ช่องปากของสัตว์เลี้ยง

ช่องปากของสัตว์เลี้ยง

ช่องปากของสัตว์เลี้ยง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หน่วยทันตกรรม โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เรื่องของช่องปาก ถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งสำหรับสัตว์เลี้ยง และผู้เป็นเจ้าของควรให้ความสนใจ เพราะอาจส่งผลให้สัตว์เลี้ยงที่แสนรักเกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆตามมา เนื่องจากกินอาหารไม่ได้ หรือเกิดการอักเสบ ส่งผลให้มีการติดเชื้อของระบบในร่างกาย เช่น ทางเดินหายใจ ไต หรือหัวใจ ค่ะ

ได้รับเกียรติจาก อ.สพ.ญ.ภัธศา สงวนเสริมศรี อาจารย์สัตวแพทย์เฉพาะทางด้านทันตกรรม ประจำหน่วยทันตกรรม โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องโรคฟัน และทำความรู้จักกับหน่วยทันตกรรม โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลค่ะ

ทำความรู้จักกับหน่วยทันตกรรม
“การให้บริการทางด้านทันตกรรมของ โรงพยาบาลสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีมาตั้งแต่เริ่มเปิดโรงพยาบาลใหม่ๆ ประมาณ 5 ปีแล้วค่ะ ในช่วงแรกนั้น ด้วยความจำกัดด้านอุปกรณ์ต่างๆ และบุคคลากรจึงมีแต่เพียงเรื่องของการขูดหินปูนเท่านั้น ซึ่ง ณ ปัจจุบันทางโรงพยาบาลได้พัฒนาการให้บริการทางด้านทันตกรรม ได้มีการขยายขอบข่ายของการรักษารวมทั้งอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อให้เป็นประโยชน์แก่สัตว์ โดยการให้บริการจะครอบคลุมทั้งทางด้านการป้องกันและการรักษา ทั้งในเรื่องของการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปาก การขูดหินปูน การขัดฟัน ถอนฟัน อุดฟัน หรือแม้กระทั่งการรักษารากฟัน โดยจะให้บริการในวันอังคารและวันพฤหัสค่ะ”

ลักษณะของโรคฟันที่พบบ่อย
“ความผิดปกติที่หมอพบบ่อยที่สุดในคลินิกสัตว์เลี้ยง คือ เรื่องของกลิ่นปากและเหงือกอักเสบที่เกิดจากหินปูนหรือหินน้ำลาย บางครั้งพบว่าเป็นรุนแรงจนมีเลือดออกบริเวณขอบเหงือกหรือฟันโยกคลอนร่วมด้วย”

สาเหตุเกิดจากอะไร
“ในกรณีเดียวกับคนค่ะ หากไม่ได้แปรงฟันคราบอาหาร น้ำลาย และจุลินทรีย์ก็จะเกาะอยู่ที่ผิวฟัน ทำให้เกิดหินปูนและเหงือกอักเสบตามมาได้” 

พบได้มากในสุนัขสายพันธุ์ใด
“ส่วนมากมักพบปัญหาแบบนี้ในสุนัขพันธุ์เล็ก เช่น พูเดิ้ล ปอมเมอเรเนียน และชิวาว่าค่ะ เนื่องจากอาหารที่สุนัขกินมักเป็นอาหารที่ค่อนข้างนิ่ม หรือบางครั้งสุนัขพันธุ์เล็กเหล่านี้จะมีฟันน้ำนมที่ไม่ยอมหลุดออก แม้จะโตเต็มที่แล้ว ทำให้เศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟัน ไม่สามารถทำความสะอาดได้”

วิธีการรักษา
“การรักษานั้นหากยังไม่รุนแรงสัตวแพทย์ก็จะทำการขูดหินปูนออก แต่หากปล่อยทิ้งไว้อาจจะต้องถึงกับถอนฟันออกค่ะ สิ่งที่น่ากลัวก็คือการติดเชื้อของเหงือกและฟัน อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อของระบบอื่นๆของร่างกายตามมาได้ด้วยค่ะ เช่น ทางเดินหายใจ ไต หรือหัวใจ เป็นต้น”

เคสตัวอย่างที่ได้รับการรักษา
“เมื่อไม่นานมานี้หมอได้พบกับสุนัขพูเดิ้ลตัวหนึ่ง ซึ่งเจ้าของพามาพบหมอด้วยอาการมีน้ำมูกข้นซึ่งเป็นมานานแล้ว เมื่อตรวจร่างกายพบว่าบริเวณร่องเหงือกรอบๆฟันเขี้ยวบนของเขามีหินปูนและเศษอาหารติดอยู่ พอดึงออกก็เห็นโพรงทะลุไปถึงด้านในโพรงจมูก ทำให้เวลาเขากินอาหารเศษอาหารก็พลัดเข้าไปเกิดการติดเชื้อภายในโพรงจมูกตามมา การรักษาสำหรับเขาคือ ต้องถอนฟันเขี้ยวนั้นออกและเย็บปิดช่องรอยต่อนั้น ในกรณีนี้เจ้าของอาจเข้าใจว่าสุนัขเป็นหวัดแต่จริงๆแล้วมีสาเหตุจากโรคของเหงือกและฟันนั่นเอง”

ฝากถึงผู้อ่าน
“ถึงแม้ว่าสัตวแพทย์จะทำการรักษาให้แก่สัตว์เลี้ยงแล้ว เมื่อกลับบ้านเจ้าของก็จำเป็นต้องแปรงฟันให้กับเขาเป็นประจำทุกวันด้วยนะคะ ไม่เช่นนั้น หินปูนก็จะกลับมาสะสมใหม่ได้ภายในเวลาไม่นานเลยค่ะ และควรพาสัตว์เลี้ยงมาตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำทุก 6 เดือนนะคะ” เรื่องปัญหาในช่องปากนั้น หลายคนมองว่าเป็นเรื่องที่เล็กมาก ไม่น่าจะส่งผลร้ายแรงอะไรกับสัตว์เลี้ยงที่คุณรัก แต่จริงๆแล้วถึงมันจะเป็นปัญหาที่เล็กๆ แต่ก็สามารถส่งผลกระทบในหลายๆเรื่องอย่างคาดไม่ถึง ตามที่คุณหมอได้อธิบายไว้ข้างต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรประมาทเลยค่ะ เมื่อได้รับความรู้เรื่องของโรคฟันจากคุณหมอภัธศากันไปแล้วนะคะ เพ็ทแมเนียหวังว่าคุณผู้อ่านจะนำไปปรับใช้กับน้องหมาที่บ้านนะคะ ดูแลและใส่ใจในเรื่องของช่องปากให้กับเขา เพื่อที่เขาจะได้ไม่เกิดโรคภัยไข้เจ็บและอยู่กับเราไปได้นานๆ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ

อัลบั้มภาพ 3 ภาพ ของ ช่องปากของสัตว์เลี้ยง

ช่องปากของสัตว์เลี้ยง
ช่องปากของสัตว์เลี้ยง
ช่องปากของสัตว์เลี้ยง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook