อาการปวดหลัง เพราะขับรถ

อาการปวดหลัง เพราะขับรถ

อาการปวดหลัง เพราะขับรถ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนคงเป็นเหมือนกัน นั่นก็คืออาการปวดหลังจากการขับรถ เพราะสมัยนี้รถบนท้องถนนก็มากขึ้น ทำให้ช่วงเวลาที่เราต้องขับรถเดินทางทั้งไปและกลับบ้านนั้น ยาวนานขึ้น ส่งผลให้มีความรู้สึกปวดหลังขึ้นมา หรืออาจจะเป็นอาการปวดจากการขับรถทางไกลไปต่างจังหวัด เราจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร...

1. ไม่ควรให้ร่างกายค้างอยู่ท่าเดียวนานๆ เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดขึ้นมา หรือหากจำเป็นต้องอยู่ท่าเดิมนานๆ นั้นควรจะอยู่ในท่าที่เรารู้สึกสบาย

2. ไม่ควรให้หลังของเรานั้น อยู่ในท่าโค้งหรือมีการบิดตัว เพราะท่าแบบนี้ กล้ามเนื้อและเอ็นด้านหลังจะถูกยืดนานๆ หมอนรองกระดูกสันหลังจะมีแรงกดมากกว่าในท่านั่งหลังตรงหรือท่ายืนตรง เพราะฉะนั้นการนั่งควรยืดหลังให้ตรง

3. สำหรับคอ ไม่ควรก้มหรือเงยมากเกินไป เพราะจะทำให้ส่วนบ่าและไหล่ ทำงานหนักมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลไปถึงอาการปวด

4. ควรพักผ่อนสายตาเมื่อรู้สึกอ่อนล้าและลดอาการเครียด เนื่องจากความเมื่อยล้าของสายและความเครียดนั้นมีผลต่ออาการเกร็งของกล้ามเนื้อ

การปรับเบาะขณะขับรถควรปรับให้เหมาะสมและตรวจดูความเหมาะสมของอุปกรณ์เหล่านี้ ทุกครั้งก่อนขับรถ โดยอาศัยหลักการดังต่อไปนี้

1. ปรับระยะนั่งใกล้-ไกล
โดยให้ขาเหยียบคันเร่งพอดีและสามารถขยับเท้ามาเหยียบเบรกได้ง่ายและรวดเร็ว และระยะห่างนี้ต้องไม่ทำให้เข่าและสะโพกงอมากนัก เพราะการงอมากของเข่าและสะโพกจะทำให้กระดูกข้อเท้าลำบากทำให้ต้องยกขาเมื่อต้องขยับเท้าไปมา ขณะเดียวกันการเหยียดขามากไปจะทำให้ตัวและขาอยู่ในรูปคล้ายตัวแอล ซึ่งมีผลต่อการเหยียบเบรกและคันเร่งเช่นกัน คือแรงจะลดลง เพราะสามารถใช้ปลายเท้าเหยียบได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้แรงจากเข่าและสะโพกได้ ร่างกายที่อยู่ในรูปตัวแอล จะมีผลทำให้หลังส่วนล่างโค้งมาก และเส้นประสาทสันหลังและขาตึงตัวมาก จะมีผลเสียคือ กล้ามเนื้อล้าง่าย ด้านหน้าของหมอนรองกระดูกมีแรงกดมากทำให้หมอนรองกระดูกมีโอกาสปลิ้นไปด้าน หลังสูง ท่านั่งนี้จึงทำให้เกิดอาการปวดหลังได้ง่าย ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงท่านั่งนี้ ที่เราอาจพบได้บ่อยในผู้ที่ใช้เก๋งเตี้ยๆ

2. การปรับความเอียงของเบาะพิงหลัง
จะมีความสัมพันธ์กับการปรับใกล้ไกล มุมการมอง และการจับพวงมาลัย คือเมื่อปรับขาให้พอดี ตัวอาจจะห่างไป ทำให้ต้องปรับเบาะพิงชันขึ้นมา แต่การปรับเบาะชันขึ้นมาอาจมีผลทำให้หลังและขาเป็นรูปคล้ายตัวแอลดังข้อ 1 แต่ก็มีข้อดีเมื่อตัวตั้งตรงคือ ทำให้ไม่ต้องงอคอมากนัก บ่าและคอจึงไม่เมื่อย ดังนั้นความเอียงของเบาะควรอยู่ในระดับที่เมื่อขับรถแล้ว ไม่มีความรู้สึกว่าต้องใช้แรงในการยกคอและศีรษะขึ้นมาตั้งตรง

3. ปรับการเอียงของเบาะนั่ง
มีความจำเป็นอีกเช่นกัน เพราะหากเบาะนั่งให้มีการชันตัวมาก จะมีผลทำให้เกิดการกดของด้านหน้าของเบาะต่อด้านหลังเข่าของผู้ขับขี่ ซึ่งด้านหลังเข่านี้ มีหลอดเลือดและเส้นประสาทจำนวนมาก หากมีการกดทับจะทำให้เกิดอาการชา และอ่อนแรงของขาได้ ดังนั้นควรปรับให้เบาะด้านหน้าสูงพอที่ระรับน้ำหนักขาได้ โดยที่ขาไม่ลอยสูงจากเบาะ แบบลักษณะเข่าชัน และเมื่อขับรถและมีการกดคันเร่งค้างนานๆ ด้านหน้าของเบาะต้องไม่กดหลังเข่า

4. ปรับความสูงต่ำของเบาะ
โดยเฉพาะรถใหม่ๆ มักจะสามารถปรับได้ หลายๆ คนอาจมองว่าไม่เกิดประโยชน์ เพราะตัวสูงอยู่แล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ที่ตัวสูงก็ต้องใช้ เพราะถ้าเบาะเตี้ยจะทำให้ต้องปรับเบาะรถห่างจากพวงมาลัยมากขึ้นส่งผลต่อการ งอของหลัง การปรับเบาะรถให้สูงขึ้นจะมีผลทำให้ท่านั่งขับรถคล้ายกับการนั่งเก้าอี้มาก ขึ้น ดังเห็นได้จากรถตู้หรือรถ MPV ที่มักต้องนั่งขับในท่าหลังตรงๆ และแน่นอนท่านี้ศีรษะและคอก็จะอยู่ในแนวตรง ไม่จำเป็นต้องงอคอขึ้นมา และในผู้ที่ตัวไม่สูง ก็สามารถ ปรับความสูงของเบาะเพื่อให้เหยียบถนัดขึ้น

5. ปรับมุมของพวงมาลัย จะขึ้นอยู่กับการปรับเบาะต่างๆ ด้วย
ให้ปรับทุกอย่างเสร็จแล้วค่อยมาปรับพวงมาลัย แต่ถ้าปรับพวงมาลัยสุดแล้วยังรู้สึกไม่พอดี ต้องปรับจากข้อ 1 ถึง 4 ใหม่อีกครั้ง ตำแหน่งและระยะการจับพวงมาลัยมีความสำคัญมาก เพราะมีผลต่อการควบคุม พวงมาลัยของรถทำให้บังคับรถได้ง่ายหรือยากได้ ระยะและระดับที่เหมาะสมคือ ระยะที่เมื่อวางมือแล้ว สามารถหมุนพวงมาลัยได้คล่อง ไม่มีการติดขัดหรือมีความรู้สึกว่าต้องเอื้อม ขณะเดียว กัน กล้ามเนื้อบ่าและไหล่ต้องไม่เกร็งเพื่อที่จะถือแขนให้อยู่กับพวงมาลัยนานๆ

6. การปรับระยะพวงมาลัยเข้าใกล้หรือไกล
รถรุ่นใหม่ๆ อาจสามารถปรับระยะใกล้ หรือไกลของพวงมาลัยได้ คือเราสามารถดึงพวงมาลัยเข้าใกล้หรือผลักออกไปไกลได้ การปรับนี้มีข้อดี ที่เมื่อปรับระยะใกล้ ไกล และปรับพนักพิงแล้ว อาจทำให้แขนต้องเอื้อมจับหรือแขนอยู่ชิดพวงมาลัยมากเกินไป การปรับนี้จะช่วยให้เราสามารถจับพวงมาลัยได้ถนัดขึ้น

7. ปรับกระจกส่องข้างและหลัง
จะเป็นการปรับหลังสุด หลังจากปรับส่วนอื่นๆ เสร็จแล้ว โดยยึดหลักการที่ว่า เมื่อนั่งโดยไม่ต้องขยับศีรษะหรือโยกตัวเราสามารถมองเห็นในจุดที่เราต้องการ ได้ หากการมองยังมีจุดบอดแสดงว่าอาจต้องใช่อุปกรณ์ เสริม เช่น ติดกระจกส่องหลังบานใหญ่ขึ้น หรือกระจกโค้ง เพื่อให้เห็นได้ครอบคลุมขึ้น แต่อาจมีผลเรื่องการกะระยะบ้างเพราะภาพจากประจกโค้งจะหลอกตา

เทคนิคที่กล่าวมานั้นควรอยู่ภายใต้ความปลอดภัยในการขับขี่ด้วย หากปรับให้สบายตัว แต่ไม่ปลอดภัยก็ไม่ถือว่าเป็นการปรับที่ดี ที่สำคัญในการปรับนั้น ควรปรับเมื่อรถอยู่นิ่ง ไม่ควรปรับเมื่อรถวิ่งอยู่ โดยเฉพาะการเลื่อนเบาะและปรับมุมพนักพิง ที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อการขับขี่ได้ค่ะ

photo : istockphoto.com

ติดตามคอลัมน์อื่นๆ เพิ่มเติม ดาวน์โหลดนิตยสารในเครือจีเอ็มได้แล้วที่   

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook