องุ่น มาลิก ผู้หญิงผู้สร้างแรงบันดาลใจให้มีค่าเหนือเงิน
ถ้าคุณมีที่ดินติดถนนทองหล่อ สุขุมวิท 55 คุณจะทำอะไรกับที่ผืนนั้น?
ในปี 2480 (ค.ศ. 1937) นิสิตคณะอักษรศาสตร์สาวคนหนึ่งได้รับเลือกให้เป็น ดาวจุฬาฯ เธอชื่อ องุ่น สุวรรณมาลิก ลูกสาวพระรุกขชาติบริรักษ์ ผู้รับราชการเป็นช่างหลวงในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับนางบู่ (ต่อมาเธอเลือกใช้ชื่อเพียงสั้นๆ จำง่ายว่า ‘องุ่น มาลิก’) ไม่ใช่แค่เพราะเป็นสาวสวยจนโดดเด่น แมกกาซีนในยุคนั้นมาขอให้เป็นปกกันเต็มไปหมด แต่เพราะเธอยังเป็นสาวสวยที่มีความคิดดีๆ และล้ำหน้ากว่าคนในยุคเดียวกัน
อาจารย์นิลวรรณ ปิ่นทอง อดีตบรรณาธิการสตรีสาร ซึ่งเรียนอักษรศาสตร์ร่วมรุ่นกับ องุ่น มาลิก เคยเล่าไว้ว่า ครูองุ่นเป็นนิสิตอักษรฯ รุ่นที่ 3 เป้นยุคแรกๆ ที่มีการเรียนการสอนแบบสหศึกษา ชายหญิงเรียนร่วมกัน ครูองุ่นในความทรงจำของอาจารย์เป็นสาวสวยรูปร่างสูงเพรียว ผมสลวย เป็นผู้หญิงฉลาด เรียนเก่ง แถมด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างมีเหตุผล
หลังเรียนจบ สาวสวยคนนี้ทำงานหลากหลายมาก อย่างเช่นเป็นครูสอนภาษาอังกฤษในหลายๆ โรงเรียน, เป็นเลขานุการ, ทำงานวิจัยที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ, เป็นคอลัมนิสต์, เป็นรองบรรณาธิการแมกกาซีนรายสัปดาห์ ฯลฯ การพบเจอผู้คนมากมายหลายแบบ ทำให้เธอมีความสนใจเรื่องราวส่วนรวมมากขึ้นเรื่อยๆ
และนั่นทำให้เธอกลายเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม เป็นผู้สนับสนุนกิจกรรมทางความรู้ ความคิด น่าจะเป็นจากจุดนี้ที่ทำให้เธออยากเรียนเพิ่มเติม จากบัณฑิตอักษรศาสตร์ เธอจึงไปเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ สหรัฐอเมริกา และกลับมาเป็นอาจารย์ที่ จุฬาฯ, ศิลปากร ที่สุดท้ายที่เธอทำงานเป็นอาจารย์เต็มรูปแบบคืองานสอนประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ที่นั่น เธอเริ่มทำหุ่นมือเย็บจากผ้าที่เธอเรียกเองว่าเป็น ‘หุ่นผ้าขี้ริ้ว’ เพราะทำจากเศษผ้าเหลือใช้ แต่หุ่นที่ว่าก็ไม่ได้ขี้ริ้วเหมือนชื่อ ครูองุ่นใช้มันเป็นสื่อการบอกเล่าแรงบันดาลใจและเรื่องราวที่อยากจะถ่ายทอดให้เด็กๆ ผู้ไม่ได้มีโอกาสจะพบเจออะไรมากนัก ด้วยความเชื่อและศรัทธาในศิลปะ บวกความมั่นใจว่ามนุษย์ที่ถูกหล่อหลอมจากสุนทรียะ และความเข้าใจ เห็นใจในมนุษย์ด้วยกัน จะทำให้สังคมเติบโตอย่างสวยงาม
ความเป็นนักเคลื่อนไหว ความใส่ใจกับความเป็นอยู่ของผู้คนยากไร้ที่ได้พบเจอ ทำให้ครูองุ่นเจอเข้ากับความวุ่นวายของวิกฤตประเทศยุค 1970s หลังผ่านพ้น ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้กลับมากรุงเทพฯ อีกครั้งในปี 2522 (ค.ศ. 1979) และเริ่มสร้างกองทัพหุ่นผ้าอย่างเป็นจริงเป็นจัง กับความฝันเพื่อสร้างสังคมที่ดีกว่าที่เธอตั้งใจจะทำให้เป็นจริงด้วยทรัพย์สินทั้งหมดทั้งมวลที่เธอมี
องุ่น มาลิก เริ่มคิดถึง ‘พื้นที่’ ที่จะใช้สร้างงานเพื่อสร้างคนของอนาคต ด้วยการศึกษา, ศิลปวัฒนธรรม, ความรู้ที่จำเป็นเพื่อทำให้ชีวิตผู้คนดีขึ้นและดีขึ้น - - ก็บ้านของตัวเองนี่แหละ บ้านที่ทองหล่อ
มีอะไรอีกที่คุณยังไม่รู้เกี่ยวกับครูองุ่น มาลิก และงานของเธอ
- ก่อนอื่นโปรดทราบว่า ทุกวันนี้มีคนซื้อขายที่ดินทองหล่อกันที่ประมาณตารางวาละ - - ย้ำ - - ตารางวาละ 800,000 ++บาท
- แต่ครูองุ่นยกที่ดินของเธอให้ทำประโยชน์เพื่อสังคม เพื่อศิลปะ เพื่อส่วนรวมเปล่าๆ ปลี้ๆ และเธอคงมองเห็นอนาคตความแพงลิบดังหล่อด้วยทองสมชื่อทองหล่อมาตั้งแต่ครั้งโน้น เธอก็เลย - -
- ใช้ร่างตัวเองทอดลงกับผืนดินตรงนั้น แทนการยกร่างหลังความตายด้วยโรคมะเร็งเมื่อปี 2533 (ค.ศ. 1990)ให้กับการศึกษาทางแพทย์ตามความตั้งใจเดิม เพื่อเป็นประกันว่าเจตนาของผืนดินเพื่อทำประโยชน์ต่อส่วนรวมของเธอจะไม่ถูกเปลี่ยนไปเป็นอื่น มุมหนึ่งของที่ตั้งมูลนิธิไชยวนา จึงเป็นที่ฝังร่างของครูองุ่น มาจนถึงทุกวันนี้
- ที่ดินที่ว่านั้น ทุกวันนี้เป็น มูลนิธิไชยวนา เลขที่ 67 บนถนนทองหล่อ จุดประสงค์หลักๆ เพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ทางการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม เผยแพร่และส่งเสริมความรู้ด้านอนามัย สาธารณสุขให้กับคนทั่วไป
- มูลนิธิไชยวนากลายเป็นที่รวมของกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ทำงานสร้างสรรค์มาทุกยุค จนถึงทุกวันนี้
- ทุกวันนี้หุ่นผ้าขี้ริ้วของครูถูกเรียกว่า คณะละครยายหุ่น เปิดการแสดงเป็นวาระโอกาส และยังเป็นความฝัน ความหวัง ให้กับเด็กๆ และผู้คนมากมาย
- ครูองุ่นเกิดวันที่ 5 เมษายน 2460 ถ้ายังมีชีวิตอยู่ วันพุธที่ 5 เมษายน 2560 - - ปีนี้ เธอจะมีอายุครบ 100 ปี
- ดูรายละเอียดงาน 100 ปีชาตกาล ครูองุ่น มาลิก www.facebook.com/jayavana