ข้อเท็จจริง กรณี วู้ดดี้ ให้ กาละแมร์ "อุ้มบุญ" มันทำได้จริงหรือ?
กลายเป็นกระแสถกเถียงสนั่นโซเชียลอีกครั้งเมื่อ "วู้ดดี้ วุฒิธร มิลินทจินดา" ได้ให้สัมภาษณ์พร้อมแฟนหนุ่ม "โอ๊ต อัครพล" ว่าในอนาคตอยากมีลูกและเล็งเพื่อนสนิทอย่าง "กาละแมร์ พัชรศรี" เป็นแม่อุ้มบุญแทนให้
โดยวู้ดดี้หวังจะใช้สเปิร์มของตัวเองและของแฟน แต่จะใช้ไข่ของคนอื่น ไม่ใช่กาละแมร์ในการอุ้มบุญ พร้อมทั้งชมว่าเพื่อนสนิทอย่าง "กาละแมร์" ว่าแข็งแรง ดูแลสุขภาพได้เป๊ะมาก
แม้กาละแมร์จะออกมาเปิดใจไปแล้วว่า "เรื่องท้องของตัวเองนั้นเป็นเรื่องของอนาคตนะ หากจริงจังคงต้องถามสามีในอนาคตของดิฉันก่อนนะคะ ตอนนี้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ไม่มีการเก็บไข่หรืออะไรทั้งสิ้นค่ะ" จากกรณีนี้ทำให้หลายคนสงสัยว่าแท้จริงแล้ว ประเทศไทย "การอุ้มบุญ" นั้นสามารถทำได้จริงหรือ?
วันนี้ Sanook! Women พอไปหาคำตอบกันค่ะ
การอุ้มบุญที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีหลักเกณฑ์อย่างไร? (พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 )
การอุ้มบุญ หรือ การตั้งครรภ์แทนกัน คือ การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีต่างๆ ทางการแพทย์ ในการช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ ด้วยการนำตัวอ่อนที่เกิดจากไข่และอสุจิของคู่สามีภริยาเอง หรือ ตัวอ่อนที่เกิดจากไข่หรืออสุจิของสามีภริยา กับ ไข่หรืออสุจิของคนอื่น (แต่ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน) นำมาเก็บไว้แล้ว นำเข้าไปใส่ในอวัยวะสืบพันธุ์ของหญิงอื่นเพื่อให้ตั้งครรภ์แทน โดยข้อกำหนดผู้ที่จะขอให้มีการอุ้มบุญนั้นมีเงื่อนไขต่างๆ
ใครสามารถขอให้มีการอุ้มบุญได้???
ตามกฎหมายแล้วนั้น : สามีภริยาที่มีสิทธิดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนจะต้องเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ สามีภริยาได้จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายที่เขตหรืออำเภอ และมีความพร้อมทางครอบครัวและปัจจัยในการดำรงชีพต่างๆ ที่ดีมีความเหมาะสม และเลี้ยงดูเด็กที่เกิดจากการอุ้มบุญได้ เป็นบิดามารดาของเด็กนั้นได้โดยไม่เกิดปัญหาในภายหลัง ดังนั้น หญิงโสด ชายโสด ชายหญิงที่อยู่กินฉันสามีภริยา และคู่รักเพศเดียวกัน จึงไม่มีสิทธิที่จะดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนตามกฎหมายได้
ใครสามารถตั้งครรภ์แทนได้ ???
ตามกฎหมายแล้วนั้น : หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนได้ (แม่อุ้มบุญ) จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
1 ต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตในครอบครัวของทางฝ่ายสามีหรือภริยา แต่ต้องไม่ใช่บิดามารดาและลูกสืบสายโลหิต เว้นแต่ในกรณีที่ไม่มีญาติสืบสายโลหิต กฎหมายได้เปิดโอกาสให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนได้
2 ต้องเคยมีบุตรมาก่อนแล้ว ถ้าหญิงนั้นมีสามีอยู่จะต้องได้รับความยินยอมจากสามีด้วยถึงจะตั้งครรภ์แทนได้
3 ต้องไม่ใช่เจ้าของไข่ที่ให้กำเนิดตัวอ่อน เพื่อป้องกันความเชื่อมโยงทางพันธุกรรมและความรู้สึกผูกพันของผู้รับตั้งครรภ์แทนต่อเด็ก
เงื่อนไขข้อตกลงการตั้งครรภ์แทน ที่ควรรู้มีอย่างไรบ้าง??? ตามกฎหมายแล้วนั้น : ก่อนการตั้งครรภ์
1 ต้องมีการตกลงเป็นหนังสือระหว่าง หญิงที่รับตั้งครรภ์แทน กับ สามีภริยาที่ต้องการมีบุตรว่าให้ทารกในครรภ์ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน เป็นบุตรของสามีภริยาที่ขอให้มีการอุ้มบุญ ( มาตรา 3 )
2 กฎหมายยังกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณะสุขโดยคำแนะนำของ คณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยี ช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ มีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับข้อตกลงการตั้งครรภ์แทน ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนในขณะตั้งครรภ์ คลอด และรวมทั้งหลังคลอด ( มาตรา 24 )
การทำข้อตกลงดังกล่าว จะต้องทำให้เกิดความชัดเจนในสิทธิหน้าที่ระหว่างคู่สามีภริยาและแม่อุ้มบุญ เพื่อป้องกันมิให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า ( มาตรา 23 ) หรือเกิดการต่อรองเรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนโดยใช้ทารกในครรภ์เป็นประกัน รวมทั้งเป็นการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของเด็กและแม่อุ้มบุญด้วย ซึ่งสัญญาที่ทำขึ้นโดยขัดหรือแย้งกับหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดจะตกเป็นโมฆะในทันทีบังคับใช้ไม่ได้
บทความโดย คุณชัชวัสส์ เศรษฐลักษมิ์