กุ๊กไทยฮ็อต แชมป์พ่อครัวประจำบ้านทูตญี่ปุ่น

กุ๊กไทยฮ็อต แชมป์พ่อครัวประจำบ้านทูตญี่ปุ่น

กุ๊กไทยฮ็อต แชมป์พ่อครัวประจำบ้านทูตญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

 

อดทึ่งไม่ได้!! เมื่อได้ทราบว่า ตลอด 16 ปีที่ผ่านมามีเชฟหรือพ่อครัวอาหารญี่ปุ่นที่เป็นคนไทยแท้ๆ ได้รับการคัดเลือกให้ไปทำหน้าที่ "พ่อครัวหัวป่าก์" ให้กับสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลญี่ปุ่นตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก

โดยทุกปี สมาคมเพื่อการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศในสังกัดกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นจะจัดการคัดเลือกขึ้นในเมืองไทย โดยได้รับความร่วมมือจากภัตตาคารและร้านอาหารญี่ปุ่นชั้นนำมากกว่า 250 แห่งทั่วประเทศ คัดเลือกพ่อครัว-แม่ครัวเข้ารับการฝึกอบรมการปรุงอาหารญี่ปุ่นชั้นสูงเป็น เวลา 3 เดือน ก่อนจะโชว์ฝีมือการประกอบอาหารให้เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นตัดสิน หากรสมือของใครเป็นที่ถูกอกถูกใจ ก็จะได้ใบผ่านงานให้เป็น พ่อครัวประจำบ้านทูต ทันที...ปีนี้ก็เช่นเดียวกัน สมาคมได้จัดการคัดเลือกเป็นครั้งที่ 17 แล้ว

นายมาซาฮิโร ยามาโมโต "อาจารย์" หรือ "เซ็นเซ" หนุ่มใหญ่วัย 41 ปีจากสถาบันสอนการทำอาหารทสึจิ จากนครโอซากา ผู้ทำหน้าที่สอนหลักการและวิธีการปรุงอาหารญี่ปุ่นชั้นสูงให้กับคนไทย บอกว่า โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อ 16 ปีที่ผ่านมา เมื่อกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นพยายามจะแก้ปัญหาการขาดแคลนเชฟประจำสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลต่างๆ หลังจากที่ปรากฏว่า บรรดาเชฟชาวญี่ปุ่นปฏิเสธที่จะทำหน้าที่นี้ในดินแดนที่ห่างไกลและยากลำบากอย่างเช่น ในแอฟริกา ทางการญี่ปุ่นพยายามมองหาและทดลองในหลายๆ ประเทศ ที่สุดก็ต้องมาปักหลักทำโครงการอบรมนี้ในเมืองไทยเพียงประเทศเดียวในโลก

"ไม่ใช่เพียงแค่เพราะเมืองไทยมีภัตตาคารและร้านขายอาหารญี่ปุ่นอยู่มากที่สุดในภูมิภาคนี้เท่านั้น แต่เป็นเพราะพ่อครัวชาวไทยมีดี! กว่าพ่อครัวชาติไหนๆ ที่เคยทดลองฝึกฝนการประกอบอาหารญี่ปุ่นกันมา" ยามาโมโตบอก

คุณสมบัติเด่นประการหนึ่งของเชฟชาวไทยก็คือความมีน้ำอดน้ำทน มีความพร้อมที่จะปรับตัว ในขณะเดียวกันทักษะในการปรุงอาหารของคนไทยก็ไม่เป็นสองรองใคร แถมยังสามารถเข้ากันได้กับคนอื่นๆ โดยง่าย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวด

"ที่เราจะสอนให้ทำกันนี้ไม่ใช่การปรุงอาหารธรรมดา แต่เป็นอาหารญี่ปุ่นชั้นสูง ที่แม้แต่ชาวญี่ปุ่นในญี่ปุ่นเองน้อยคนที่จะได้ลิ้มรสชาติในเวลาปกติธรรมดาทั่วไป" เซ็นเซ ยามาโมโตบอก

หน้าที่ของพ่อครัวประจำบ้านทูตมิใช่เพียงประกอบอาหารให้เอกอัครราชทูตและครอบครัวรับประทานเท่านั้น หากยังต้องประกอบอาหารสำหรับแขกบ้านแขกเมือง อาคันตุกะของสถานทูต ที่หลายๆ ครั้งก็ต้องรับรองราชนิกุลของประเทศนั้นๆ ซึ่งอาหารที่ปรุงนอกจากต้องถูกต้องตามหลักโภชนาการแล้ว จะต้องสะท้อนความเป็นญี่ปุ่นออกมาในจานอาหารได้อย่างหมดจด สวยงาม

"การปรุงอาหารญี่ปุ่นชั้นสูงนั้นเป็นงานละเอียดอ่อน ปราณีต และต้องอาศัยองค์ความรู้ของความเป็นญี่ปุ่นสูงมาก ยกตัวอย่าง อาหารญี่ปุ่นทุกจานต้องบ่งบอกถึงฤดูกาล ทำอย่างไรถึงจะแสดงออกผ่านจานอาหารให้ได้ว่าในเวลานี้คือหน้าซากุระบานในญี่ปุ่นขณะที่อยู่ในแอฟริกา นั่นคือหน้าที่ของพ่อครัว" เซ็นเซยามาโมโต บอก ซึ่งพ่อครัวที่เข้าร่วมอบรมรุ่นนี้มีทั้งหมด 9 ชีวิต

"กบ" นางสาวพัชริน ขัดเพ็ชร อายุ 25 ปี ผู้หญิงหนึ่งเดียวของรุ่น ตัวแทนจากร้านคิคุซุย บอกว่า การปรุงอาหารไม่ว่าจะเป็นสัญชาติใดก็มีวัฒนธรรมในการปรุงที่พิถีพิถันแตก ต่างกันออกไป การเข้ารับการอบรมครั้งนี้ ตนจะทำให้ดีที่สุด เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่คนไทยจะได้เรียนรู้การประกอบอาหารญี่ปุ่นขั้นสูง

ส่วน "กล้า" นายศราวุธ คำจันทร์ อายุ 22 ปี จากร้านซาเก โนมิเซะ ผู้มีประสบการณ์การทำอาหารญี่ปุ่นมาแล้ว 4 ปี บอกว่า เสน่ห์ของอาหารญี่ปุ่นมีสีสันที่สวยงาม น่ารับประทาน

"หากโชคดีได้รับการคัดเลือกให้ทำหน้าที่พ่อครัวประจำบ้านทูตจะตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด เพื่อให้สมกับที่ประเทศญี่ปุ่นให้การยอมรับฝีมือการทำอาหารของพ่อครัวไทยที่ไม่แพ้พ่อครัวต้นตำรับ" ศราวุธทิ้งท้าย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook