รู้จัก 10 สุดยอดผู้หญิงเก่งผู้ทรงอิทธิพลของโลก
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการชิงตำแหน่งกันระหว่าง "ฮิลลารี คลินตัน" จากพรรคเดโมแครต และ "โดนัลด์ ทรัมป์" จากพรรครีพับลิกัน กำลังจะรู้ผลแล้ว ว่าใครจะได้ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หากอยากลุ้นแบบสดๆ ติดตามได้ที่นี่ คลิก!
จะเห็นได้ว่า ทุกวันนี้ผู้หญิงมีความสามารถในการทำงาน หรือเกือบทุกเรื่องเท่าเทียมกับผู้ชาย ผู้หญิงเริ่มได้รับการยอมรับจากสังคม มีบทบาทมากขึ้น รวมถึงบทบาทการเป็นผู้นำด้วย มาดูกันดีกว่าว่า "ผู้นำหญิงและผู้หญิงเก่งระดับโลก" จะมีใครบ้าง ตาม Sanook! Women มาค่ะ
1 "ฮิลลารี คลินตัน" (Hillary Diane Rodham Clinton) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา คนที่ 67 ในรัฐบาลประธานาธิบดีบารัก โอบามา อดีตสมาชิกวุฒิสภาจากรัฐนิวยอร์กในระหว่างปี ค.ศ. 2001 - 2009 ระหว่างปี ค.ศ. 1993 - 2001 ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2008 เธอเคยลงสมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีด้วย แต่พ่ายแพ้ให้บารัก โอบามา ต่อมาในปี ค.ศ. 2016 ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 2016 เธอได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครต และช่วงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับโดนัลด์ ทรัมป์ นักธุรกิจจากรัฐนิวยอร์ก นับเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นตัวแทนพรรคในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
2 "กริสตีนา เอลิซาเบต เฟร์นันเดซ เด กีร์ชเนร์" (Cristina Elisabet Fernández de Kirchner) คือประธานาธิบดีคนปัจจุบันของประเทศอาร์เจนตินา และภริยาอดีตประธานาธิบดีเนสตอร์ กีร์ชเนร์ เธอจบการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ลา ปลาตา และพบกับสามีของเธอที่นั่น เธอเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนที่สองที่ได้รับตำแหน่ง
3 "เอลเลน จอห์นสัน เซอร์ลีฟ" (Ellen Johnson Sirleaf) เป็นประธานาธิบดีไลบีเรียคนที่ 24 และคนปัจจุบัน เธอเคยดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีคลังในสมัยประธานาธิบดีวิลเลียม โทลเบิร์ต ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถึงรัฐประหารใน พ.ศ. 2523 หลังจากนั้นเธอเดินทางออกนอกไลบีเรียและดำรงตำแหน่งอาวุโสในสถาบันทางการเงินหลายแห่ง ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน พ.ศ. 2540 เธอได้คะแนนเป็นอันดับสองโดยทิ้งห่างผู้ชนะอยู่มาก ภายหลัง เธอได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในการเลือกตั้งประธานาธิบดีใน พ.ศ. 2548 และดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2549 เซอร์ลีฟเป็นประมุขแห่งรัฐคนแรกและ (จนถึงปัจจุบัน) คนเดียวที่เป็นหญิงมาจากการเลือกตั้งในแอฟริกา
เซอร์ลีฟเป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำ พ.ศ. 2554 โดยให้เหตุผลว่า "เพื่อการต่อสู้โดยปราศจากความรุนแรงต่อความปลอดภัยของสตรีและสิทธิสตรีที่จะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในงานสร้างสันติภาพ"
4 "ไช่ อิงเหวิน" (Cài Yīngwén) เป็นประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว เธอเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าคนปัจจุบัน และเป็นตัวแทนของพรรคเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในการเลือกตั้งเมื่อปี 2016 ตำแหน่งซึ่งเธอพลาดไปในการเลือกตั้งปีเมื่อปี 2012 นอกจากนี้ เธอยังเคยเป็นหัวหน้าพรรคมาแล้วหนึ่งสมัยในช่วงปี 2008 ถึง 2012
5 "พัก กึน-ฮเย" (Park Geun-hye) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 11 และเป็นคนปัจจุบันของสาธารณรัฐเกาหลี "พัก" เป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเกาหลีใต้ และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศในภูมิภาคเอชียตะวันออกเฉียงเหนือ และเป็นประมุขหญิงของรัฐในภูมิภาคประเทศเอเชียตะวันออกลำดับที่สามต่อจากมาดามชุคบาตาร์ แห่งมองโกเลียและซ่ง ชิ่งหลิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน
ในปี พ.ศ. 2556 ถึงปี พ.ศ. 2557 พักอยู่ในลำดับที่ 11 จากการจัดลำดับสตรีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดของโลก ของนิตยสารฟอบส์ และเป็นสตรีที่ทรงอิทธิพลที่สุดในเอเชียตะวันออก ในปี พ.ศ. 2557 พักอยู่ในลำดับที่ 46 จากการจัดลำดับบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลกของฟอบส์ ซึ่งเป็นลำดับที่สูงสุดลำดับที่สามต่อจากอี คุน-ฮี และอี แจ-ยง
6 "เทเรซา แมรี เมย์" (Theresa Mary May) คือนักการเมืองชาวบริติช ผู้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร และหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2559 รัฐมนตรีกระทรวงปิตุภูมิของสหราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2553-2559 และสมาชิกรัฐสภาจากเขตเมเดนเฮดตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ทั้งยังเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยม-ประเทศเดียว ผู้สนับสนุนการรวมตัวของประเทศต่างๆ ในสหราชอาณาจักรต่อไป นอกจากนี้เมย์ยังเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยมเสรีด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เธอได้รับการคาดหมายว่าจะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรต่อจากนายเดวิด แคเมอรอนหลังการเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้
7 "ออง ซาน ซูจี" (Aung San Suu Kyi) เป็นนักการเมืองชาวพม่าและประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ผู้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีประจำทำเนียบประธานาธิบดี
ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2533 NLD ได้คะแนนเสียงทั้งประเทศ 59% และที่นั่ง 81% (392 จาก 485 ที่นั่ง) ในรัฐสภา ทว่า เธอถูกควบคุมตัวในบ้านก่อนการเลือกตั้ง เธอยังอยู่ภายใต้การควบคุมตัวในบ้านในประเทศพม่าเป็นเวลาเกือบ 15 จาก 21 ปีตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2532 จนการปล่อยตัวครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2553 ทำให้เธอเป็นนักโทษการเมืองที่ขึ้นชื่อที่สุดคนหนึ่งของโลก
ในปี 2557 นิตยสารฟอร์บส์จัดให้เธอเป็นหญิงทรงอำนาจที่สุดในโลกอันดับที่ 61
ในการเลือกตั้งทั่วไปปี พ.ศ. 2558 พรรค NLD ได้คะแนนเสียงทั้งประเทศ 86% (255 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎรและ 135 ที่นั่ง ในสภาเชื้อชาติ) ทว่า เธอซึ่งเป็นประธานพรรค NLD ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเนื่องจากมีข้อห้ามในรัฐธรรมนูญ
8 "ดาลิอา กรีเบาส์ไกเต" (Dalia Grybauskaite) เป็นประธานาธิบดีลิทัวเนีย เข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2552 และได้รับเลือกตั้งใหม่ในเดือนพฤษภาคม 2557 เธอเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกและเป็นประธานาธิบดีคนแรกที่ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง
เธอเคยเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตลอดจนกรรมาธิการยุโรปเพื่อการวางแผนงานการคลังและงบประมาณตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2552 เธอมักได้รับขนานนามว่า "สตรีเหล็ก" และ "แมกโนเลียเหล็กกล้า"
9 "อังเกลา โดโรเธีย แมร์เคิล" (Angela Dorothea Merkel) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของเยอรมนี ซึ่งได้รับการเลือกตั้งสู่รัฐสภาเยอรมันจากรัฐเมคเลนบูร์ก-ฟอร์พอมเมิร์น เป็นประธานพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน(CDU) ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2543 และเป็นประธานกลุ่มพรรคสหภาพประชาธิปไตยคริสเตียน-สหภาพสังคมคริสเตียนในรัฐสภาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 จนถึง พ.ศ. 2548
นางแมร์เคิลเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศเยอรมนี นางได้รับการเลือกจากนิตยสาร Forbes ให้เป็นสตรีที่ทรงอำนาจมากที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2550 นางแมร์เคิลยังเป็นสตรีคนที่สองในการเป็นประธานกลุ่มประเทศจีแปดต่อจากนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์อีกด้วย
จิลมา วานา รูเซฟ (Dilma Vana Rousseff) เป็นประธานาธิบดีคนที่ 36 ของประเทศบราซิล โดยรับตำแหน่งตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2554 และเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศ ซึ่งดำรงตำแหน่งหลังจากลูอิส อีนาซีอู ลูลา ดา ซิลวา ประธานาธิบดีคนก่อนหน้า นางรูสเซฟได้รับการลงมติอย่างเป็นทางการให้พ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2559 จากคดีละเมิดกฎหมายงบประมาณ โดยมีแชล เตเมร์ รองประธานาธิบดีบราซิลขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนถัดไป
10 "จูเลีย ไอลีน กิลลาร์ด" (Julia Eileen Gillard) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของออสเตรเลีย และเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลียและเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกที่ยังไม่เคยผ่านการสมรสมาก่อน เธอได้รับเลือกเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในฐานะผู้แทนของเขตเลือกตั้งลาเลอร์ ในปี ค.ศ. 1998 จากนั้นในปี ค.ศ. 2001 หลังจากที่พรรคแรงงานพ่ายแพ้การเลือกตั้ง เธอได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของคณะรัฐมนตรีเงาในตำแหน่งรัฐมนตรีเงา กระทรวงประชากรและการอพยพย้ายถิ่น ในเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2006 เธอได้เป็นรัฐมนตรีเงากระทรวงสาธารณสุข ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2006 หลังจากชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 ภายใต้รัฐบาลของเควิน รัด เธอเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลีย พร้อมตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงแรงงาน และสวัสดิการสังคม ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2010 เธอดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของออสเตรเลีย หลังจากชนะเลือกตั้งภายในพรรคแรงงาน แต่เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2013 เธอก็แพ้การเลือกตั้งภายในพรรคให้กับอดีตหัวหน้าเควิน รัดด์ หลังจากผลสำรวจความคิดเห็นระบุว่าพรรคแรงงานจะแพ้การเลือกตั้งปี พ.ศ. 2556
และจะไม่พูดถึงคงไม่ได้ สำหรับ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 28, นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย จัดว่าเป็นนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 60 ปี "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556 และรักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการรักษาการในวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เนื่องจากการย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ