ลอรีอัล เปิดตัว 3 ผู้หญิงเก่ง นักวิจัย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์”
ลอรีอัล เผย 3 นักวิจัยสตรี “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ประจำปี 2559
14 ปี แห่งความมุ่งมั่นในการเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559 บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยความร่วมมือกับสำนักเลขาธิการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ประกาศรายชื่อนักวิจัยสตรีผู้มีผลงานอันโดดเด่นจนได้รับทุนโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2559 โดยในปีนี้เป็นปีที่ 14 ของการดำเนินโครงการในประเทศไทย ซึ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นในการร่วมเชิดชูเกียรติสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์และสนับสนุนงานด้านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย โดยมีนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 58 ท่าน
สำหรับปีนี้ มีนักวิจัยสตรีที่ได้รับทุน 3 ท่านจาก 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ คือ ดร.ภญ. สุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช สังกัดงานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงานวิจัยหัวข้อ “บทบาทของอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไวต่อลักษณะความเป็นเซลล์มะเร็งต้นกำเนิด และการดื้อต่อยาเคมีบำบัดในมะเร็งต่อมน้ำเหลือง”
สาขาวัสดุศาสตร์ คือ ดร. นาฏนัดดา รอดทองคำ จากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงานวิจัยหัวข้อ “นวัตกรรมวัสดุนาโนคอมพอสิตสำหรับการวินิจฉัยโรคและตรวจวัดสารพิษในสิ่งแวดล้อม”
และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี คือ ดร. สุภาวดี นาเมืองรักษ์ จากห้องปฏิบัติการคำนวณระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กับผลงานวิจัยหัวข้อ “การประยุกต์ใช้แบบจำลองโมเลกุลสามมิติ และการคำนวณด้วยเทคนิคทางเคมีคอมพิวเตอร์ขั้นสูงเพื่อการออกแบบและพัฒนาวัสดุโครงสร้างระดับนาโนสำหรับการใช้งานด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ การคัดเลือกผู้ได้รับทุนทั้งหมดได้ผ่านการพิจารณาอย่างละเอียดจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในวงการวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากคุณค่าของงานวิจัยที่จะเกิดขึ้นกับสังคม กระบวนการวิจัยที่ถูกต้องและเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมไปถึงจริยธรรมในการทำงานของนักวิจัย และการเป็นที่ยอมรับในวงการนักวิจัย
ดร.ภญ. สุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ จากศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช สังกัดงานวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอน-ฮอดจ์กิน (non-Hodgkin lymphoma) เป็นมะเร็งระบบโลหิตวิทยาที่พบบ่อยที่สุดในประเทศไทย งานวิจัยนี้จะสร้างองค์ความรู้พื้นฐานที่สำคัญให้เข้าใจถึงเหตุและผลและปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เกิดการดื้อต่อยาเคมีบำบัดของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในคนไข้ด้วยการสืบหาปัจจัยที่มีผลต่อจำนวนประชากรเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดต่อมน้ำเหลืองในระดับชีวโมเลกุล
ซึ่งคาดเดาว่าเป็นเซลล์ต้นเหตุของการต้านยาเคมีบำบัดในมะเร็งต่อมน้ำเหลือง งานวิจัยในเบื้องต้นพบว่าอนุพันธ์ซุปเปอร์ออกไซด์เหนี่ยวนำให้เซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองมีการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดที่มากขึ้น โดยสอดคล้องกับสัดส่วนจำนวนประชากรเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดต่อมน้ำเหลืองที่ลดลง
และเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการดื้อต่อยาเคมีบำบัดของเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลืองลดลง ซึ่งจะนำไปสู่การหาวิธีการออกแบบการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง รวมถึงโรคมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่ถูกควบคุมผ่านทางอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในอนาคต เพราะเซลล์มะเร็งต้นกำเนิดต่อมน้ำเหลืองเป็นเซลล์เป้าหมายที่สำคัญต่อการวางแผนการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด”
ในขณะที่ ดร. นาฏนัดดา รอดทองคำ ผู้ที่ได้รับทุนวิจัยสาขาวัสดุศาสตร์ จากสถาบันวิจัยโลหะและวัสดุ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลงานวิจัยว่า “การวินิจฉัยโรคทางการแพทย์และการควบคุมปริมาณสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อมมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับคุณภาพชีวิตมนุษย์ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพัฒนาระบบการตรวจวัดที่มีประสิทธิภาพและความไวสูงและราคาไม่แพง เพื่อให้สามารถตอบสนองความจำเป็นดังกล่าวได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
งานวิจัยนี้นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ด้านการเตรียมวัสดุนาโนคอมพอสิตที่สามารถควบคุมให้มีคุณสมบัติตามที่ต้องการ เพื่อให้เหมาะสมกับการประยุกต์ใช้พัฒนาระบบการตรวจวินิจฉัยโรคเบื้องต้นและตรวจวัดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม
โดยระบบที่พัฒนาขึ้นได้นั้นมีประสิทธิภาพและความไวสูง พกพาและใช้งานได้ง่าย ไม่ต้องอาศัยห้องปฏิบัติการและเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีค่าใช้จ่ายสูง อันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศไทยแม้ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงถือเป็นการสร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืนและพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนให้กับประชากรอีกด้วย”
ด้าน ดร. สุภาวดี นาเมืองรักษ์ ผู้ได้รับทุนวิจัยสาขาเคมี จากห้องปฏิบัติการคำนวณระดับนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวถึงรายละเอียดของงานวิจัยว่า “การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจเชิงลึกระดับโมเลกุลในกระบวนการเกิดปฏิกิริยาเคมีในวัสดุนาโนเป็นกุญแจสำคัญในการออกแบบและพัฒนาวัสดุนาโนเพื่อการใช้งานเฉพาะด้าน เช่น การบำบัดสภาพอากาศหรือการผลิตพลังงานชีวภาพจากชีวมวล
ซึ่งจากแนวโน้มประชากรโลกและปริมาณการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้การพัฒนาวิจัยด้านการสรรหาพลังงานทดแทนควบคู่กับการพัฒนาทางด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญและสร้างสรรค์ให้เกิดผลกระทบเชิงบวกในการพัฒนาพลังงานทางเลือก รวมไปถึงเพิ่มวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมมลพิษทางอากาศ และหวังว่าผลลัพธ์ที่ได้จากงานวิจัยจะสร้างประโยชน์ให้กับทั้งระบบเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมทั่วโลก”
นางนาตาลี เกอร์ชไตน์ เคอโรวดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การค้นคว้าวิจัย คือ หัวใจสำคัญของลอรีอัลในการดำเนินธุรกิจมาตลอดระยะเวลากว่า 100 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสอดคล้องกับจุดยืนของ มร.ยูชีน ชูแลร์ ผู้ก่อตั้งลอรีอัล ที่มีความเชื่อมั่นว่าการค้นคว้าวิจัยจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งเหล่านี้นับเป็นเป็นกุญแจสำคัญสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่สมดุล สมบูรณ์ และสวยงามยิ่งขึ้น
เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ตลอด 14 ปี ที่เราดำเนินโครงการนี้ในประเทศไทย เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำลังใจและสนับสนุนนักวิจัยสตรีไทย ในการสร้างผลงานอันทรงคุณค่าต่อประเทศไทยและมวลมนุษยชาติ และในปีนี้เรามีนักวิจัยสตรีมากความสามารถทั้ง 3 ท่านที่มาพร้อมกับงานวิจัยทรงคุณค่าที่จะสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศและโลกของเราให้ยั่งยืนในอนาคต”
ทั้งนี้โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” ริเริ่มขึ้นในปี 2540 โดย ลอรีอัล กรุ๊ป โดยความร่วมมือขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิดชูเกียรติและยกย่องบทบาทสตรีในสายงานวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันมีนักวิจัยสตรีมากกว่า 2,530 ท่าน จาก 112 ประเทศทั่วโลก ที่ได้รับการสนับสนุนภายใต้โครงการนี้ สำหรับประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” เริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2545 โดยมอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี ใน 3 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาวัสดุศาสตร์ และสาขาวิทยาศาสตร์เคมี เป็นประจำทุกปี