เปิดบันทึกรัก 60 เรื่องราวสุดโรแมนติก ที่ ‘พ่อหลวง’ ทรงมีต่อ ‘แม่ของแผ่นดิน’

เปิดบันทึกรัก 60 เรื่องราวสุดโรแมนติก ที่ ‘พ่อหลวง’ ทรงมีต่อ ‘แม่ของแผ่นดิน’

เปิดบันทึกรัก 60 เรื่องราวสุดโรแมนติก ที่ ‘พ่อหลวง’ ทรงมีต่อ ‘แม่ของแผ่นดิน’
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เห็นหลายคนโพสต์เรื่องเพลง “เหมือนเคย” ของคุณบอย โกสิยพงษ์ ที่ในหลวงทรงเปิดให้พระราชินี ถ้าพูดภาษาบ้านๆ พระองค์ทรงโรแมนติกยิ่งนัก

เพื่อระลึกถึงพ่อ วันนี้ ChicMinistry จะพาไปพบกับเรื่องราวสุดโรแมนติกผ่าน 60 เหตุการณ์สำคัญและเกร็ดเรื่องราวน่าสนใจ บนเส้นทางแห่งรัก “สองดวงใจคู่แผ่นดิน” เนื่องในวโรกาส 60 ปีราชาภิเษกสมรส ( 28 เมษายน 2553) ที่ลูกๆ อ่านแล้วจะต้องยิ้มทั้งน้ำตา อมยิ้มไปกับเรื่องราวรักแรกพบ ภาพฝีพระหัตถ์ บทเพลงพระราชนิพนธ์ มากไปกว่านั้นยังได้ประจักษ์ชัดถึงอีกหลายบริบทแห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ อันเป็นความรักและหน้าที่ที่มาคู่กันของพระมหากษัตริย์และราชินีที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก

(โดยการรวบรวมของ dulyapaween ที่ใช้เวลาหนึ่งวันเต็มๆ กับการสืบค้นบันทึกลายลักษณ์อักษร ในห้อง 302 ชั้น 3 หอสมุดแห่งชาติ)

ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงโรแมนติกไหม? คำถามนี้เชื่อว่าหลายคนคงอยากรู้…



1.แรกพบ ณ เมือง Fontainebleau ชานกรุงปารีส ในปีพ.ศ.2491 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชประสงค์จะเสด็จฯ เยี่ยมโรงงานต่อรถยนต์ในประเทศฝรั่งเศส ขณะนั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร เป็นบุตรีของม.จ.นักขัตมงคลท่านทูตประจำกรุงปารีส ได้มาร่วมเฝ้ารับเสด็จฯด้วย

2.เป็นการพบกันครั้งแรกที่ผิดจากแบบนวนิยาย เพราะม.ร.ว.สิริกิติ์อยู่ในอารมณ์ทั้งหิวและรอนาน เนื่องจากรถยนต์พระราชพาหนะเกิดเครื่องเสียและน้ำมันหมด ต้องใช้เวลาแก้ไขนานกว่าจะเสด็จฯมาถึง

3.ทั้งสองพระองค์ยังทรงจำเหตุการณ์นี้ได้เป็นอย่างดี เวลารับสั่งถึงจะทรงพระสรวล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมักจะทรงล้อว่า “เดินตุปัดตุเป๋ หน้างอคอยถอนสายบัว”

4.จุดแรกเริ่มที่ทำให้ทรงพอพระราชหฤทัยม.ร.ว.สิริกิติ์ เพราะสนใจดนตรีเช่นเดียวกัน

5.หลังจากทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่นอกเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในคืนวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2491 ในหลวงทรงมีพระราชกระแสรับสั่งกับม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ (พระฐานันดรในขณะนั้น)ว่า “ทรงรักม.ร.ว.สิริกิติ์อย่างแน่นอน” พระราชทานเหตุผลว่า เมื่อทรงฟื้นคืนพระสติครั้งแรกนั้น ทรงระลึกถึงบุคคลเพียง 2 คน คือ สมเด็จพระบรมราชชนนี และม.ร.ว.สิริกิติ์

6.ระหว่างที่ประทับรักษาพระองค์อยู่นั้น นอกจากสมเด็จพระบรมราชชนนี พระเชษฐภคินีแล้ว ยังมีม.ร.ว.สิริกิติ์ ร่วมเฝ้าอยู่ด้วย จึงเป็นผลให้ความสัมพันธ์ที่มีมาแต่เดิมแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

7.มีเรื่องเล่าจากบันทึกส่วนพระองค์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ถึงการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 โปรด เกล้าฯ ให้ประพันธ์คำร้องเพลงพระราชนิพนธ์ “เทวาพาคู่ฝัน” และ “อาทิตย์อับแสง” ถวายว่า ในช่วงที่ทรงเริ่มรู้จักชอบพอกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อยังทรงเป็น ม.ร.ว. สิริกิติ์ กิติยากร อยู่นั้น ต่างประทับห่างไกลกัน เมื่อต้องทรงจากกันก็เปรียบเหมือน “อาทิตย์อับแสง” และในพระราชหฤทัยของทั้งสองพระองค์ก็คงทรงหวังให้ “เทวาพาคู่ฝัน”มาให้

8.วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2492 ทรงหมั้นกับม.ร.ว.สิริกิติ์ โดยพิธีหมั้นจัดเป็นการภายใน ณ โรงแรมวินเซอร์ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

9.วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2492 วันเกิดครบ 17 ปีของม.ร.ว.สิริกิติ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์มาร่วมงานเลี้ยงด้วย ณ กรุงลอนดอน และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศข่าวทรงหมั้นเพื่อคนไทยได้รับรู้

10.พระธำมรงค์เพชรรูปหัวใจที่ทรงหมั้น เป็นองค์เดียวกับที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมอบแด่สมเด็จพระบรมราชชนนี โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำรัสว่า “เป็นของมีค่ายิ่ง และเป็นที่ระลึกด้วย”

11.วันศุกร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ.2493 สมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสพระราชทาน ณ วังสระปทุม

12.ในอดีตพระตำหนักใหญ่ วังสระปทุม ยังเคยเป็นสถานที่จัดพระราชพิธีอภิเษกสมรสระหว่างสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

13.ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทย ยื่นคำร้องขอจดทะเบียนสมรสนอกสถานที่ ปิดอากรแสตมป์ 10 สตางค์ เสียค่าธรรมเนียม 10 บาท

14.ของที่ระลึกพระราชทานในงานพระราชพิธีราชาภิเษกสมรสเป็นหีบเงินขนาดเล็ก บนฝาหีบประดับอักษรพระปรมาภิไธย ภ.อ. และพระนามาภิไธย ส.ก.

15.หลังการอภิเษกสมรส รุ่งขึ้นเสด็จฯไปประทับ ณ พระตำหนักเปี่ยมสุข วังไกลกังวล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์โดยทางรถไฟ ระหว่างเสด็จฯ ฮันนีมูน ทั้งสองพระองค์ทรงพระสำราญตอนเย็นๆ มักจะเสด็จลงสรงน้ำทะเล

16.“พระราชวังไกลกังวล” เป็นวังส่วนพระองค์ที่รัชกาลที่7 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2469 ภายในบริเวณประกอบด้วยพระตำหนักหลายหลังมีชื่อคล้องจองกัน ได้แก่ พระตำหนักเปี่ยมสุข ปลุกเกษม เอิบเปรม เอมปรีดิ์

17.อ.หัวหิน ยังเป็นแห่งแรกที่ทรงเริ่มสำรวจพื้นที่ ดิน น้ำ อาชีพ การกินอยู่ของราษฎร โครงการแรกได้พระราชทาน “ถนนสายห้วยมงคล” ให้แก่ “ลุงรวย”และชาวบ้านที่มาช่วยกันเข็นรถยนต์พระที่นั่งจากหล่มดินในปีพ.ศ.2495 นับเป็นถนนสายแรกที่นำไปสู่โครงการพระราชดำริเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร

18.พระราชพิธีบรมราชาภิเษกจัดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง

19.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงได้รับการเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร

20.พระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

21.วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เป็นพระราชพิธีเฉลิมราชมณเฑียร หรือ “พีธีขึ้นบ้านใหม่” ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง

22.เสด็จฯไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2493 โดยเครื่องบินสายการบิน เค.แอล.เอ็ม

23.การเสด็จฯประทับที่สวิสช่วงนั้นยังเป็นเหตุผลทางการเมืองของรัฐบาลสมัยนั้น เนื่องด้วยมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อแน่ใจว่าสามารถรักษาสถานการณ์ไว้ได้จึงจะเชิญเสด็จฯกลับเมืองไทย

24.ขณะประทับอยู่ที่เมืองโลซานน์ ณ พระตำหนักวิลล่า วัฒนา เลขที่ 51 Chamblandes dessus,Lausanne,(Vaud)Pully.ทรงปฏิบัติพระองค์เสมือนสามัญชน ชาวสวิสทั่วไปเรียกทั้งสองพระองค์ว่า Monsieur (Le Roi) และMadame(La Reine)

25.สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระประสูติกาลเจ้าฟ้าพระองค์แรก คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ณ โรงพยาบาลมองชัวซีส์ เมืองโลซานน์ สวิตเซอร์แลนด์ วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน พ.ศ.2494

26.ในหลวงทรงตกแต่งห้องประทับพระธิดาองค์น้อยด้วยพระองค์เอง โดยปิดกระดาษสีอ่อนๆ ระบายรูปภาพเป็นนางฟ้า ผีเสื้อ ดอกไม้ แบบวอลล์เปเปอร์ และทรงต่อเครื่องเล่นในห้องทรงการช่างใต้ดิน

27.ทรงเป็นนักถ่ายรูปนิยม จะทรงฉายพระรูปสมเด็จฯและพระธิดา ไว้เป็นการบันทึกความเจริญเติบโตทุกระยะๆ ทรงเก็บเข้าอัลบั้มพร้อมวันเดือนปีอย่างละเอียด

28.วันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2494 เสด็จนิวัติประเทศไทยโดยเรือ MEONIA

29.สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีทรงมีพระประสูติกาลพระราชโอรส-พระราชธิดาอีก 3 พระองค์โดยทุกพระองค์ประสูติ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

30.พระราชโอรสพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์ได้รับพระราชทานพระกษีรธารา (นมแม่)

31.สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ.2495 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารในพ.ศ.2515

32.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ.2498 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯสถาปนาเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี ในปีพ.ศ.2520

33.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2500

34.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้รับการสถาปนาพระอิสริยยศ 3 ครั้ง ตามลำดับดังนี้
– ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ในวโรกาสพระราชพิธีราชาภิเษก ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาม.ร.ว.สิริกิติ์ พระอัครมเหสี เป็น “สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์”
– ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 ในวโรกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โปรดเกล้าฯ ประกาศสถาปนาขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”
– ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 หลังจากทรงดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงผนวช (22 ตุลาคม – 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ) จึงได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เฉลิมพระอภิไธยขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ”

35.นับเป็นพระบรมราชินีนาถองค์ที่สองแห่งราชวงศ์จักรี

36.เมื่อพระตำหนักจิตรลดารโหฐานปรับปรุงต่อเติมใหม่เสร็จในวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ 2500 จึงเสด็จแปรพระราชฐานจากพระที่นั่งอัมพรสถานกลับไปประทับยังพระตำหนัก จิตรลดารโหฐานตามเดิม

37.พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน มีห้องทั้งหมดประมาณ 30 ห้องจึงเป็นพระตำหนักที่เล็กและจำกัด แต่อบอุ่นด้วยความรักระหว่างครอบครัวที่ประทับอยู่ด้วยกัน จนต่างทรงพระเจริญชันษาที่จะแยกเป็นครอบครัวของพระองค์เอง

38.ในปีพ.ศ.2501 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงเรียนจิตรลดาขึ้นในบริเวณพระตำหนัก เพื่อให้เป็นสถานศึกษาของพระราชโอรสพระราชธิดาทั้ง 4 พระองค์

39.“เรื่องการรับผิดชอบตนเอง และความรับผิดชอบในหน้าที่เป็นเรื่องที่ทรงเน้นมาก เมื่อมีหน้าที่อะไรก็ต้องทำอย่างเต็มใจ เช่น เมื่อตอนเด็กๆก็โปรดเกล้าฯให้ตามเสด็จงานบางงาน เมื่อโตขึ้นก็มีมากขึ้นตามลำดับ ทรงสอนให้รู้จักอดทน และภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือพี่น้องร่วมชาติที่ด้อยโอกาส และมีความละอายใจถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามหน้าที่ได้”…ตอนหนึ่งจากพระราช นิพนธ์ “สมเด็จแม่กับการศึกษา”ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

40.ในหนังสือ “สมเด็จแม่กับการศึกษา”สมเด็จพระเทพฯทรงเล่าตอนหนึ่งว่า “สมเด็จแม่โปรดให้เราอ่านหนังสือมากกว่าดูโทรทัศน์ มีเหตุผลว่าดูโทรทัศน์ (ซึ่งในตอนนั้นมีอยู่เพียงสองสามช่อง)เหมือนกับการถูกสะกดจิตให้ต้องดูและ ฟังรายการที่ผู้จัดรายการเพียงคนสองคนจัดขึ้น ในขณะที่หนังสือมีให้เลือกอย่างหลากหลาย”

41.สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงปฏิบัติพระองค์เยี่ยงสามัญชนที่รักลูกรักบ้าน ทรงระวังมากตั้งแต่ความสวยงามและความสะอาดนับตั้งแต่เรื่องอาหารจนถึงสิ่ง เล็กๆน้อยๆแม้แต่ห้องน้ำก็ไม่พ้นพระเนตรพระกรรณ

42.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เคย ทรงประกอบอาหารพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเมื่อทรงพระเยาว์ เมนูนี้เรียกกว่า “ไข่พระอาทิตย์”(เป็นไข่เจียวผสมข้าวสุก ทรงเล่าว่า เมื่อส่องกล้องแล้ว พื้นผิวดวงอาทิตย์มีลายเหมือนเมล็ดข้าว ภาษาฝรั่งเศสเรียกว่า Grain de riz )

43.เพลงพระราชนิพนธ์ Lullaby (ค่ำแล้ว) เพลงนี้มีผู้เข้าใจว่าทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แต่มีผู้นำรับสั่งของสมเด็จพระเทพฯมาถ่ายทอดว่า“ที่จริงแล้วไม่ได้ทรงพระราช นิพนธ์พระราชทานสมเด็จพระเทพฯ แต่ว่าเมื่อสมเด็จพระเทพฯ ทรงฟังเพลงนี้ทีไรทรงหลับทุกครั้ง”

44.เพลง“สดุดีมหาราชา”ที่คนไทยร้องกันได้ขึ้นใจ แต่แรกแต่งขึ้นเพื่อใช้ประกอบภาพยนตร์เรื่อง“ลมหนาว”ของชรินทร์ นันทนาคร เมื่อพ.ศ.2509 ประพันธ์ทำนองและคำร้องร่วมกันโดยชาลี อินทรวิจิตร,สมาน กาญจนะผลิน,และสุรัสน์ พุกกะเวส

45.ปีพ.ศ.2502 ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเริ่มเขียนภาพอย่างจริงจัง ในระยะแรกๆ ทรงเขียนภาพเหมือนจากพระสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

46.ทรงเคยปั้นงานประติมากรรมฝีพระหัตถ์เป็นพระรูปปั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ครึ่งพระองค์ ความสูง 12 นิ้วด้วย

47.ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ในอดีตยังมีภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งยังเป็นม.ร.ว.สิริกิติ์ กำลังยิ้มแย้มสดชื่นในรถยนต์พระที่นั่ง

48.เมื่อครั้งที่เสด็จขึ้นครองราชสมบัติใหม่ๆ โปรดที่จะถ่ายภาพสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมพระราชโอรสและพระราชธิดา โดยเฉพาะเมื่อเสด็จแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์

49.ในหลวง รัชกาลที่ 9 และราชินีเสด็จเยือนต่างประเทศเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีเป็นครั้งแรก เมื่อปีพ.ศ2502 โดยเสด็จเยือนเวียดนามเป็นประเทศแรก และเสด็จเยือนสาธารัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประเทศล่าสุดในปีพ.ศ.2537

50.ปีพ.ศ.2503 เสด็จฯเยือนต่างประเทศยาวนานที่สุดถึง 7 เดือน ยังประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศต่างๆในยุโรปอีก 13 ประเทศและ 1 รัฐ

51.มีเรื่องเล่าถึงบทสัมภาษณ์ที่ในหลวงพระราชทานสัมภาษณ์นักข่าวต่างประเทศ เมื่อปีพ.ศ.2503 ครั้งเสด็จฯเยือนยุโรปและสหรัฐอเมริกา นักข่าวกราบบังคมทูลถามว่าเพราะเหตุใดพระองค์ถึงทรงเคร่งขรึมนัก ไม่ทรงยิ้มหรือพระสรวลบ้างเลย ทรงชี้ไปที่พระราชินีซึ่งประทับอยู่ข้างๆ พร้อมกับตอบว่า “She’s my smile (นั่นไงยิ้มของฉัน)”

King Bhumibol Adulyadej of Thailand and Queen Sirikit of Thailand, holding a bouquet of flowers, as she shakes hands with an official before boarding an aircraft at London Airport, London, Great Britain, 6 October 1966. The royal couple had been staying in Britain for eleven weeks and were returning home to Bangkok. (Photo by Keystone/Hulton Archive/Getty Images)


52.นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2498 สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ โดยเสด็จตามพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เพื่อทรงเยี่ยมราษฎร แรกเริ่มที่ต.ห้วยมงคล อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

53.ขณะที่ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงสนพระราชหฤทัยด้านการชลประทานและการเกษตร สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ จะทรงใช้เวลากับราษฎรผู้หญิง เด็กและผู้สูงอายุ พระราชทานงานศิลปาชีพ

54.ขณะทรงประกอบพระราชภารกิจที่ต.สะเต็ง อ.เมือง จ.ยะลา ปีพ.ศ.2520 ทรงร่วมกันผ่านเหตุการณ์ระทึกขวัญ เมื่อมีเสียงระเบิดดังตูมขึ้นสองครั้งจนประชาชนที่มารับเสด็จกันแน่นพากัน วิ่งหนีอย่างอลหม่าน

55.การเสด็จฯเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารต่างๆ เป็นพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติมายาวนานหลายสิบปี ในอดีตราวเดือนสิงหาคม-ตุลาคม เป็นช่วงเวลาเสด็จฯแปรพระราชฐาน ณ ทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส ถึงเดือนพฤศจิกายน จะประทับ ณ ภูพานราชนิเวศน์ จ.สกลนคร และในเดือนมกราคม-มีนาคม ประทับ ณ ภูพิงค์ราชนิเวศน์ จ.เชียงใหม่

56.“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง รัชกาลที่ 9 สอนลูกๆ ทุกคน สอนข้าพเจ้าก่อนแล้วก็สอนลูกว่า เมื่อคนเขายกย่องนับถือให้เป็นประมุขเท่าไร เราต้องรู้สึกว่า เราต้องทำงานให้หนักกว่าทุกคน ต้องมีความรับผิดชอบ มีความเสียสละ” พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระทานทานเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2522

57.“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีโครงการพระราชดำริมากกว่า 3,000 โครงการทั่วประเทศ ทรงมุ่งให้ราษฎรให้กินดี อยู่ดีขึ้นทุกภาค งานที่ทรงทำนี่ ทำโดยไม่มีวันหยุดมาเกือบ 60 ปีแล้ว ทรงทำโดยไม่เบื่อหน่าย เพราะเป็นงานที่ทรงทำ ด้วยความรักที่มีต่อประชาชน ในห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะมีแต่แผนที่ประเทศไทยทุกภาคเต็มไปหมด…”พระราชดำรัสตอนหนึ่งที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2552

58.แม้คนไทยอาจไม่ได้เห็นภาพข่าวเสด็จฯทรงเยี่ยมราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดาร ต่างๆ แต่เคยสังเกตไหมว่า แทบทุกครั้งที่มีเหตุการณ์อันน่าเศร้าสะเทือนใจ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ ผู้เจ็บป่วยยากไร้ แม้กระทั่งล่าสุดเหตุการณ์นองเลือด 10 เมษายน หรือเหยื่อระเบิดที่สีลม ฯลฯ เรามักจะได้เห็นข่าว “ทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์” ตามมาเสมอ

59.ในยามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง รัชกาลที่ 9 ประทับรักษาพระวรกายที่โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายนเป็นต้นมา สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงเฝ้าพระอาการ ประทับอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชโดยตลอด

60.นับตั้งแต่อภิเษกสมรสผ่านมา 60 ปี พลังแห่งรักของทั้งสองพระองค์เป็นที่ประจักษ์ผ่านโครงการพระราชดำริต่างๆ แม้จะทรงมีพระชนมพรรษาเพิ่มมากขึ้น ปีนี้ (ขณะนั้นคือปี 2553) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จะเจริญพระชนมายุ 83 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 78 พรรษา แต่ยังทรงทำงานอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้

ที่มา

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้เป็นบทความเก่าในนสพ.กรุงเทพธุรกิจ เนื่องในวันราชาภิเษกสมรสครบ 60 ปีในวันนี้ ( 28 เมษายน 2553) เรียบเรียงจาก
-หนังสือ”ทำเป็นธรรม” และ “บันทึก เป็น อยู่ คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” โดยท่านผู้หญิงเกนหลง สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
-หนังสือ “ตามเสด็จฯต่างประเทศ”โดยท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร
-หนังสือ “ด้วยพลังแห่งรัก”เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ จัดทำโดยกองราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถและกองศิลปาชีพ
-หนังสือ “100 เรื่องในหลวงของฉัน”โดย วิทย์ บัณฑิตกุล
-เว็บไซต์ http://www.supremeartist.org/ ของมูลนิธิหอศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9
-เว็บไซด์ http://th.wikipedia.org

ขอบคุณ : pantip, dulyapaween

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook