เรื่องเศร้า 7 ประการ ที่ทำให้คุณไม่ถูกเรียกไปสัมภาษณ์งาน!

เรื่องเศร้า 7 ประการ ที่ทำให้คุณไม่ถูกเรียกไปสัมภาษณ์งาน!

เรื่องเศร้า 7 ประการ ที่ทำให้คุณไม่ถูกเรียกไปสัมภาษณ์งาน!
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

เรื่องโดย Localita

เศรษฐกิจ แย้..แย่ งานก็หา ย้าก..ยาก  ทำงานที่เดิมมา 3 ปี ก็อยากเปลี่ยนงานใหม่ อยากได้ความท้าทาย อยากได้ความมั่นคงที่มากขึ้น และเงินเดือนที่มากขึ้น ก็ฉันมีประสบการณ์แล้วนี่นา

ตกงานมา 4 เดือนแล้ว เงินเก็บก็เริ่มหมด พ่อแม่ก็เริ่มบ่น อยากลงทุนทำอะไรเป็นของตัวเอง ก็ติดตรงไม่มีเงินทุนนี่แหละ สมัครงานไป 17 ที่ ก็ไม่เรียกมาเลยซักที่เดียว 

หนูเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ อยากทำงาน แต่ไม่เคยมีประสบการณ์ แล้วจะเอาอะไรไปสู้คนทำงานมาหลายปีได้เนี่ย...

ทุกข์ของคนวัยทำงาน ก็หนีไม่พ้นปัญหาแบบนี้เมื่อคิดจะเริ่มต้นใหม่ แต่ขณะที่คุณกำลังรอว่าเมื่อไหร่หนอ...บริษัทที่เราส่งใบสมัครไปจะเรียกตัวไปสัมภาษณ์ซักที

แต่คุณรู้บ้างไหมว่า บางครั้งความพร้อมที่คุณคิดว่าพอแล้ว เตรียมตัวดีแล้ว ใบสมัครก็สวยงามเรียบร้อยครบถ้วน ประสบการณ์เยี่ยม ผลการเรียนก็ยอด ถ้าไม่เกียรตินิยมก็ต้อง 3.5 อัพตลอด กิจกรรมก็ทำ อบรมที่ไหนมีก็ไป ร่ายผลงานชีวิตอย่างละเอียดในใบสมัครงานแสนจะเพอร์เฟคท์จนน่าหมั่นไส้ แต่สุดท้าย...มันก็อาจจะมีเรื่องของ "โชคและดวง" เป็นตัวแปร ที่ทำให้คุณอกหักจากการสมัครงาน...

มีเรื่องจริงที่เจ็บปวดของการสมัครงานมาตีแผ่ให้คุณได้รู้ไว้....ไม่ใช่จะเอามาบอกกันเพื่อให้ท้อถอย แต่ทั้งหมดทั้งมวลคือสิ่งที่เป็นไปแล้วจากประสบการณ์ของคนที่สมัครงานแล้วไม่สมหวัง

1. ถูกปฏิเสธตั้งแต่เห็นใบสมัคร

ร้อยทั้งร้อยของคนสมัครงานก็ต้องมีความหวังว่าจะถูกเรียกไปสัมภาษณ์ทุกที่ๆ ส่งใบสมัครไป แต่มีเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ใบสมัครจะเตะตาฝ่ายบุคคล หลากหลายเหตุผลที่ทำให้การสมัครงานครั้งนี้ล้มเหลว เช่น กรอกรายละเอียดไม่ครบ, ลืมแนบรูปถ่าย, ประวัติการศึกษาไม่ตรงกับสายงานที่สมัครไป หรือเรียกเงินเดือนสูงเวอร์ ถ้าเจอเหตุการณ์อย่างนี้เข้า การอดทนรอก็ไม่มีประโยชน์อะไรเลย

2. จดหมายเป็นหมัน หรือใบสมัครหายกลางทาง

คำลงท้ายด้านล่างของประกาศรับสมัครงานส่วนมากจะย้ำชัดให้ผู้สมัครวงเล็บมุมซองว่า "จดหมายสมัครงาน" ทุกครั้งในกรณีของคนที่ต้องส่งหลักฐานการสมัครทางไปรษณีย์ หรือสมัยนี้แม้แต่การส่งอีเมล์ก็ใช่ว่าจะรับประกันถึงมือได้แน่ การตรวจทานความเรียบร้อยหน้าซองจดหมาย หรือเช็คกล่องจดหมายในเมล์ของคุณว่ามีเมล์ถูกตีกลับหรือไม่ อาจคุ้มแก่เวลาที่เสียไป เมื่อเทียบกับโอกาสที่มากกว่าในการถูกเรียกสัมภาษณ์งาน...เว้นเสียแต่ว่า โปรไฟล์ของคุณจะไม่เข้าตากรรมการจริงๆ เหมือนในข้อ 1.

3. ตำแหน่งงานด่วน! ส่งช้ามีสิทธิ์แห้ว

เราเห็นบ่้อยๆ ตามประกาศรับสมัครงานหรือเว็บหางานว่าจะมีบางตำแหน่งถูกทำเครื่องหมายตัวแดงหนาๆ ประกอบคำว่า "รับสมัครด่วน" หรือ "urgently required" แปลว่าเป็นตำแหน่งงานที่ต้องการคนแบบเร่งด่วนจริงๆ และมีกำหนดการเปิดรับสมัครที่ชัดเจน หมดเขตวันไหนก็ต้องเป็นไปตามนั้น 

แม้เราจะไม่อยากให้คุณงมงายในเรื่องโชคชะตา แต่บางครั้งสำหรับงานที่ต้องการคนแบบเร่งด่วนอย่างนี้ ใครถึงก่อนก็มีสิทธิ์ก่อน ...หากเป็นงานที่ไม่ตรงกับความถนัดของคุณอยู่แล้ว แนะนำว่าอย่าเสี่ยงกับการเสียเวลาส่งเมล์ไปในวันที่ปิดรับสมัคร เพราะร้อยทั้งร้อยไม่มีทางที่คุณจะถูกเรียกตัวแน่นอน ในเมื่อยังมีคนอื่นที่ไวกว่าคุณ

4. งบจัดจ้างไม่อนุมัติ

แม้จะเป็นปัญหาขององค์กรที่เหนือความคาดหมาย แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นในยุคเศรษฐกิจฝืดอย่างนี้ บางองค์กรมีแผนในการขยายตัว แต่ก็ต้องชะลอการเติบโตเพราะงบประมาณมีจำกัด นั่นก็เท่ากับว่างบในการจ้างพนักงานเพิ่มก็ต้องหดหายตามไปด้วย ปัจจัยเสี่ยงข้อนี้อาจเป็นเรื่องที่คุณไม่ควรมองข้าม หากคิดจะร่วมงานกับองค์กรขนาดกลาง-เล็ก ที่ไม่มีหลักประกันที่มั่นคงเพียงพอ

5.ขยายเวลารับสมัคร...อย่างไม่มีกำหนด

หลายครั้งที่คุณเฝ้ารองานใหม่อย่างมีความหวัง คุณย่อมหวังว่าจะถูกเรียกตัวไปทดสอบและสัมภาษณ์ในเร็ววัน แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าคุณต้องกลายเป็นแม่สายบัวรอเก้ออย่างไร้จุดหมาย มันยิ่งทรมานใจเมื่อคุณเข้าไปเช็คตำแหน่งงานแล้วปรากฏว่าก็ยังไม่มีวี่แววจะปิดรับสมัคร! อย่ารอคอย และเลิกปิดกั้นตัวเองหากคุณมีทางเลือกมากกว่าหนึ่ง แม้งานนั้นจะเป็นงานในฝันที่คุณอยากแสดงความสามารถเต็มที่ เพราะในชีวิตจริงนั้นมันไม่ได้มีพื้นที่ให้คุณแสดงฝีมือแค่งานในใบสมัครอย่างเดียว...

6.ตำแหน่งงานนี้...เต็ม

ยุคที่งานน้อยกว่าคน ใครๆ ก็แย่งกันทำงาน บางครั้งยังไม่ทันถูกเรียกตัวไปสัมภาษณ์คุณก็อาจชวดงานใหม่ตั้งแต่ในมุ้ง เมื่อคุณเข้าไปอัพเดทตำแหน่งงานแล้วปรากฏว่างานที่คุณรออยู่นั้นปิดรับสมัครเพราะที่นั่งเต็มแล้ว ...ความผิดพลาดอาจเกิดได้ทั้งจากตัวคุณเอง เช่น ใบสมัครไม่เรียบร้อย resume ไม่สวยงาม หรือความพยายามของคุณยังไม่เพียงพอ ขณะที่ปัจจัยหลายๆ อย่างขององค์กรที่เล็งเห็นว่าคุณยังไม่ตรงกับคุณสมบัติก็อาจเป็นตัวขัดขวางโิอกาสการได้งานเช่นกัน

7.ฝ่ายบุคคลลาพักร้อน หรือใบสมัครถูกดองในกองแฟ้ม

อาจฟังดูแล้วขำๆ ปนจั๊กกะจี้ แต่ปัญหาแบบนี้ก็มีอยู่จริงไม่ได้โม้ มีการสำรวจว่าความสะเพร่าหรือหลงลืมของพนักงานฝ่ายบุคคลเป็นสาเหตุสำคัญถึง 1 ใน 5 ที่อาจทำให้คุณไม่ได้งาน หรืออาจมาจากการลาพักร้อน หรือลาหยุดยาวของฝ่ายบุคคลจนอาจทำให้หลักฐานการสมัครของคุณหมดอายุหรือสูญหาย ไม่อยากใช้คำว่าโชคร้าย แต่หากนี่คือสาเหตุหลักๆ ที่ทำให้หนทางสู่งานใหม่ของคุณถูกปิดตาย ก็คงไม่มีใครออกมารับผิดชอบให้คุณได้อยู่ดี

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Getty Images

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook