โรคไข้หัดแมว ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด
หลังเกิดกรณีแมวจำนวนหลายร้อยตัวได้เสียชีวิตติดต่อกันในพื้นที่ของจังหวัดอ่างทอง ทำให้มีประชาชนนำแมวไปปล่อยตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะวัด เกิดปัญหาสัตว์จรจัดเพิ่มมากขึ้น และหากแมวเหล่านั้นไม่ได้รับการดูแลหรือฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ไว้ก่อน ก็อาจจะเป็นพาหะหรือนำไปสู่การติดต่อของโรค จนถึงขั้นป่วยและเสียชีวิตให้กับแมวในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป
ชมรมนิยมแมวแห่งประเทศไทย จึงขอให้ประชาชนและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ใกล้ชิดกับแมวทั่วไป อย่าได้ตื่นตระหนกตกใจกับข่าวที่เกิดขึ้นจนถึงขั้นรังเกียจแมว แต่ขอให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำและคำชี้แจงจากสัตวแพทย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเข้าใจ เพราะในความเป็นจริงแล้ว โอกาสที่แมวจะเป็นไข้หวัดหรือเป็นไข้หัดนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ หากผู้เลี้ยงแมวไม่ได้นำแมวเหล่านั้นไปฉีดวัคซีนป้องกันไว้ก่อน โอกาสที่แมวจะเกิดโรคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไข้หวัด พยาธิ พิษสุนัขบ้า ภาวะการติดเชื้อจากร่างกายอ่อนแอ โรคระบบทางเดินหายใจ และโรคหัดซึ่งถือเป็นโรคติดต่อง่ายที่สุด เพียงแค่สัมผัสจากลมหายใจ ย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น แต่สามารถป้องกันได้ โดยภายหลังจากการเล่นกับแมวหรือสัตว์เลี้ยงชนิดใดก็ตามให้ทำความสะอาดส่วนที่เราได้สัมผัสกับสัตว์เหล่านั้นทุกครั้ง
สำหรับวิธีการเลี้ยงแมวอย่างถูกต้องเหมาะสมนั้น ผู้ที่เลี้ยงแมวควรพาแมวไปตรวจสุขาพที่โรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกสัตว์ใกล้บ้าน โดยสัตวแพทย์จะแนะนำให้พาแมวไปฉีดวัคซีนตามอายุต่างๆ ได้แก่
แมว อายุ 1 เดือน สามารถให้สัตว์แพทย์ตรวจอุจจาระและถ่ายพยาธิได้แล้ว
แมว อายุ 2 เดือน ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หัดแมว และโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งวัคซีนลิวคีเมียเพื่อป้องกันมะเร็งในเม็ดเลือดขาว
แมว อายุ 3 เดือน ฉีดป้องกันพิษสุนัขบ้าครั้งที่ 1 และ
อายุ 6 เดือน ฉีดป้องกันพิษสุนัขบ้าครั้งที่ 2 หลังจากนั้นปีละครั้ง ต้องฉีดวัคซีนไข้หัดแมว วัคซีนป้องกันโรคระบบทางเดินหายใจต่างๆ วัคซีนลิวคีเมีย และโรคพิษสุนัขบ้า
ทั้งนี้สัตวแพทย์จะนัดหมายหรือวางโปรแกรมให้กับแมว ตามความเหมาะสมของสุขภาพแมวแตละตัวด้วย
นอกจากนี้ ผู้เลี้ยงแมวต้องคำนึงถึงสุขอนามัยของคนกับแมวที่อาศัยอยู่ร่วมกัน เช่น ถ้าเป็นไปได้ก็ควรทำความสะอาดแมวด้วยการอาบน้ำ เช็ดหูแมว และควรมีกะบะใส่ทรายแมวไว้ เพื่อให้แมวขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง จะสะดวกต่อการเก็บ และลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ หากผู้ใดไม่ต้องการเลี้ยงแมวมากก็ควรจะนำไปทำหมัน และดูแลแมวเท่าที่มีอยู่ต่อไปจนกว่าจะหมดอายุขัย ซึ่งเท่าที่ชมรมฯ พบแมวที่มีอายุมากที่สุดในขณะนี้คือประมาณ 21 ปี หากแมวป่วยก็ควรกักพื้นที่ดูอาการ แยกรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไม่ใช่นำแมวไปทิ้งนอกบ้าน กลายเป็นภาระของผู้อื่นและเป็นปัญหาสังคมต่อไป
ถ้ามีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมจากสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กรุณาติดต่อสอบถามได้ที่ ศูนย์บริการเพื่อผู้บริโภค เพอร์เฟค คอมพาเนียน เพ็ท แคร์ 0-2800-9090 หรือชมรมผู้นิยมแมวแห่งประเทศไทย โทร. 0-2811-0211-4