เทคนิคช็อป “รองเท้าคู่ใจ” เลือกยังไง...ไม่ให้เฮิร์ท

เทคนิคช็อป “รองเท้าคู่ใจ” เลือกยังไง...ไม่ให้เฮิร์ท

เทคนิคช็อป “รองเท้าคู่ใจ” เลือกยังไง...ไม่ให้เฮิร์ท
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เท้า” เป็นอวัยวะสำคัญที่ช่วยรองรับน้ำหนัก และแรงกระแทกจากการเคลื่อนไหวของร่างกาย ไม่ว่าจะยืน เดิน วิ่ง กระโดด “รองเท้า” จึงเป็นอาวุธที่สำคัญมาก เพราะช่วยในการทรงตัวของร่างกายได้เป็นอย่างดี ดังนั้น หากคุณใส่รองเท้าที่ไม่เหมาะกับเท้าอยู่บ่อยๆ ย่อมมีผลให้โครงสร้างเท้าเปลี่ยนไป เช่น ในกรณีที่คุณต้องใส่รองเท้าส้นสูงทุกวัน พื้นรองเท้าที่เทลง จะทำให้เท้าส่วนหน้าของคุณต้องรองรับน้ำหนักมากกว่าปกติ เป็นสาเหตุของอาการปวดเท้า ไปจนถึงเข่าและหลังได้ หรือการใส่รองเท้าหน้าแคบ บีบนิ้วเท้าบ่อยๆ ก็จะทำให้ปวดนิ้วเท้า และทำให้เกิดภาวะผิดปกติของเท้าได้เช่นกัน

ปัญหาจากรองเท้าคู่ใจ

ลักษณะของรองเท้าคู่ใจที่คุณเลือกใส่ในชีวิตประจำวัน อาจเป็นสาเหตุของภาวะผิดปกติของเท้าได้ ลองสังเกตอาการเบื้องต้นเหล่านี้ดูสิคะ

– อาการปวดน่อง หรือเป็นตะคริว อาจมีสาเหตุจากการเดินบ่อยๆ หรืออยู่ในท่าเขย่ง จากการสวมรองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อน่อง เอ็นร้อยหวาย ( Achilles tendon) ตึงตัว

– อาการปวดตึงหลังส่วนล่าง เป็นผลจากการใส่รองเท้าส้นสูง ที่ทำให้น้ำหนักของร่างกายเทไปข้างหน้า ร่างกายจึงต้องปรับให้ลำตัวแอ่นไปด้านหลัง เพื่อให้ร่างกายตั้งตรง และทรงตัวได้

– ภาวะเท้าโก่ง หรือหลังเท้านูน มีผลการสำรวจพบว่า การใส่รองเท้าส้นสูง ซึ่งเท้าต้องเขย่งเป็นเวลานาน ส่งผลให้เท้าโก่งจากการดึงรั้งของพังฝืดใต้ฝ่าเท้า (Plantar Fascia)

– ภาวะเท้าแบน เป็นการเปลี่ยนแปลงของเท้าให้บิดเข้าด้านใน และอุ้งเท้าแบนลง เมื่อต้องสัมผัสกับพื้นรองเท้าที่แข็งแบน ซึ่งส่งผลให้มีคนทั่วโลกกว่าร้อยละ 70 เกิดภาวะนี้ โดยสังเกตจากอาการปวดเข่า เกิดปุ่มโปนข้างหัวแม่เท้า และปัญหารองช้ำ (Plantar fasciitis) หรืออาการปวดบริเวณอุ้งเท้าจนถึงส้นเท้า โดยเฉพาะก้าวแรกหลังจากตื่นนอนตอนเช้า หรือนั่งนาน ๆ แล้วลุกขึ้นยืน

เทคนิคดูแลเท้าที่เรารัก

– ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า รองเท้าที่ดีควรสูงไม่เกิน 1 นิ้ว และลักษณะส้นไม่ควรเป็นส้นเข็ม หรือเล็กเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้การทรงตัวเสียสมดุลแล้ว ยังทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายอีกด้วย

– ควรเลือกรองเท้าที่ยาวกว่าเท้าประมาณ 1 เซนติเมตร และไม่บีบนิ้วเท้าเกินไป เพราะโดยปกติขณะเราเดิน เท้าจะเคลื่อนไปด้านหน้าประมาณ 7 มิลลิเมตร ดังนั้น คนที่ใส่รองเท้าพอดีเกินไป จึงเกิดปัญหากับเล็บและนิ้วเท้า เป็นเหตุให้เล็บเสีย นิ้วเท้างุ้มงอ และเบียดกันได้

– เลือกรองเท้าที่มีพื้นสัมผัสนุ่ม หรือเสริมพื้นรองเท้า เพื่อช่วยลดแรงกระแทก เสริมแผ่นรองส้นหรือกันส้น เพื่อลดการเสียดสี ป้องกันผิวหนังด้าน และเกิดตาปลา

– ควรเลือกซื้อรองเท้าช่วงบ่าย ซึ่งเป็นช่วงที่เท้าขยายเต็มที่ และควรลองสวมรองเท้าทั้ง 2 ข้าง

– รองเท้าที่ดีต้องกระชับ ไม่คับหรือหลวมเกินไป ส้นเท้าอาจเลื่อนขึ้นลงได้เล็กน้อยขณะเดิน แต่ไม่ควรหลุดจากเท้า และเปลี่ยนความเชื่อที่ว่า รองเท้าคับจะยืดออกเมื่อใช้ไปสักพัก เพราะกว่ารองเท้าจะยืดออก เท้าของคุณอาจบาดเจ็บก่อนได้

– เมื่อมีอาการเจ็บหรือปวด ควรรีบหาสาเหตุ เพราะบางครั้งรองเท้าอาจหมดสภาพ หรือไม่เหมาะสมกับโครงสร้างเท้า และคุณอาจผ่อนคลายเท้าโดยการแช่น้ำอุ่น ร่วมกับการบริหารกล้ามเนื้อขาและเท้าอย่างง่าย โดยกระดกปลายเท้าขึ้นให้สุด จนรู้สึกตึงที่น่อง ค้างไว้ 10 วินาที ทำซ้ำ10 ครั้ง จะช่วยลดอาการปวดเมื่อยเท้าได้

ขอบคุณเรื่องจาก นิตยสาร ชีวจิต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook