ภัยร้ายใกล้ตัวของเจ้าตูบจอมตะกละ
Story: ผศ.น.สพ.สุวิชา จุฑาเทพ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลายครั้งสิ่งของที่เราวางระเกะระกะในบ้านนั้น พร้อมที่จะเป็นอาวุธร้ายที่จะพรากชีวิตสุนัขไปจากเราได้โดยง่าย โดยเฉพาะสุนัขที่มีนิสัยชอบกินไม่เลือก ไม่ต่างไปจากเด็กเล็กที่ชอบเอาสิ่งโน่นสิ่งนี่มาใส่ปาก จนอาจเผลอกลืนลงไป โดยหารู้ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้น อาจส่งผลร้ายๆตามมาในอนาคตอันใกล้ ฉะนั้นการที่เราเสียเวลาอ่านบทความสั้นๆนี้ อาจจะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยชีวิตสุนัขของเราให้รอดพ้นจากภยันตรายนี้ได้
Q: ของสิ่งใดบ้างที่จะเป็นอันตรายได้เมื่อสุนัขเผลอกลืนลงไป
A: ทุกสิ่งทุกอย่างครับ ที่มีขนาดใหญ่หรือมีคม จากที่เราพบเห็นเสมอๆก็คือ กระดูก ไม่ว่าจะเป็นกระดูกหมูชิ้นใหญ่ๆ หรือชิ้นขนาดพอดีที่จะอุดทางเดินอาหาร (เพราะถ้าใหญ่มากๆคงจะกลืนไม่เข้า คงได้แต่นอนคุมกันท่าไม่ให้สุนัขตัวอื่นมายุ่ง) กระดูกสันหลังหมูที่มีมุม มีแง่งยื่นออกมาจากไขกระดูก หรือกระดูกไก่ที่พอแตกหักแล้วจะแหลมคมมาก ก็พร้อมที่จะอุดหรือทิ่มแทงหลอดอาหารได้อย่างง่ายดาย แม้กระทั่งชิ้นเนื้อที่เราให้กินนั้น ถ้าชิ้นใหญ่มากๆ แล้วมีเพื่อนสุนัขในบ้านหลายตัวที่จะแย่งกันกิน เจ้าตูบจอมงกก็พร้อมที่จะกลืนลงคอได้โดยทันทีทันใด นอกจากนี้แล้ว ยังมีของอีกหลายอย่างที่จะก่อให้เกิดปัญหาได้ เช่น เบ็ดตกปลาที่ถูกกลืนลงไปพร้อมกับปลา หรือเหยื่อที่เจ้าของเกี่ยวไว้ ก้อนหิน เชือกผูกรองเท้า ไหมขัดฟัน หรือเศษผ้า เศษด้าย เศษไหม ซึ่งเป็นของที่มีลักษณะเป็นเส้นยาว ถุงพลาสติกที่ถูกกลืนกินลงไปพร้อมกับอาหารแสนอร่อย นอกจากนั้นในบ้านที่เต็มไปด้วยต้นไม้ เช่น ต้นมะม่วง ควรเตรียมใจพบเจอปัญหานี้ได้เลย เมื่อเข้าฤดูที่มะม่วงสุกและตกลงโคนต้น แล้วถ้าเจ้าตูบของเรารักจะดำเนินชีวิตในลักษณะของชีวจิต แน่นอนว่าเขาพร้อมที่จะกินไปทั้งเมล็ดได้เลยถ้าผลมะม่วงสุกนั้นทั้งหอมทั้งหวาน
Q: แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าสุนัขเราได้กินสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นเข้าไปแล้ว
A: ก่อนอื่นสุนัขที่เราเลี้ยงนั้น เจ้าของคงจะต้องรู้นิสัยดีแล้วว่า เขาซน เขาตะกละ หรือเขาแสดงนิสัยกินไม่เลือกหรือเปล่า ถ้าใช่ก็จะต้องเริ่มระแวดระวังสักหน่อย และเมื่อพบว่ามีของบางอย่างในบ้านได้อันตรธานหายไป โดยยังหาจำเลยไม่ได้ ลองสังเกตอาการเจ้าตูบ ที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยดูว่าสุนัขกินอาหารได้อย่างปกติหรือไม่ เขาพยายามใช้สองขาหน้าตะกุย หรือเขี่ยช่องปาก สำรอก หรือการแสดงอาการอาเจียนให้เห็นหรือเปล่า หรือแม้แต่ของที่เขาชอบมากๆก็ยังคงส่ายหัวปฏิเสธ ถ้าเจ้าของปล่อยทิ้งไว้นานเกินไป (บางท่านรู้เมื่อเวลาผ่านไปเป็นสัปดาห์ก็มี) ปัญหาที่ตามมาอาจรุนแรงมากขึ้นได้ โดยเฉพาะในรายที่สุนัขมีน้ำหนักตัวลดลงมาก หรือแสดงอาการปวดท้องรุนแรง แต่ในรายที่เจ้าของเห็นเหตุการณ์ต่อหน้า เช่น ในรายที่ตับปิ้งหอมๆ ทั้งไม้เสียบ ถูกกลืนลงไปต่อหน้าต่อตา หรือกระโดดกินปลาพร้อมเบ็ดลงไป แล้วยังมีสายเบ็ดคาอยู่ที่มุมปาก ก็หมดข้อกังขาได้เลยว่าเจ้าตูบได้ก่อปัญหาให้กับตัวเองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
Q: ถ้าพบว่าสุนัขเรากินสิ่งแปลกปลอมเข้าไป หรือเพียงแต่สงสัยจะทำอย่างไรดี
A: ในกรณีที่ฉุกเฉิน เช่น สงสัยว่าสิ่งแปลกปลอมอุดตันเข้าไปในส่วนของหลอดลม ก็มีความจำเป็นต้องวิ่งไปโรงพยาบาลสัตว์ที่ใกล้บ้านโดยไว เพราะถ้าทางเดินหายใจถูกปิดกั้น นับว่าเป็นอันตรายรุนแรง ส่วนในกรณีที่เป็นเบ็ดตกปลาที่ยังมีสายเบ็ดยื่นออกมาจากปาก ให้เจ้าของตัดสายเบ็ดให้ยาวออกมาจากปากประมาณ 1 คืบ เพื่อช่วยสัตวแพทย์ให้ทำการเอาออกได้ง่ายขึ้น ส่วนกรณีอื่นๆเจ้าของควรพามาพบสัตวแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะหากทิ้งไว้นานจะนำมาซึ่งผลเสียที่รุนแรงได้ เช่น การเกิดหลอดอาหารโป่งพอง หรือฉีกขาดได้จากการอุดตันนานๆ หรือลำไส้ทะลุได้ หากสิ่งแปลกปลอมมีความคม โดยเฉพาะไม้เสียบลูกชิ้น ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานอาจทะลุผ่านกระเพาะอาหารไปทิ่มและฝังอยู่ในกลีบตับได้ และข้อที่ต้องคำนึงมากที่สุดคือ งดการให้อาหารหลังประสบเหตุทันที เพราะจะช่วยลดโอกาสการรั่วของอาหารหรือน้ำ ผ่านออกมาจากทางเดินอาหารได้ รวมถึงจะช่วยลดความเสี่ยงจากการสำลักจากการวางยาซึม หรือยาสลบได้ ในกรณีที่สัตวแพทย์จำเป็นต้องวางยาเพื่อช่วยเหลือ
Q: แล้วสัตวแพทย์จะชี้ชัดได้อย่างไร ว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในตัวสุนัขเราจริงๆ
A: อันดับแรกคงอยู่ที่การซักถามและสอบประวัติ รวมถึงคำยืนยันของเจ้าของซึ่งเปรียบเหมือนเป็นพยานปากเอกที่สำคัญ จากนั้นเป็นการตรวจร่างกาย โดยการเปิดปากสำรวจในช่องปาก หรือคอส่วนต้น หรือกระทั่งการคลำตรวจในช่องท้องก็สามารถเป็นอีกวิธีในการตรวจหาได้เช่นกัน จากนั้นถ้ามีข้อสงสัยต่อเนื่องก็คงต้องอาศัยวิธีทางรังสีวิทยา หรือทางการใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์ช่วยวินิจฉัยต่อเนื่องได้ โดยหากสิ่งแปลกปลอมเป็นกระดูก ก้อนหิน หรือสิ่งของที่มีส่วนประกอบเป็นโลหะ ก็จะง่ายต่อการมองเห็นจากภาพถ่ายทางรังสีวิทยา แต่ถ้าเป็นเศษพลาสติก เศษผ้า เศษด้าย ไม้ เมล็ดมะม่วง เมล็ดทุเรียน ก็อาจมีความจำเป็นจะต้องนำเทคนิคพิเศษทางรังสีวิทยามาช่วย เช่น การให้สัตว์กลืนสารทึบรังสี หรือที่เราเรียกว่ากลืนแป้งเข้าไป เพื่อช่วยให้แป้งเข้าไปเคลือบสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น ทำให้เรามองเห็นได้ง่ายขึ้นได้จากภาพถ่ายรังสี รวมทั้งถ้ามีการอุดตันก็จะพบได้ว่าแป้งที่กลืนนั้นจะสะสมอยู่บริเวณส่วนหน้าที่มีการอุดตันได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าโชคร้ายในกรณีที่มีการทะลุเข้าช่องท้อง ก็จะพบว่ามีสารทึบรังสีแพร่กระจายออกมาจากทางเดินอาหารได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าในบางโรงพยาบาลสัตว์ที่มีเครื่องอัลตร้าซาวด์ ก็สามารถใช้อุปกรณ์นี้ในการช่วยวินิจฉัยได้ โดยการสแกนดูความผิดปกติภายในบริเวณทางเดินอาหารที่สงสัยว่ามีการอุดตันเกิดขึ้นหลังจากวินิจฉัยจากภาพถ่ายทางรังสีแล้ว
Q: ถ้าพบว่ามีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในทางเดินอาหารสุนัขเราแล้ว จะมีหนทางใดเอาออกได้บ้าง
A: คือต้องพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า อะไรคือสิ่งแปลกปลอม ขนาด และลักษณะเป็นอย่างไร ติดอยู่บริเวณใด ติดมานานแค่ไหน สภาพของสัตว์ป่วยว่าดูปกติอยู่ หรือโทรม อ่อนแรงอย่างหนัก ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยในการพิจารณาหาทางเลือก และทางออกให้กับปัญหานี้ ทั้งนี้ยังไม่รวมไปถึงอุปกรณ์และเครื่องมือที่คลินิก หรือโรงพยาบาลสัตว์นั้นๆ จะพึงมี ถ้าเช่นนั้นขอยกตัวอย่างเป็นกรณีไปละกันนะครับ
- ถ้าเป็นการติดของกระดูกก้างปลา หรือแม้กระทั่งเข็มเย็บผ้า ที่ติดอยู่ในช่องปาก แล้วเป็นสุนัขใจดีไม่ดุ ก็จะง่ายต่อการเปิดปาก แล้วเอาอุปกรณ์คีบเอาออกได้โดยง่าย แต่ทั้งนี้ก่อนจะคีบออก สัตวแพทย์ผู้แก้ไขสามารถจะเลือกใช้ยาลดปวด หรือยาซึมกับสุนัขก่อนจะลงมือ เพื่อช่วยให้สุนัขสงบลง และลดความเจ็บปวดเสียก่อนได้
- ถ้าเป็นการติดของกระดูกสันหลังหมู กระดูกไก่ หรือเบ็ดตกปลา ในหลอดอาหารที่ลึกเข้าไปจากช่องปาก กรณีนี้การตรวจวินิจฉัยอาจจำเป็นต้องรวมไปถึง การตรวจสอบการฉีกขาดของหลอดอาหารเสียก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่ค่อยพบการฉีกขาด เพราะหลอดอาหารค่อนข้างมีความยืดหยุ่นสูง ส่วนของการแก้ไขก็สามารถทำได้โดยการส่องกล้องเข้าไป เเล้วค่อยๆ คีบออกมา ทั้งนี้บริเวณของหลอดอาหารที่มักจะพบว่ามีการอุดตันมักอยู่บริเวณหลอดอาหารส่วนท้ายก่อนที่จะผ่านเข้าไปในกระเพาะ เพราะไม่สามารถผ่านหูรูดก่อนเข้ากระเพาะส่วนต้น ปัญหาใหญ่จะเกิดได้เมื่อไหร่ที่ไม่สามารถคีบออกหรือดันลงไปในกระเพาะได้ หรือมีการฉีกขาดของหลอดอาหาร ทำให้เศษอาหารหลุดเข้าไปในช่องอก สัตวแพทย์ก็มีความจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปิดช่องอก เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวในลำดับถัดไป ทั้งนี้การผ่าตัดช่องอกจำเป็นต้องอาศัยทีมศัลยสัตวแพทย์ และอุปกรณ์เพิ่มเติม การจะลงมือผ่าตัด ดังนั้นสัตวแพทย์ทุกท่านที่จะแก้ไข มักจะทำการเตรียมพร้อมสำหรับแผนสองนี้อยู่แล้ว และการคุยชี้แจงกับเจ้าของล่วงหน้า จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ทราบถึงสถานการณ์เลวร้ายที่สุนัขประสบอยู่
- ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมชิ้นไม่ใหญ่ไม่เล็กและไม่มีขอบคม เช่น ก้อนหิน ลูกแก้ว หรือแม้กระทั่งกระดูกหมูที่ติดอยู่ในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ สัตวแพทย์จะพิจารณาว่าของเหล่านั้นมีแนวโน้มว่าจะก่อให้เกิดปัญหาการอุดตันหรือไม่ จากการตรวจวินิจฉัยทางรังสีวิทยา หรืออัลตร้าซาวนด์ ถ้าไม่มีปัญหาการอุดตัน การรอคอย หรือให้เวลากับสุนัขก็เป็นทางเลือกที่เปิดรออยู่ โดยหลายครั้งก็พบว่าสุนัขสามารถขับถ่ายออกมาได้เองตามปกติ ทั้งนี้สัตวแพทย์บางท่านอาจพิจารณาให้ยาระบายอ่อนๆ มาช่วยให้สุนัขขับถ่ายออกมาได้คล่องขึ้นได้ แต่หากเป็นสิ่งแปลกปลอมที่มีแนวโน้มของการอุดตันที่กระเพาะอาหาร การใช้กล้องส่องตรวจเพื่อคีบออกมา ก็มักจะเป็นทางเลือกแรก แต่หากไม่สำเร็จการเปิดผ่าช่องท้องก็อาจจะเป็นทางเลือกสุดท้ายที่สัตวแพทย์มักจะต้องคุยกับเจ้าของก่อนจะทำการแก้ไข
- ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมจำพวกไม้เสียบลูกชิ้น เข็มเย็บผ้า หรือสิ่งแปลกปลอมที่มีคมแล้วสุนัขสามารถกลืนผ่านเข้าไปในกระเพาะอาหารได้ ทางเลือกในการแก้ไขก็อาจลดน้อยลง เพราะการรอคอยให้สุนัขขับถ่ายออกเองก็เป็นไปได้ยาก (แต่ทั้งนี้ก็เคยมีสุนัขพันธุ์ใหญ่ที่สามารถขับถ่ายไม้เสียบลูกชิ้น ขนาดยาวประมาณ 10 ซม. ออกทางก้นได้เช่นกัน) รวมถึงโอกาสที่จะเกิดการทะลุออกมานอกทางเดินอาหารก็เป็นไปได้สูง โดยการทิ่มทะลุของเศษไม้ หรือเข็มออกมาทิ่มในเนื้อตับ ซึ่งอยู่ชิดกับกระเพาะก็พบได้บ่อยเช่นกัน ดังตัวอย่างในประเทศเมืองหนาวจะพบว่า เมื่อฤดูร้อนเริ่มต้นการออกมาทำบาร์บีคิวเป็นที่นิยม นั่นเองคือจุดเริ่มของงานที่เข้ามาหาสัตวแพทย์ โดยเฉพาะเจ้าของที่มีสุนัขที่ชอบกระชากไม้ปิ้งบาร์บีคิวไปกินทั้งอันหรือเจ้าของที่เผลอให้กินทั้งไม้ ก็มักจะพบว่ามักจะไปจบอยู่ที่โรงพยาบาลสัตว์ โดยหลายครั้งพบว่าไม้เสียบบาร์บีคิว (ถ้าเมืองไทยก็ไม้เสียบลูกชิ้น) จะทิ่มทะลุกระเพาะผ่านผิวหนังออกมา อันนี้เจ้าของสามารถเห็นได้กับตา เเต่หลายครั้งพบว่าเจ้าของเองไม่รู้ถึงปัญหาเลย ตราบจนไม้เสียบบาร์บีคิวทิ่มทะลุกระเพาะแล้วไปคาอยู่ที่ตับกระทั่งสุนัขแสดงอาการเจ็บท้องอย่างรุนแรงเเล้ว โดยบางรายอาจถูกทิ้งไว้จนกระทั่งเกิดสภาวะผนังช่องท้องอักเสบรุนแรงได้
- ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอม จำพวกก้อนหินจัดสวนก้อนใหญ่ เมล็ดทุเรียน (ช่วงเมษายนถึงมิถุนายน) เมล็ดมะม่วง (ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะมะม่วงสามฤดู) อุดตันในลำไส้ โดยมักจะติดคาอยู่ในลำไส้เล็ก ก็อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัดเปิดช่องท้องเพื่อเปิดลำไส้ แล้วเอาสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมา โดยส่วนใหญ่แล้วสุนัขมักจะแสดงอาการปวดท้องรุนแรง และไม่ค่อยกินอาหาร เนื่องจากในกรณีนี้เจ้าของมักจะสังเกตเห็นได้ยาก เพียงแต่สุนัขจะค่อยๆ แสดงอาการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนบางครั้งอาจเข้าใจผิดว่าสุนัขป่วยด้วยโรคอื่นไป
- ถ้าเป็นสิ่งแปลกปลอมจำพวกผ้า หรือพลาสติกที่เป็นเส้นๆเช่น เชือกผูกรองเท้า เชือกด้าย หรือกระทั่งไหมขัดฟัน ซึ่งหลายครั้งพบว่ามีการติดอยู่บริเวณลำไส้เล็ก และสุนัขมักจะแสดงอาการป่วยเมื่อเวลาผ่านไปนานแล้ว โดยการวินิจฉัยมักทำได้ยากเพราะสิ่งของเหล่านี้จะไม่ปรากฎขึ้นบนภาพถ่ายรังสี หากแต่ต้องอาศัยการกลืนแป้งช่วย แต่กระนั้นหลายครั้งการชี้ชัดถึงการอุดตันมักทำได้ไม่ง่ายนัก ในกรณีนี้การแก้ไขจำเป็นต้องทำการผ่าตัดสถานเดียว และโอกาสที่จะพบการเสียหาย หรือการตายของลำไส้มีสูงจึงมักพบได้ว่าสุนัขต้องถูกตัดต่อลำไส้อยู่เป็นประจำ
Q: หลังทำการผ่าตัดแก้ไขแล้ว ควรดูแลสุนัขอย่างไร
A: หลังผ่าตัดสัตวแพทย์มักแนะนำเจ้าของ ให้ฝากสุนัขพักฟื้นในโรงพยาบาลสัตว์ก่อน เนื่องจากในช่วง 2-3 วันแรกนั้น มีความจำเป็นต้องถูกงดอาหารก่อน โดยรอยแผลของทางเดินอาหารจำเป็นต้องใช้เวลาในการหาย แต่สำหรับน้ำนั้นเราสามารถให้กินได้ในปริมาณน้อยมากๆ พอให้ปากสุนัขไม่แห้งจนเกินไป เพราะถ้างดน้ำไปทั้งหมดเลยอาจทำให้สุนัขมีการหลั่งน้ำลายออกมามากกว่าปกติ ก็สามารถทำให้บาดแผลในทางเดินอาหารสัมผัสกับน้ำลายแล้วเกิดการอักเสบเพิ่มมากขึ้นได้
Q: เมื่อการอุดตัน หรือติดค้างของสิ่งแปลกปลอมสามารถสร้างปัญหาได้มากถึงเพียงนี้ เราจะมีวิธีการใด ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เจ้าตูบจอมซนกลับไปกินของเหล่านี้ได้อีก
A: สิ่งสำคัญที่เจ้าของสามารถกระทำได้ คือพยายามเก็บของใช้ในบ้านให้เป็นที่เป็นทาง ไม่เปิดโอกาสให้สุนัขไปแทะ หรือกินสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้นได้ รวมถึงการให้อาหารก็ควรฉีกหรือแกะออกจากภาชนะ หรือไม้เสียบเสียก่อนจะยื่นให้สุนัขได้กิน รวมทั้งอาจต้องมีการฝึกวินัยสุนัขเสียตั้งแต่ตัวยังเล็กๆ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ให้ได้
เมื่อเราได้ทราบถึงความน่ากลัวจากการกินสิ่งแปลกปลอมใกล้ตัวไปแล้วนั้น ผู้เลี้ยงสุนัขควรคำนึงถึงการป้องกันมากกว่าการแก้ไขหลังเกิดปัญหา สุนัขที่เราเลี้ยงจะได้ไม่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดทั้งอันเนื่องมาจากการอุดตัน เเละฉีกขาดของทางเดินอาหาร หรือกระทั่งความเจ็บปวดอันเนื่องมาจากการถูกผ่าตัดแก้ไข ทั้งนี้การมีสุนัขอยู่ในบ้านก็คงไม่ต่างอะไรมากนักกับการมีเด็กอยู่เช่นกัน ฉะนั้นการดูแลเอาใจใส่ สังเกตความผิดปกติของสุนัข ก็นับได้ว่าเป็นความรับผิดชอบที่สำคัญอย่างหนึ่งของเจ้าของทุกท่านนะครับ ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต