ดีท็อกซ์ผิว + ลดน้ำตาล ด้วยย่านาง
ย่านาง สมุนไพรไทยใกล้บ้าน ช่วยดูแลสุขภาพได้ในหลายๆ ด้านค่ะ ย่านางเป็นพืชที่ขึ้นง่ายจนคล้ายเป็นวัชพืชในหลายท้องถิ่น แต่มีประโยชน์มากมายกว่าที่คุณคิดนะคะ
คุณหมอดวงรัตน์เคยเป็นคอลัมนิสต์ของนิตยสารชีวจิตนานมาแล้ว สมัยที่เธอเพิ่งบุกเบิกโรงพยาบาลบางกระทุ่ม จังหวัดพิษณุโลกให้ก้าวหน้าและใหญ่โต โดยเฉพาะด้านการรักษาโรคด้วยสมุนไพร ซึ่งแทบจะยังไม่มีคุณหมอท่านไหนในประเทศยอมรับในสมัยนั้น (เกือบยี่สิบปีมาแล้ว) วันนี้เธอกลับมาเขียนในชีวจิตอีกครั้ง พร้อมนำความรู้ด้านสมุนไพรที่เธอเชี่ยวชาญ และอินเทรนด์อยู่ในขณะนี้
ดีท็อกซ์ผิว + ลดน้ำตาลด้วยย่านาง
ฉบับนี้คุณหมอดวงรัตน์ คอลัมนิสต์คนเก่งมีสูตรดูแลสุขภาพดีๆ จากพืชสมุนไพรใกล้ตัวมาฝากอีกแล้ว รอบนี้ถึงคราว “ย่านาง” พืชสมุนไพรที่หาได้ไม่ยากในทุกท้องถิ่น
แถมมีประโยชน์ช่วยให้ผิวสวย และลดน้ำตาลในเลือดได้อีกด้วย
เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาผู้เขียนไปประชุมที่เชียงใหม่แม้ต้องเดินทางไกลแต่ก็เต็มใจเพราะต้องการไปเยี่ยมลูกสาวที่กำลังศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและญาติผู้ใหญ่ประกอบกับตั้งใจไปเยี่ยมหมอรุ่นพี่ที่เกษียนแล้ว ซึ่งเลือกไปใช้ชีวิตบั้นปลายที่นั่น
การไปพบปะกับหมอรุ่นพี่นั้นต้องจัดสรรเวลาให้ลงตัวเนื่องจากตัวผู้เขียนมีภารกิจหลักคือไปประชุมบางครั้งเราว่างแต่พี่หมอไม่ว่าง เลื่อนไปเลื่อนมาจนใกล้วันกลับและไม่สามารถจะเลื่อนได้อีกแล้ว สุดท้ายต้องเย็นนี้เท่านั้นจึงตัดสินใจไปกินอาหารร่วมกันค่ะ
ด้วยเหตุที่ไม่ได้เจอกันมานานต่างคุยไปกินไปอย่างออกรส ทำให้อาหารมื้อนั้นอร่อยเป็นพิเศษและหนึ่งในหัวข้อที่ต้องคุยสำหรับวัยนี้คือสุขภาพเป็นอย่างไรบ้าง
พี่หมอบอกว่าเขามีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน แต่กินอาหารได้ทุกอย่างเหมือนไม่ใช่คนเป็นโรคนี้เลยค่ะ ถ้ามองจากภายนอกจะสัมผัสได้ว่า พี่หมอมีความสุขกับการใช้ชีวิตมากถึงแม้จะเกษียนแล้วก็ยังมีความสุขและดูจะเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆจุดสำคัญที่ผู้เขียนวิเคราะห์ว่าเหตุที่พี่หมอมีความสุขคือยอมรับทุกอย่างพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ และดำรงชีวิตประจำวันแบบสโลว์ไลฟ์ (ซึ่งสโลว์มานานแล้วค่ะ) หลังเกษียนยิ่งสโลว์ใหญ่เลยแต่ไม่ใช่สโลว์แบบที่อุดอู้อยู่แต่ในบ้านนะคะ เขาไปตีกอล์ฟ ขับรถไปเที่ยวกันสองคนตายาย มีกิจกรรมทำในบ้านและพบปะสังสรรค์เพื่อนต่างวัย สุดท้าย มีหลักการบริหารเวลาและเงินให้เพียงพอต่อการใช้ชีวิตในยามเกษียณ
ผู้เขียนรู้จักกับพี่หมอมานานกว่า20ปีเห็นหลักในการดำรงชีวิตแล้วน่าเอามาเป็นแบบอย่างค่ะ และได้ดำเนินการตามรอยอย่างช้าๆระหว่างที่พูดคุยกันนั้นอยู่ๆพี่ก็ถามถึงสรรพคุณของย่านางว่าเป็นอย่างไรเลยถามกลับว่าทำไมคะ
พี่หมอเล่าว่า ที่ผ่านมาคุมระดับน้ำตาลได้ยากมาก(แน่นอนเล่นกินแบบนี้) ต่อมาได้คุยกับคนรู้จักบอกว่าน้ำย่านางช่วยได้ พี่หมอเลยลองดื่มดูพบว่าสามารถคุมระดับน้ำตาลได้ดี เมื่อไปเจาะเลือดผลออกมาว่าระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์ดีมาก จึงอยากให้หมอช่วยวิจัยด้วย ผู้เขียนเลยถามว่าแล้วทำอย่างไร พี่หมอจึงเล่าว่าซื้อน้ำย่านางสกัดเย็นที่ผสมใบเตยมาผสมกับน้ำเปล่าในสัดส่วนที่เหมาะสมและดื่มแทนน้ำเปล่าไปเลยค่ะ นอกจากทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีแล้ว ยังรู้สึกว่าร่างกายแข็งแรงขึ้นด้วย
ว้าวว้าว ผู้เขียนอธิบายว่าย่านางเป็นยาเย็นใช้ปรับสมดุลของร่างกาย ช่วยลดไข้และลดน้ำตาลในเลือดได้ จึงไม่แปลกที่เวลาดื่มน้ำย่านางแล้วจะควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี นอกจากนั้นยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงมากจึงช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยและความแก่ชราได้ จัดเป็นยาอายุวัฒนะทำให้ร่างกายแข็งแรง
พี่หมอเล่าต่อว่าคนเป็นโรคเบาหวานหลายคนดื่มน้ำย่านางแล้วได้ผลดีผู้เขียนเลยเสริมว่าคนไข้เคยเล่าให้ฟังเหมือนกันค่ะเพราะระหว่างที่ลงตรวจคนไข้เบาหวานซึ่งมีประวัติว่าแม้จะทำทั้งฉีดและกินยาก็คุมระดับน้ำตาลไม่ได้ พอมาหาหมอครั้งนี้ทำไมระดับน้ำตาลลดลง คนไข้ตอบว่าดื่มน้ำย่านางโดยทำเองค่ะใช้ใบย่านางสดๆมาล้างให้สะอาด ตำหรือโขลกแล้วผสมกับน้ำเปล่า กรองเอาแต่น้ำดื่มสดๆเลยค่ะ แต่วิธีนี้ท่านผู้อ่านที่ไม่ชอบกลิ่นเหม็นเขียวของผักอาจขอผ่านเพราะค่อนข้างดื่มยาก
ท่านผู้อ่านคะ น้ำย่านางยังมีสรรพคุณช่วยเรื่องโรคภูมิแพ้ด้วยโดยภรรยาของพี่หมอบอกว่าพี่ดื่มน้ำย่านางแล้วรู้สึกหายใจโล่ง และไม่หอบเลย ผู้เขียนสะดุดใจเลยค่ะ แบบนี้น่าลองค่ะ เพราะผู้เขียนเป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้ว ยังไม่หมดค่ะ ภรรยาพี่หมอบอกว่าที่กล้าดื่มน้ำย่านางเพราะไปคุยกับผู้ป่วยมะเร็งซึ่งกำลังให้ยาเคมีบำบัดและแพ้มาก เมื่อให้ไม่ได้จึงต้องหยุด ต่อมาได้ดื่มน้ำย่างนางปรากฏว่าก้อนมะเร็งยุบ พี่เขาเลยดื่มน้ำย่านางเพื่อช่วยโรคภูมิแพ้และป้องกันโรคมะเร็ง
(ท่านผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณนะคะ เนื่องจากผู้เขียนเป็นหมอจึงขอแนะนำว่าถ้าท่านผู้อ่านเป็นมะเร็งควรรักษากับแพทย์แผนปัจจุบันและดื่มน้ำย่านางควบคู่ไปกับการรักษาจึงจะเป็นวิธีการที่ถูกต้องค่ะที่สำคัญควรบอกแพทย์ที่รักษาด้วยนะคะ)
เมื่อกลับจากเชียงใหม่ความคิดที่อยากลองดื่มน้ำย่านางยังอยู่ในหัวตลอด ผ่านไปหลายวันก็ยังไม่ได้ลองค่ะ และแล้วก็ถึงเวลาเมื่อสายตาไปสะดุดกับขวดน้ำย่านางสกัดเย็นผสมใบเตย ซึ่งผู้เขียนซื้อมานานแล้ว คิดในใจว่าคราวนี้คงได้ลองสมใจละค่ะ
แต่ท่านผู้อ่านคะ สุดท้ายผู้เขียนก็ยังไม่ได้ลองจนเมื่อได้ไปคุยกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบางกระทุ่ม เขามีลูกสาวอายุ6ขวบเป็นภูมิแพ้มีอาการออกทางผิวหนังคือมีผื่นขึ้น หน้าบวม อาการหนักจนกระทั่งต้องนอนโรงพยาบาล เมื่ออาการดีขึ้นก็กลับบ้านแต่ไม่หายขาด จึงให้ลูกดื่มน้ำย่านางโดยผสมกับน้ำดื่มและดื่มกันทั้งบ้านสามคนพ่อแม่ลูก ผลปรากฏว่าลูกไม่มีอาการอีกเลยค่ะ
แหมข้อมูลแน่นขนาดนี้ผู้เขียนลุยเลยค่ะ ใช้วิธีผสมน้ำย่านางดื่มแทนน้ำเปล่า ช่วงที่ดื่มนั้นผู้เขียนเริ่มระคายคอและรู้สึกว่าจะมีไข้ต่ำๆ จึงดื่มน้ำย่านางตอนเย็นและตลอดคืนนั้น ไม่น่าเชื่อก็ต้องเชื่อค่ะว่ารุ่งเช้า อาการไข้และระคายคอหายไปอย่างกับปลิดทิ้ง ว้าวว้าว ดีจังไม่ต้องกินยาฆ่าเชื้อและยาลดไข้
หลังจากนั้นผู้เขียนดื่มน้ำย่านางเป็นประจำเพื่อช่วยบรรเทาโรคภูมิแพ้ของตัวเองรู้สึกว่าจมูกโล่ง และหายใจได้ดีขึ้นเหมือนที่ภรรยาของพี่หมอบอกไว้ ตอนนี้จึงเลยขยายผลให้คนในครอบครัวดื่มด้วยค่ะ เพราะคุณหมอใกล้ตัวเป็นคนธาตุไฟคือร้อน การดื่มย่านางน่าจะช่วยปรับสมดุลได้ดี ส่วนลูกสาวผู้เขียนบอกว่าน้ำย่านางช่วยรักษาสิวฝ้าและดีท็อกซ์ได้ดังนั้น ผิวหนูจะสวยแถมหุ่นก็ดีอีกด้วยของดีแบบนี้ต้องบอกต่อ จึงนำมาบอกกล่าวให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบค่ะ
ไว้พบกันใหม่ปักษ์หน้านะคะ สวัสดีค่ะ
ข้อควรระวังในการใช้ย่านาง
จากบทความ “สมุนไพร out of Research ใครควรกินไม่ควรกิน”ตีพิมพ์ในนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 347 ปี พ.ศ.2556 ระบุว่า ในทางการแพทย์อายุรเวท อธิบายว่า
ผู้ที่มีธาตุเย็นหรือความดันโลหิตต่ำ เลือดจาง และอ่อนเพลียง่าย ไม่ควรกินติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะยิ่งทำให้เลือดจางและอ่อนเพลียมากขึ้น
ข้อควรระวังในการใช้ย่านาง
จากบทความ “สมุนไพร out of Research ใครควรกินไม่ควรกิน”โดย คุณอังคณา ทองพูล ซึ่งตีพิมพ์ในนิตยสาร ชีวจิต ฉบับที่ 347ปี พ.ศ.2556หน้า 30 ระบุว่า
ในทางการแพทย์อายุรเวท อธิบายว่า ผู้ที่มีธาตุเย็นหรือความดันโลหิตต่ำ เลือดจาง และอ่อนเพลียง่าย ไม่ควรกินติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะยิ่งทำให้เลือดจางและอ่อนเพลียมากขึ้น
นอกจากนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์โรงพยาบาลอภัยภูเบศร อธิบายไว้ใกล้เคียงกันว่า หากเป็นยาชงย่านางแดง ไม่ควรดื่มมากไป เช่น ดื่มต่างน้ำหรือดื่มอย่างต่อเนื่องเพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลลดลงเร็วเกินไป ทำให้หน้ามืด ใจสั่น และระบุว่า ผู้ที่มีระดับน้ำตาลปกติหรือความดันโลหิตต่ำอยู่จึงไม่ควรดื่ม
เรื่องจาก นิตยสาร ชีวจิต