10 วิธีดูแลลูกแมวตัวน้อย
การรับแมวเหมียวตัวน้อยมาอยู่ในบ้านนั้นเป็นเรื่องง่าย แต่การดูแลให้เขามีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงนั้นยากกว่าเป็นหลายเท่า คอลัมน์ Holistic Health Series ฉบับนี้จึงขอรวบรวม 10 วิธีการดูแลลูกแมวตัวน้อยมานำเสนอ เรื่องยากๆจะได้กลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนรักแมวทุกคน
1. ให้อาหารที่ถูกต้อง
Feed Him Right
อาหารคือปัจจัยที่สำคัญที่สุดสำหรับเจ้าเหมียว (และสัตว์อื่นๆ) ฉะนั้นการเลือกสรรอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมในแต่ละช่วงวัยและความต้องการพิเศษของสายพันธุ์คือสิ่งที่คุณไม่ควรมองข้าม เพื่อพัฒนาการทางร่างกายจะได้เจริญเติบโตอย่างราบรื่นไม่มีติดขัด
ปัจจุบันนี้ท้องตลาดมีอาหารสำเร็จรูปนับไม่ถ้วนรอให้คุณหยิบไปให้เจ้าเหมียวตัวน้อยที่บ้าน คำแนะนำง่ายๆของเราก็คืออ่านฉลากข้างถุงให้เป็น ดูซิว่าอาหารดังกล่าวนั้นเหมาะสำหรับช่วงวัยใด สายพันธุ์ไหน ส่วนเรื่องรสชาตนั้นเจ้าเหมียวต้องเป็นฝ่ายตัดสิน
ทั้งนี้หากบ้านของคุณมีเจ้าตูบอยู่ด้วย เราขอเตือนไว้เลยว่าอาหารของสุนัขไม่เหมาะสำหรับแมว หมั่นคอยสังเกตด้วยล่ะว่าเจ้าเหมียวเข้าไปมั่วกินอาหารหรือเปล่า ถ้าใช่ล่ะก็เก็บอาหารให้มิดชิด เพื่อชีวิตอันสดใสของแมวน้อย ...อย่าลืมล่ะ
2. หาสัตวแพทย์
Find a Veterinarian
แมวเด็กย่อมต้องการการดูแลจากสัตวแพทย์มากกว่าแมวโต ทั้งนี้ก็เพราะเขาจำเป็นที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนและตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ การมองหาสัตวแพทย์ประจำตัวจึงไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ต้องรอให้มีปัญหาสุขภาพก่อนค่อยพาไปคลินิกอีกต่อไป
ปัจจัยที่คุณควรใช้ในการคัดเลือกสัตวแพทย์ประจำตัวนั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของคุณเอง บางท่านอาจไม่หวั่นหากต้องเดินทางไกลเพื่อพบสัตวแพทย์ที่ศึกษาด้านแมวเหมียวมาโดยเฉพาะ บางท่านก็อาจเน้นที่ความสะดวกสบายใกล้บ้านเป็นหลัก ฯลฯ คำแนะนำของเราก็คือเลือกให้ตรงใจที่สุดเท่านั้นก็พอ
3. ขนสวย = สุขภาพดี
Groom for Health
จริงอยู่ว่าน้องเหมียวเป็นสัตว์รักสะอาด พวกเขาสามารถเลียขนเพื่อทำความสะอาดตัวเองได้ตั้งแต่ยังละอ่อน แต่คุณเองก็สามารถช่วยเหลือเขาในการทำความสะอาดตัวเองได้ง่ายๆเช่นเดียวกัน หมั่นช่วยเขาหวีขนบ่อยๆเพื่อกำจัดขนที่หลุดร่วง นอกจากจะช่วยเพิ่มสุขอนามัยให้เขาแล้ว ยังเป็นการสร้างสัมพันธ์ระหว่างกันและกันอีกทางหนึ่งอีกต่างหาก
4. ป้ายชื่อเพื่อความปลอดภัย
Tag for Safety
ว่ากันว่าแมวเหมียวนั้นมีความเป็นตัวของตัวเองมากกว่าน้องหมา พวกเขาสามารถออกไปเที่ยวนอกบ้านเป็นวันๆได้โดยกลับมาเฉพาะตอนหิวข้าว ในเมื่อไลฟ์สไตล์ของเขาอยู่ไม่ติดบ้าน อะไรล่ะที่จะช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าเหมียวของคุณจะปลอดภัยเมื่ออยู่ภายนอก
คำแนะนำของเราก็คือปลอกคอและป้ายชื่อค่ะ ใส่ให้เจ้าเหมียวของคุณตั้งแต่ยังเด็ก เพื่อที่ว่าเวลาออกไปนอกบ้านคนอื่นจะได้รับรู้ว่าเขาเป็นใครมาจากไหน ยิ่งไปกว่านั้นควรระบุรายละเอียดให้ชัดเจนลงไปในป้ายชื่อด้วยว่าเจ้าของคือใคร เบอร์ติดต่ออะไร เผื่อฉุกเฉินจะได้ตามได้
นอกเหนือการคล้องป้ายและปลอกคอแล้ว วิธีการเพิ่มความปลอดภัยอีกอย่างก็คือพาเขาไปแนะนำตัวกับเพื่อนบ้านที่ไว้ใจได้ เพื่อให้เขาเป็นหูเป็นตาเวลาเจ้าเหมียวของคุณออกไปป่วนนอกบ้าน จะได้ช่วยกันจับไว้ไม่ให้ไปไกลบ้านเกินไป
5. สั่งสอนตามสมควร
Teach your Kitten well
การเลี้ยงแมวเหมียวสักตัวนั้นไม่ใช่เรื่องยาก การฝึกพวกเขาให้เป็นแมวที่ดีนั้นยิ่งง่ายเข้าไปใหญ่ ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมตามธรรมชาติของเขานั้นเป็นระเบียบอยู่แล้ว ขอแค่เวลาในการเอาใจใส่อย่างจริงจังจากคุณเท่านั้นก็เพียงพอ
โดยการฝึกที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตแมวบ้านก็คือการใช้กระบะทรายในการขับถ่าย หมั่นฝึกฝนตั้งแต่ยังเยาว์เพื่อสร้างการจดจำและนำไปสู่พฤติกรรมอันเป็นนิสัย เคล็ดลับที่เราอยากแนะนำก็คือหามุมเหมาะในการปลดทุกข์ ซื้อกระบะและทรายแมวจากร้านขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยงมาเตรียมไว้ ขั้นตอนต่อไปก็คือหมั่นจับเขาไปนั่งในกระบะเมื่อสังเกตเห็นว่าเขากำลังจะทำธุระ ทำซ้ำๆจนให้เขาก้าวเข้ากระบะไปทำธุระด้วยตนเอง เพียงเท่านี้บ้านคุณก็จะเป็นระเบียบเรียบร้อยได้อย่างง่ายๆ
6. แมวต้องฝนเล็บ
Gotta Scratch
คุณอยากให้เฟอร์นิเจอร์เป็นรอยอันเนื่องมาจากพฤติกรรมฝนเล็บตามบรรพบุรุษของแมวเหมียวหรือเปล่า ถ้าคำตอบของคุณคือไม่ล่ะก็ หาซื้ออุปกรณ์ฝนเล็บมาให้เขาอย่างด่วน เพื่อที่ข้าวของเครื่องใช้ในบ้านของคุณจะปลอดภัยจากการขูดขีดด้วยกงเล็บ
การเลือกซื้อที่ฝนเล็บสักชิ้นนั้นไม่มีอะไรยาก คุณสมบัติและประโยชน์ในการใช้สอยแปรผันตามขนาดและราคา บางชิ้นคุณสามารถนำไปตั้งเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหนึ่งได้เลยในบ้าน เจ้าเหมียวก็สามารถนอนได้ฝนเล็บได้ ครบคุณสมบัติในชิ้นเดียว หรือบางชิ้นก็อาจเป็นแค่ที่ฝนเล็บอย่างเดียวเท่านั้น คุณจะเลือกอะไรก็ตามแต่ความสบายใจได้เลย
7. อย่าลืมการออกกำลังกาย
Exercise, exercise
การออกกำลังกายสำคัญสำหรับทุกสิ่งมีชีวิต แมวเหมียวเองก็เช่นกัน หากเขาได้ยืดเส้นยืดสายอย่างเพียงพอ โรคภัยไข้เจ็บก็จะไม่ถามหา ไม่ว่าจะเป็น โรคอ้วน การขับถ่ายบกพร่อง ฯลฯ ยิ่งไปกว่านั้นยังช่วยส่งเสริมความเป็นมิตรให้เขาร่าเริงสดใสตลอดเวลาอีกต่างหาก
ในเมื่อการออกกำลังกายนั้นมีผลดีมากมายขนาดนี้ คุณสมควรต้องส่งเสริมให้ถึงที่สุด จัดหาพื้นที่ในการออกกำลังกายให้เขา ซื้อหาของเล่นมาเตรียมพร้อม เพียงเท่านี้อาณาจักรสุขภาพของเหมียวก็เกิดขึ้นได้ง่ายๆภายในบ้านของคุณเอง
8. เตรียมตัวเผื่อฉุกเฉิน
Prep for Emergencies
เพราะเราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าเหตุฉุกเฉินจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ การเตรียมการไว้ก่อนจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ไม่ควรละเลย อย่าลืมติดต่อสอบถามสัตวแพทย์ใกล้บ้านให้เรียบร้อยว่าสามารถติดต่อได้ในกรณีฉุกเฉินหรือไม่ หากไม่มีอย่าลืมหาคลินิกสำรองไว้ด้วย เวลาฉุกละหุกจะได้ไม่ต้องวุ่นวายอย่างไรล่ะ
9. ดูแลเขาให้ถูกต้องถูกวิธี
Treat him right
การป้องกันนั้นดีกว่าการรักษาเมื่อยามเจ็บป่วย ฉะนั้นเมื่อรับเจ้าเหมียวตัวน้อยเข้ามาอยู่ในอ้อมกอด อย่าลืมพาเขาไปรับวัคซีนให้ครบตามกำหนดนัดหมาย อายุเดือนครึ่งก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อม สัตวแพทย์นัดเมื่อไหร่ต้องไปห้ามพลาดเป็นอันขาด เพราะวัคซีนแต่ละชนิดหมายความถึงการป้องกันโรคร้ายที่หากเป็นขึ้นมาล่ะก็จะรักษาลำบาก ไม่ว่าจะเป็น โรคไข้หัดหวัดแมว โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว ฯลฯ
นอกจากการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคแล้ว การถ่ายพยาธิคือสิ่งหนึ่งที่คุณไม่ควรละเลย อย่าลืมปรึกษาสัตวแพทย์ให้เขาจัดตารางที่เหมาะสมให้กับเจ้าเหมียวของคุณด้วยล่ะ อ๊ะๆ...เท่านี้ยังไม่หมดนะจ๊ะ อย่าลืมเรื่องการดูแลทำความสะอาดหู ตา จมูก และส่วนต่างๆของร่างกาย เพราะความสะอาดคือสิ่งที่ห้ามพลาดเป็นอันขาด
10. พิจารณาเรื่องทำหมัน
Spay or Neuter Early
ข้อสุดท้ายที่เราอยากฝากก็คือการทำหมันแมวเหมียว หากคุณไม่อยากให้เขามีลูกมีหลานหรือเลี้ยงเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ล่ะก็ ตัดสินใจทำหมันไปเลยเมื่ออายุครบเกณฑ์ (ปัจจุบันนี้สามารถทำหมันได้ตั้งแต่อายุครบ 10 สัปดาห์) ซึ่งการทำหมันนั้นจะช่วยลดปัญหาพฤติกรรมฉี่เพื่อสร้างอาณาเขตในแมวหนุ่ม รวมทั้งช่วยให้เขาไม่ต้องออกไปเสาะหาคู่ครองนอกบ้าน อันเป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้ง่ายๆ สำหรับแมวสาวนั้นการทำหมันจะช่วยป้องกันโรคมะเร็งเต้านม และลดพฤติกรรมก้าวร้าวเมื่อถึงช่วงเวลาผสมพันธุ์
อย่างไรก็ตามการตัดสินใจทำหมันหรือไม่ทำขึ้นอยู่กับคุณแต่เพียงผู้เดียวค่ะ
ทั้ง 10 ข้อ ที่เรานำเสนอไปนั้น ขอรับประกันความพอใจค่ะว่าอ่านจบ คุณสามารถเลี้ยงเจ้าเหมียวตัวน้อยของคุณให้เติบโตมาอย่างแข็งแรงสดใสแน่นอน...ฟันธง