลี้ยงดูกันมาเป็นเวลานาน เรื่องปัญหาในช่องปากก็ย่อมเกิดขึ้นตามกาลเวลา เช่น มีกลิ่นปาก มีคราบหินปูนเกาะที่ฟัน เป็นต้น ซึ่งเมื่อคิดที่จะทำการรักษา ก็อาจจะส่งผลให้เกิดความกังวลใจ เพราะจะต้องวางยาสลบเพื่อการตรวจช่องปาก ขูดหินปูน หรือแม้กระทั่งอาจจะต้องมีการถอนฟัน ขบวนการดังกล่าวนั้น ทุกท่านย่อมเคยไปพบทันตแพทย์มาบ้างไม่มากก็น้อย ซึ่งจะไม่สามารถนำมาใช้กับสุนัขของท่านได้ เราคงไม่สามารถบอกกล่าวให้สุนัขอ้าปากกว้าง ๆ ให้สัตวแพทย์ตรวจ หรือให้อดทนต่อการตรวจรักษา ดังนั้นบางท่านซึ่งไม่กล้าที่จะให้สุนัขวางยาสลบก็จะใช้วิธีการที่ไม่ค่อยจะเหมาะสมนัก เช่น อาศัยการจับบังคับ แล้วใช้อุปกรณ์ขูดหินปูนเท่าที่จะทำได้
หรือบางครั้งอาจจะใช้ยาสลบประสาทเพื่อช่วยในการควบคุม ซึ่งผลการดูแลช่องปากก็จะไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร อีกทั้งยังเป็นการที่ออกจะรุนแรงกับสุนัขเกินควร ก่อให้เกิดความตื่นเต้นส่งผลไปสู่ความเครียดที่จะเกิดขึ้นกับตัวสัตว์ ซึ่งในบางกรณีสุนัขที่มีอายุมากๆ ย่อมมีความเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆ เช่น การทำงานของหัวใจอาจจะไม่ปกติหรือการทำงานของตับและไตเริ่มเสื่อมถอยเช่นกัน บางครั้งความเครียดดังกล่าวอาจจะส่งผลร้ายถึงชีวิตกับสัตว์เลี้ยงของท่าน
สำหรับการพิจารณาว่าสัตว์เลี้ยงตัวใดแม้ว่าจะมีอายุมากก็ตามสามารถวางยาสลบได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ เราจะต้องพิจารณาเป็นรายตัวไปและต้องอาศัยข้อมูลและผลการตรวจร่างกาย ผลทางห้องปฏิบัติการมาร่วมด้วยเสมอ ถ้าท่านดูแลสุนัขของท่านอย่างดีเอาใจใส่มาตลอดการเลี้ยงดูจะทำให้เรารู้ถึงสภาวะพื้นฐานของสัตว์เลี้ยงนั้นๆ ว่ามีความเจ็บป่วยหรือมีโรคเรื้อรังอะไรหรือไม่ เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคกระดูกและข้อเสื่อม เป็นต้น
เมื่อนำมาประกอบกับการตรวจร่างกายโดยสัตวแพทย์จะช่วยให้เราพิจารณาเลือกการตรวจทาง ห้องปฏิบัติการให้เหมาะสม เช่น บางรายควรจะมีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือดเพื่อดูการทำงานของอวัยวะภายใน ตรวจค่า electrolytes ที่สำคัญหรือตรวจน้ำตาลในเลือด ดังกล่าวข้างต้น จะตรวจมากหรือน้อยขึ้นกับสัตว์แต่ละตัวจะมีความจำเป็นเพียงไร
ควรจะมีจุดมุ่งหมายในการตรวจไม่ใช้การตรวจแบบปูพรม บ่อยครั้งที่พบว่าสุนัขอายุมากมีสุขภาพที่ดีกว่าสุนัขอายุน้อย ๆ ดังนั้นอายุมิใช่ข้อจำกัดเสมอไปหากเจ้าของสัตว์ที่ดูแลเอาใจใส่สุนัขอย่างสม่ำเสมอ ย่อมทำให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพดี สำหรับในช่องปากถ้าสุนัขมีการดูแลอย่างสม่ำเสมอย่อมทำให้ระยะเวลาที่ต้องวางยาสลบสั้นลง ย่อมมีความปลอดภัยมากขึ้น การวางยาสลบในสัตว์ที่มีอายุมาก ควรมีการระมัดระวังเอาใจใส่ต่อสัตว์มากขึ้น เนื่องจากสัตว์อายุมากอาจมีข้อจำกัดมากกว่าสัตว์ที่มีสุขภาพสมบูรณ์และอายุน้อย
การเลือกใช้ยาต่างๆ หรือขนาดของยาจะต้องปรับให้เหมาะสมกับความต้องการของสัตว์แต่ละตัวไป เราจะต้องดูแลสัตว์ตั้งแต่ก่อนการวางยาสลบ จะพบบ่อยว่าสัตว์อายุมากมักมีความผูกพันกับเจ้าของมาก บางตัวไม่เคยอยู่ห่างเจ้าของ การที่ถูกแยกจากเจ้าของเพื่อมารักษาจะก่อให้เกิดความเครียดแก่สัตว์เช่นกัน จึงควรมีแนวทางต่างๆ เพื่อไม่ให้สัตว์ตื่นกลัว เช่น ควรให้อยู่กับเจ้าของหรือคนที่คุ้นเคยจนกว่าจะได้รับยาสงบประสาท เป็นต้น
สัตวแพทย์ควรวางแผนการทำงานให้เหมาะสมกับกิจวัตรของสัตว์เลี้ยงด้วย เช่น ในการวางยาสลบต้องมีการอดน้ำ อดอาหาร ในสุนัขอายุมากๆ หรือสุนัขที่เป็นโรคเบาหวานจะต้องเอาใจใส่มากเป็นพิเศษ เนื่องจากจะมีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือด จึงควรให้สัตว์เลี้ยงได้รับการรักษาเป็นรายแรกๆในตอนเช้าเพื่อที่จะได้อดอาหารเพียงมื้อเดียว และเลือกวิธีการวางยาสลบที่ฟื้นตัวเร็ว เพื่อให้สัตว์เลี้ยงกลับมาเริ่มทานอาหารตามปกติในมื้อเย็น
ทั้งนี้สัตวแพทย์จะต้องพิจารณาการให้สารน้ำแก่สัตว์ตามความเหมาะสม ในขณะวางยาสลบสัตวแพทย์จะดูแลเอาใจใส่ เฝ้าระวังสัญญาณชีพ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือด อัตราการหายใจให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมปลอดภัย และจะต้องรักษาระดับความลึกของการสลบให้สอดคล้องกับสิ่งกระตุ้น คือการผ่าตัด เช่น ในขณะที่ถอนฟัน สิ่งกระตุ้นจะรุนแรงกว่าขณะขูดหินปูน
ดังนั้นวิสัญญีสัตวแพทย์จะทำงานควบคุมอยู่ตลอดระยะเวลา และควรมีการควบคุมอุณหภูมิร่างกายสัตว์อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการวางยาสลบแทบจะทุกครั้งสัตว์เลี้ยงจะเกิดภาวะอุณหภูมิต่ำจากการที่กล้ามเนื้อคลายตัว หลอดเลือดขยายตัว สูญเสียความร้อนตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลในขณะฟื้นมักจะเห็นสัตว์เลี้ยงหนาวสั่นภายหลังฟื้น ก่อให้เกิดความเครียดและการใช้พลังงาน ซึ่งสัตว์ที่มีอายุมากๆ มีความเปราะบางอยู่แล้ว เราอาจจะเจอปัญหาแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัด หรือวางยาสลบได้
เรื่องสำคัญอีกประการคือ การระงับปวด การผ่าตัดไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ย่อมสร้างความเจ็บปวดแก่สัตว์ ซึ่งความปวดมีผลเสียกับร่างกายเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในมนุษย์ การระงับปวดจะต้องวางแผนเลือกใช้ยา ขนาด และวิธีบริหารยาให้เหมาะสมกับความปวด และการผ่าตัด เช่น เลือกใช้ยาระงับปวดก่อนการผ่าตัด ซึ่งตามทฤษฎีแล้วจะให้ผลดีมากกว่าให้ยาภายหลังที่มีความปวดเกิดขึ้น ซึ่งจะช่วยระงับปวดในระหว่างการผ่าตัดได้ด้วย ทำให้ช่วยลดระดับยาสลบที่ต้องใช้ลง ทำให้มีความปลอดภัยจากยาสลบมากขึ้นเนื่องจากใช้ขนาดลดลง และพิจารณาวางแผนการให้ยาระงับปวดภายหลังการผ่าตัด เพื่อควบคุมความปวดของแผลผ่าตัด
อย่างไรก็ตามจะต้องเลือกใช้ยาระงับปวดที่เหมาะสมกับสัตว์แต่ละรายไป และระยะเวลาภายหลังผ่าตัด เป็นต้น เพราะผลข้างเคียงของยาอาจก่อเกิดอันตรายแก่สัตว์ได้เช่นกัน โดยทั่วไปขณะสลบสัตว์จะไม่รับรู้ถึงความเจ็บปวดแต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเจ็บปวด แท้จริงแล้วมีอยู่เพียงแต่ไม่รับรู้เท่านั้น ซึ่งเกิดขึ้นจากฤทธิ์ของยาสลบที่ไปกดการทำงานของสมอง
ดังนั้นเมื่อฟื้นจากยาสลบการรับรู้ก็จะกลับคืนมา ซึ่งการเจ็บปวดภายหลังการผ่าตัดก็จะต้องใช้ยาที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะถ้าไม่สามารถควบคุมความปวดในระยะนี้ได้จะก่อให้เกิดความเจ็บปวดที่รุนแรง และยากที่จะควบคุมจะทำให้สัตว์ฟื้นตัวช้า ไม่มีความอยากอาหาร อาจมีการเสี่ยงต่อพฤติกรรม เช่น เครียด และก้าวร้าวมากขึ้น ดังนั้นเราจึงควรดูแลสัตว์เลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ และไม่ควรปล่อยให้อาการของโรครุนแรงขึ้น เช่น รอให้มีหินปูนมากๆก่อนแล้วค่อยทำการรักษา
ผศ.น.สพ.ดร.สุมิตร ดุรงค์พงษ์ธร ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สัตวแพทยศาสตรบัณฑิต รุ่นที่ 50 Doctor of Veterinary Science (Anesthesiology): Ontario Veterinary College University of Guelph Canada 2004