ระวังไม่ให้ลูกน้อยอ้วนจนเกินไป
แม้รูปร่างที่ดูอ้วนจ้ำม่ำของลูกในวัยเด็กจะดูน่ารักและทำให้พ่อแม่หลายคนอิ่มเอมใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนลูกก้าวเข้าสู่วัยรุ่น หากน้ำหนักของเขายังไม่ลด ความอ้วนของลูกจะกลายเป็นปัญหาหนักอกให้คุณพ่อคุณแม่หลายคนต้องเคร่งเครียด เพราะมีปัญหาด้านสุขภาพเกิดขึ้น แถมลูกยังถูกล้อเลียนว่าเป็นตุ่ม เป็นขาหมู หรือแม้กระทั่งช้างน้ำ ซึ่งจากการศึกษาของประเทศอังกฤษพบว่า เด็กที่มีน้ำหนักมากเกินกว่าเกณฑ์มาตรฐานมักจะกลายเป็นผู้ใหญที่มีรูปร่างท้วมและอวบอ้วน แถมยังลดลงยากอย่างมาก ดังนั้นหนึ่งวิธีทีจะช่วยแก้ปัญหาโรคอ้วนของคนในสังคมเพื่อต่อยอดไปสู่สุขภาพที่ดีก็คือการรักษาและป้องกันเสียตั้งแต่ในวัยเด็ก
ปัญหาที่จะเกิดขึ้นเมื่อเด็กมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน
- ความดันโลหิตสูง
- อินซูลินในร่างกายจะสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคเบาหวาน
- โคเลสเตอรอลสูง
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
- สมองไม่สดชื่น ทำงานช้าและไม่ค่อยตื่นตัวจนผลการเรียนค่อยๆ แย่ลง
- ไม่สามารถเล่นกิจกรรมผาดโผน หรือเล่นกีฬากับเพื่อนได้อย่างสนุก ทำให้ความสัมพันธ์กับคนอื่นค่อยๆถดถอย
และนี่คือเคล็ดลับในการดูแลให้ลูกน้อยของคุณมีรูปร่างที่สมส่วนได้มาตรฐาน
1. สำหรับการลดน้ำหนักในเด็ก การลดอาหารไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการควบคุมน้ำหนัก หากแต่การควบคุมและเลือกประเภทอาหารให้เหมาะสมต่างหากคือสิ่งที่พ่อและแม่ควรพิถีพิถัน เช่นเปลี่ยนจากของขบเคี้ยวตอนกลางวันที่เป็นประเภทมันฝรั่ง ไอศกรีมหรือช็อกโกแลต มาเป็นผักทานง่ายอย่างแครอท แตงกวา หรือผลไม้สีสันสดใส
2. เพิ่มการออกกำลังกายที่เหมาะสม เช่นว่ายน้ำ เดินเร็ว หรือพาไปสวนสนุกเป็นประจำ ทำอย่างนี้ได้เป็นประจำนอกจากน้ำหนักจะลดแล้ว ยังจะได้สร้างทักษะด้านใหม่ให้กับเด็กๆอีกด้วย
3. ฝึกการรับประทานอาหารที่ถูกสุขอนามัย คือมีสารอาหารเพียงพอ ไม่เค็ม และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันจากไขมันสัตว์มาเป็นน้ำมันที่สกัดจากพื้ชธรรมชาติอย่างน้ำมันมะกอกแทน
4. หากลูกน้ำหนักเกินค่อนข้างมาก แนะนำให้เปลี่ยนมาดื่มนมพร่องไขมันแทน
5. พยายามดึงลูกออกมาจากการดูทีวีหรือนั่งเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เพราะสิ่งนี้จะสัมพันธ์กันในทางบวกกับโรคอ้วน นั่นคือยิ่งอยู่หน้าจอทีวีมาก น้ำหนักยิ่งเพิ่ม เนื่องจากมีโอกาสให้หยิบขนมขบเคี้ยวใส่ปากได้โดยง่าย แถมยังไม่ได้ใช้พลังงานในการทำกิจกรรมใดๆด้วย
6. ตั้งกฏไว้ว่าหลัง 20.00 น. ห้ามทานของจุกจิกเด็ดขาด นอกจากจะเป็นการดูแลสุขภาพแล้ว ยังเป็นการสร้างระเบียบให้กับเด็กๆ ว่าควรกินเป็นเวลาและเข้านอนให้ตรงตามเวลาที่กำหนด
อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันในการช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานของลูกก็คือการที่ทุกคนในครอบครัวร่วมให้กำลังใจ และทำทุกอย่างร่วมกันไปพร้อมกับเขา หากทำได้นอกจากจำด้สุขภาพที่ดีของลูกแล้ว ยังได้ความอบอุ่นเป็นของแถมอีกด้วย