“ฌอน ชวนล” POEM แบรนด์เสื้อผ้าหรูที่เริ่มต้นจากห้องเสื้อคุณแม่
“ผู้หญิงทุกคนมีความสวยของตัวเอง ความสวยเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าความงามนั้นมีอยู่จริงคือ ความมั่นใจ”โดย ฌอน ชวนล ไคสิริ
คุณฌอน ชวนล ไคสิริ ดีไซเนอร์และเจ้าของแบรนด์โพเอม (POEM) ว่าไว้อย่างนั้น โดยเฉพาะเอกลักษณ์โดดเด่นที่เน้นโครงสร้างของเสื้อผ้าเพื่อดึงความมั่นใจอันเป็นความงามแท้จริงซึ่งซ่อนอยู่ภายในตัวตนทุกคน
แฟชั่นโชว์สุดอลังการเพื่อฉลองอายุครบ 10 ปีของ POEM ที่ผ่านไป ในทางหนึ่งเหมือนเครื่องพิสูจน์ความสำเร็จของแบรนด์ หากแต่อีกนัยหนึ่งเป็นการแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของคุณฌอนกับงานเสื้อผ้าที่แม้จะเริ่มต้นจากห้องเสื้อเล็กๆ ของคุณแม่ แต่วันนี้ไม่มีดาราคนไหนไม่รู้จักและไม่อยากสวมเสื้อผ้าของ POEM
Sanook! Women กับบทสัมภาษณ์บอกเล่ากว่าจะมาเป็นวันนี้ของคุณฌอน โพเอม เส้นทางที่เกิดจากความรัก และไม่ยอมจำนนกับทุกปัญหาและอุปสรรค
ทราบว่าคุณเรียนสถาปัตย์ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องเสื้อผ้าเลย
ผมโตมากับคุณแม่ที่เป็นช่างเสื้อ ที่บ้านเป็นร้านเสื้อ แต่ผมเรียนจบจากคณะสถาปัตย์ จุฬา เกี่ยวกับการออกแบบสถาปัตยกรรม ไม่ได้เรียนเกี่ยวกับแฟชั่นมาก่อน แต่ตอนเรียนมีโอกาสได้ทำละครของคณะสถาปัตย์ตั้งแต่ปี 1- ปี 4 การทำละครทำให้ได้รู้จักเรื่องของการทำเสื้อผ้า คอสตูม แล้วส่วนใหญ่สถาปัตย์จะเป็นละครพีเรียดย้อนยุค ทำให้เราได้เริ่มลองทำเสื้อผ้า ทำให้เราได้ค้นหาตัวเองด้วย
ทำไมคุณตัดสินใจเลือกเรียนคณะสถาปัตย์
จริงๆ เรื่องการจะเดินรอยตามคุณแม่ไม่ได้อยู่ในหัวเลย แม่เป็นคนจีนสอนเราตั้งแต่เด็กว่าอยากให้ลูกเรียนเก่ง อยากให้เป็นสถาปนิก วิศวกร หรือหมอ เราค่อนข้างเป็นเด็กเรียน แม่ถามว่าอยากเรียนอะไร เราก็อยากเป็นสถาปนิก เพราะมีญาติเป็นสถาปนิก เห็นบรรยากาศการทำงานเลยชอบ เราชอบอ่านหนังสืออินทีเรียดีไซน์และหนังสือแฟชั่นด้วย เรามีสไตล์ที่เราชอบอยู่ในหัวแต่มันยังไม่มาถึงความเป็นแฟชั่นแค่นั้นเองครับ
คุณมีความฝันอยู่ก่อนแล้วหรือเปล่าถึงก้าวมาด้านนี้
ทุกอย่างมีขั้นตอนการคิด จะบอกว่ามีฝันหรือเปล่ามันก็ต้องมี ผมเชื่อว่าไม่เฉพาะอาชีพนี้แต่เป็นทุกอาชีพต่อให้เป็นหมอ เป็นครู รับราชการอะไรก็ตาม เขาต้องมีฝัน ทำให้เขาเกิด Passion ที่จะเดินตามฝัน ทำงานต่อไป แล้วพอเรามีฝันแล้ว เราจะเดินทางไปสู่ความฝันด้วยวิธีไหน ตอนเด็กๆ เราไม่ได้อยากเป็นช่างเสื้อ ไม่อยากเป็นดีไซเนอร์ แล้วเราพยายามยัดเยียดว่าเราอยากเป็นดีไซเนอร์มันก็ไม่ถูก สิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่เราแฮปปี้ พอใครถามผมก็จะบอกว่า “ผมโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวนี้ และมีสิ่งที่ซัพพอร์ตเรา หลายๆ คนคิดว่าไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองมี มองว่าคนโน้นคนนี้เขาดีกว่า แต่ผมว่าไม่ใช่นะ บางทีเรา เรามองดีหรือยังว่าสิ่งที่เรามีเอามาทำอะไรได้”
คุณเคยทำเสื้อผ้าออกมาขายด้วย จำได้ไหมว่าเสื้อตัวแรกที่คุณขายได้ ใครมาซื้อของคุณไป
ช่วงนั้นอินกับการทำเสื้อผ้าละครมาก เลยทำเสื้อออกมาไปฝากขายที่โรงหนังสยาม ซึ่งตอนนี้ไฟไหม้ไปแล้ว วันแรกทำไป 4 ตัว ไปฝากที่ร้านขายตอน 9 โมง พอเที่ยง ทางร้านโทรมาบอกว่าเสื้อขายไปได้แล้ว 2 ตัว ลูกค้าคนแรกคือพี่ลูกเกด จิรดา โยฮารา ซื้อเสื้อแจ๊คเกตเรียบๆ พิมพ์ลายดอกไม้ ครั้งแรกผลตอบรับดี ช่วงนั้นทำไปขายทั้งเดือน ขายได้เกือบหมด ทำอยู่ 3 เดือน ร้านหมดสัญญาเลยพักไว้ แต่ละเดือนรายได้ที่เข้ามามันเยอะกว่าเงินเดือนสถาปนิกที่เราเรียนมา เลยคุยกับแม่ว่า เรามาทำเสื้อผ้าขายดีกว่า เพราะคิดว่ามันดีกว่าสถาปนิก อีกอย่างช่วงนั้นแม่ไม่ค่อยมีงานด้วยเพราะเป็นยุคฟองสบู่ ช่างเสื้อเปลี่ยนอาชีพกันหมด
คุณเลยตัดสินใจเปิดร้านที่สยามตั้งแต่ยังเรียนไม่จบ
เรียนจบแล้วแต่ยังไม่ได้รับปริญญา ตอนนั้นตัดสินใจเปิดร้านในสยามเลย ค่าเช่าแพงนะ เดือนละแสนสอง แต่เราข้อมูลเยอะเพราะตอนจบเราเลือกทำวิทยานิพนธ์ทำเลอยู่ที่สยามเซ็นเตอร์ เราทำวิจัยอยู่ 1 ปี เลยรู้ว่าสถานที่นี้มีประวัติศาสตร์ในเชิงแฟชั่นของไทย เป็นแหล่งกำเนิดแฟชั่นของไทยอย่างไรบ้าง เลยไม่กลัวที่จะเปิดร้านที่นั่น มันเป็นทำเลที่ดีที่สุดในกรุงเทพฯ
เรียนทางสถาปัตย์ มันช่วยส่งเสริมด้านการออกแบบแฟชั่นอย่างไรบ้าง
สถาปนิกเวลาที่เขาออกแบบเขาออกแบบทุกๆ อย่าง จะมองทุกอย่างให้เป็นเหตุผลก่อนอย่างแรก ทำให้วิธีคิดทั้งหมดของการทำแบรนด์เสื้อผ้านี้เหมือนกัน ไม่ว่าการเลือกทำเล การทำพีอาร์ การออกแบบทุกๆ อย่างมันต้องมีเหตุผล ผมเป็นคนที่มอง เก็บข้อมูลเยอะ และพยายามมองอะไรให้มันละเอียดที่สุด ในขณะที่คนบอกว่าเสื้อผ้าของโพเอมเรียบ เหมือนจะไม่มีดีเทลอะไรเลย หลายๆ ครั้งที่เจ้าสาวมาตัดชุดแล้วแม่เจ้าบ่าวบอกว่าชุดเรียบมาก แต่เบื้องหลังของความเรียบ ดูง่ายมันมีเหตุผลของมันมาซัพพอร์ททุกอย่างแล้ว
ทำเลที่สยามเป็นทำเลปราบเซียน และการสร้างแบรนด์สักแบรนด์ขึ้นมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณเจอปัญหาอะไรบ้าง
ดีไซเนอร์ทุกคนต้องมีปัญหา เรื่องการสร้าง การหาตัวเองให้เจอ เราทำงานกับช่างก็เป็นเรื่องยากแล้ว คุณภาพของการตัดเย็บ อย่างงานฉลอง 10 ปีเดินพรมแดงที่ผ่านไป เราไม่ได้จ้างใครมาเดิน คนมาเพราะว่าเป็นแขก เป็นลูกค้า มันเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าประสบความสำเร็จในฐานะดีไซเนอร์ ช่างเสื้อ ผมทำให้ลูกค้าได้ใส่เสื้อของโพเอม ผมมีความสุขกับตรงนี้ นอกจากนี้มันมีสิ่งที่น่ากลัวของห้องเสื้อคือทำเล แล้วเหตุบ้านการณ์เมืองมันเปลี่ยนทุกอย่าง มันปิดทุกอย่าง นั่นคือสิ่งที่น่ากลัวที่สุด ไม่ว่าเทรนด์แฟชั่นจะมาแบบไหน เราไม่เคยมอง ไม่เคยสนใจ แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นจริงๆ แล้วมีผลกระทบที่สุดคือเหตุการณ์บ้านเมือง เราเชื่อว่าสถานการณ์ทางการเมืองส่งผลกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ
ระยะเวลาการตั้งตัวของแบรนด์นานแค่ไหน
ประมาณ 2-3 ปีเราเริ่มมีทิศทางในการออกแบบที่ชัดเจน เริ่มมีลูกค้าเป็นกลุ่มเป็นก้อน มีความชัดเจนแล้วพอผ่านช่างน้ำท่วม ไฟไหม้ ก็มีคอลเลคชั่นที่ดี แล้วก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เราเหมือนผ่านด่านทดสอบร้ายๆ แล้วตอนนั้นแบรนด์ดีไซเนอร์ไทยปิดตัวไปเยอะมาก เหมือนไม่ผ่านด่าน เราผ่านมาอย่างยากลำบาก คือโชคดีช่วงนั้นมีแม่อยู่ข้างๆ คอยให้คำปรึกษาด้วย
ดูเหมือนแม่จะมีอิทธิพลและความสำคัญกับคุณมาก
ตั้งแต่เด็กผมจำความได้ว่าตอนทำการบ้าน ตอนกินข้าวกับคุณแม่ จะนั่งทำที่โต๊ะแพทเทิร์นช่างเสื้อ จะนั่งดูแม่ทำงาน แต่แม่ไม่เคยสอนอะไร เราได้แต่มองแล้วเก็บข้อมูล จนถึงทุกวันนี้แม่ก็ไม่ได้สอน ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการเรียนรู้ การซึมซับ เราไม่ได้รู้สึกเบื่อ เห็นงานที่แม่ทำแต่เราเอามาเรียบเรียงใหม่ให้มันทันสมัยและดูน่าสนใจมากขึ้นครับ
ผมทำเสื้อมาสิบปี แต่แม่เพิ่งจะยอมรับว่าผมเป็นดีไซเนอร์ เป็นช่างเสื้อเมื่อประมาณ 6 ปีที่ผ่านมา 2 ปีแรกแม่คิดว่าไม่รอด คิดว่าจะไม่ได้ทำจริงๆ ให้เราลองหาตัวเอง แต่พอผ่านช่วงเสื้อแดง น้ำท่วม สยามไฟไหม้ ก็เริ่มมีความเชื่อในตัวเรา เราก็รู้สึกว่าเราไปข้างหน้าได้ แม่ก็สอนว่า ถ้าจะทำเสื้อผ้าสิ่งสำคัญที่สุดมี 2 เรื่องคืองานฝีมือ งานช่าง อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องสัดส่วน เห็น 500 เมตรจะรู้เลยว่าเป็นชุดสไตล์ของเรา
ความสวยงามในแบบฉบับโพเอมแบบที่เป็นรูปธรรมคืออะไรคะ
ถ้าเป็นรูปธรรมอย่างที่บอกคือ ความประณีต ถ้าเกิดนั่งทำงานอยู่กับช่าง จะรู้เลยว่าช่างที่มีฝีมือจะเย็บเสื้อได้ออกมาตามที่ผมวาดเท่านั้น ช่างมา 100 คนจะเหลือแค่ประมาณ 2 คนที่ทำได้ มันไม่ง่ายนะ มันเหมือนกับว่า มันไม่ใช่แค่ผ้าที่ดี ไม่ใช่แค่ใช้ผ้าแพง ไม่ได้ใช้แบบว่าคนหุ่นดี แต่งานช่างเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เป็นสิ่งที่ถ่ายทอดไปยังสินค้าที่แขวนอยู่ในร้าน ราวที่แขวนเสื้ออยู่ที่หน้าร้าน ลูกค้าหยิบไปลอง
สำหรับคุณ ผู้หญิงที่สวยต้องเป็นอย่างไรคะ
ผู้หญิงทุกคนมีความสวยของตัวเอง ความสวยเป็นนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ได้ว่าความงามนั้นมีอยู่จริงคือความมั่นใจ ต่อให้งานพรมแดงที่ผ่านมา ถ้าชุดของพี่เชอรี่ เข็มอัปสรเป็นชุดที่สื่อชมมากที่สุด เพราะสวยเรียบโก้ ดูแพง ต่อให้คนทั้งโลกชมว่าเขาสวย แต่ถ้าเขาไม่มีความมั่นใจ ความงามนั้นก็ไม่มีอยู่จริง ความงามมันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเล็กๆ แต่ทันใดที่เกิดขึ้นแล้ว มันจะมีพลังมหาศาล เป็นพลังที่ทำให้เขาสะกดคนทั้งประเทศได้ นี่เป็นประสบการณ์ที่ผมทำชุดให้เซเลบริตี้เดินพรมแดง มันไม่ใช่แค่ทำเสื้อให้เขาใส่ แต่มันต้องสร้างพลังให้เขา เขาต้องมีทัศนคติแง่บวกเกี่ยวกับตัวเขาเอง
ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งเดินมาหา บอกว่าอยากให้ทำเสื้อผ้าให้ ขั้นตอนเป็นอย่างไรบ้างคะ
ถ้าเป็นไปได้อยากนัดเจอกับเขาก่อน ส่วนใหญ่ที่มาหาก็จะเป็นลูกค้าเจ้าสาว มาตัดชุดแต่งงาน สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือผมจะสังเกต นิสัยเป็นอย่างไร บุคลิกเป็นอย่างไร คนที่มากับเขาเป็นอย่างไร อ่านให้ออกว่ากำลังทำชุดให้ใครอยู่ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะรู้จักกันอยู่แล้ว จะเป็นลูกค้าเก่าที่เรารู้จักเขาอยู่แล้วทางอินสตาแกรม เราจะรู้คาแรคเตอร์เขาเป็นอย่างไร เขามีอะไรที่เป็นจุดเด่น แต่ผมไม่ได้ทำให้ทุกคนนะ เราก็เลือกลูกค้า ถ้าอยู่ๆ เดินเข้ามา ต้องผ่านพนักงานหน้าร้านก่อน ต้องดูว่าเขาเป็นใคร มันไม่ใช่ทุกคน และไม่ใช่ทุกคนที่อยากเข้ามาหาผม เขามีตัวเลือกเยอะมาก
อะไรทำให้โพเอมอยู่มาถึง 10 ปี
ถ้าพูดในนามธรรมคือ ผมรักในงานที่ทำ โชคดีที่ได้ทำงานกับแม่ กับน้อง เราโชคดีที่ได้ทำงานที่รัก ตื่นเช้ามาเพื่อทำงานที่เราฝันไว้ ในเชิงกายภาพบอกเลยว่ามันคือคราฟแมน มันคือแพทเทิร์น มันคือเสื้อผ้าที่ทำให้คนใส่แล้วมีความมั่นใจ ไม่ว่าจะสิบปีร้อยปีผมว่ามันก็ยังอยู่ โพเอมจะเป็นแบรนด์ที่ทุกคอลเลคชั่นจะเล่นกับคอนเซ็ปต์เดิม เรามีเมนคอนเซ็ปต์ของการออกแบบเสื้อผ้าวิธีคิดที่เป็นแบบเดิมมาตลอด แต่มีวิธีเล่าแบบใหม่