2 เรื่องต้องรู้ เกี่ยวกับ “สารทำแก่”

2 เรื่องต้องรู้ เกี่ยวกับ “สารทำแก่”

2 เรื่องต้องรู้ เกี่ยวกับ “สารทำแก่”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แพทย์หญิงสาริษฐา สมทรัพย์ คุณหมอผิวหนังคนสวยมักให้ข้อมูลที่ดีต่อสุขภาพผิวและความงามเสมอ เช่นเดียวกับวันนี้ ที่คุณหมอนำเรื่องใหม่เกี่ยวกับ “สารทำแก่” มาเล่าค่ะ

ความชราที่แสดงออกทางผิวพรรณหรือความเหี่ยวย่น ริ้วรอย ความหมองคล้ำ จุดด่างดำ และรอยแดงจากเส้นเลือดฝอยแตก เกิดจากปัจจัย 3 ประการ

1.ฟรีเรดิคัลหรือนุมูลอิสระ เกิดจากการสันดาปของออกซิเจน ร่วมกับ การที่ผิวหนังสัมผัสกับแสงแดดที่มีอุลตราไวโอเลตเอ และบี
2.เอนไซม์ทำแก่ ซึ่งได้แก่เอนไซม์คอลลาจีเนส(collagenase)ทำให้เกิดการสลายคอลลาเจนในร่างกาย เมื่ออายุมากขึ้น
3.สารทำแก่ หรือเอจีอี AGE (Advanced Glycation End-Products)

สองประการแรกเป็นเรื่องที่ทราบกันมานาน ประการที่สาม เป็นเรื่องที่ใหม่และน่าสนใจ

สารทำแก่เกิดจากอะไร

สารทำแก่ เกิดจากปฏิกิริยาไกลเคชั่น (Glycation) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดจากน้ำตาลไปเกาะกับโปรตีนไกลเคชั่น ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดริ้วรอย และความชรา แถมยังทำให้โรคที่เกิดจากความชรามีอาการแย่ลง

ร่างกายมนุษย์เฉลี่ยถูกสร้างขึ้นจากน้ำร้อยละ 60 ไขมันร้อยละ 17 โปรตีนร้อยละ 16 และ คาร์โบไฮเดรตร้อยละ 5

โปรตีนเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของร่างกาย โครงสร้างเนื้อเยื่อทั้งหมด มีโปรตีนเป็นส่วนประกอบอยู่ทุกส่วน จึงได้รับผลกระทบโดยตรง

กลไกที่ทำให้เกิดความเสื่อมจากสารทำแก่ คือกระบวนการที่เรียกว่าcross- linked ทำให้เกิดความเสียหายในเซลล์และการตายของเซลล์ จนเกิดความชราในอวัยวะต่างๆ ดังนี้

- ทำให้โครงสร้างอีลาสตินและโครงสร้างคอลลาเจนจะเกิดภาวะแข็งตัว ขาดความยืดหยุ่น เกิดจุดด่างและความหมองคล้ำ

- ทำให้เส้นเลือดเปราะขาดความยืดหยุ่น เกิดรอยเขียว ฟกช้ำง่าย และเกิดภาวะหน้าแดงจาก

- ทำให้โรคเบาหวานแย่ลงและเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เช่น ไขมันในโลหิตสูง เส้นเลือดแดงตีบตัน เส้นเลือดสมองตีบหัวใจขาดเลือด ไตเสื่อม

- ทำให้เกิด ภาวะไวต่อแสง ใน เลนส์สายตา ซึ่งทำให้เกิดต้อกระจกในอนาคต

- ทำให้เสียการหดและคลายตัวของกล้ามเนื้อ ส่งผลให้การทำงานของกล้ามเนื้อมีประสิทธิภาพลดลง เกิด การอ่อนแรง และ ตะคริว

- ทำให้เซลล์สมองในส่วนของความจำตาย ซึ่งเมื่อมีการสะสมมากขึ้นทำให้เป็นโรคความจำเสื่อม

แล้วเราจะควบคุมเจ้า “ไกลเคชั่น” นี่ได้หรือไม่ และทำอย่างไร 

ข่าวร้ายก็คือ ร่างกายของเราไม่มีระบบการป้องกันหรือต่อสู้กับปฏิกิริยาไกลเคชั่นนะคะ แต่เราสามารถควบคุมได้บ้างเป็นบางส่วน โดยวิธีต่างๆ ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงแสงแดดจัด โดยการทาครีมกันแดด
2. งดสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์
3. หลีกเลี่ยงอาหารประเภทปิ้ง ย่างหรืออาหารไหม้เกรียม
4. ลดการบริโภคน้ำตาล อาหารหวานจัด
5. หลีกเลี่ยงจั๊งฟู้ด
6. นอนพักผ่อนให้เพียงพอ
7. ออกกำลังกายพอสมควร ไม่หักโหมเกินไป มิเช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มสารทำแก่

ข้อมูลเรื่อง “สารทำแก่” อัพเดทล่าสุดในวงการแพทย์ จากคอลัมน์ Beauty Remidy นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 419

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook