แม่มือใหม่ควรรู้! นี่แหละสาเหตุที่ลูกน้อยร้องไห้บ่อยๆ
การร้องไห้ในเด็กทารกเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากเขายังไม่สามารถแสดงอารมณ์ ความรู้สึก หรือบอกให้พ่อแม่รับรู้ทางคำพูดได้ เขาจึงต้องสื่อสารด้วยการร้องไห้แทน ดังนั้นพ่อแม่จึงมีหน้าที่ที่จะต้องทำความเข้าใจ และเรียนรู้ว่าการที่ลูกร้องไห้นั้นสามารถสื่อถึงอะไรได้บ้าง เพื่อจะได้ตอบสนองความต้องการของเขาได้อย่างถูกต้องมากขึ้น โดยมี 5 สาเหตุที่ทำให้เด็กทารกร้องไห้ ดังนี้
1.ไม่สบาย
เมื่อลูกน้อยไม่สบาย มักจะร้องไห้งอแง และโยเยบ่อยๆ พ่อแม่ควรลองจับตัวลูกดู หากมีอุณหภูมิที่ร้อนกว่าปกติ ก็ให้สงสัยได้เลยว่า เจ้าตัวน้อยกำลังมีอาการไข้หวัดแล้วล่ะ นอกจากนี้หากลูกมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ไอ อาเจียน มีน้ำมูกและ เสมหะ ไม่ควรนิ่งนอนใจเด็ดขาด ให้พาลูกไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยด่วน
2.ผ้าอ้อมเปียก
เมื่อผ้าอ้อมเปียก เฉอะแฉะ มักจะสร้างความรู้สึกไม่สบายตัวให้กับเจ้าตัวน้อยได้ เขาจึงร้องไห้ออกมาเพื่อบอกให้พ่อแม่รู้ว่าควรเปลี่ยนผ้าอ้อมให้เขาได้แล้ว โดยการเปลี่ยนผ้าอ้อมนั้น ควรทาแป้งบริเวณก้นและขาหนีบให้กับเจ้าตัวน้อยทุกครั้ง เพื่อป้องกันการเกิดผดผื่น และทำให้เขารู้สึกแห้งสบายตัวตลอดเวลานั่นเอง
3.หิวนม
เด็กทารกมักจะหิวนมบ่อยๆ และแน่นอนว่าเขาก็มักจะแสดงความหิวออกมาด้วยการร้องไห้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อลูกร้อง แนะนำให้ลองเอานมให้ลูกดื่มดูก่อน ซึ่งก็รับรองเลยว่าเจ้าตัวน้อยจะหยุดร้องทันที แต่หากเมื่อลูกดื่มนมเสร็จแล้วยังคงร้องงอแงและไม่ยอมนอน นั่นอาจเกิดจากการที่ลูกน้อยมีอาการท้องอืดแน่นท้อง โดยแก้ได้ด้วยการอุ้มเขาพาดบ่าให้เรอออกมา ก็จะทำให้เขารู้สึกสบายท้องมากขึ้น
4.เหงา
รู้ไหมคะว่าเด็กทารกก็มีความรู้สึกเหงาเหมือนกัน ซึ่งเป็นอารมณ์ที่ต้องการความอบอุ่นและความรักจากสัมผัสที่อ่อนโยนจากพ่อแม่ โดยสังเกตได้จากการที่เขาร้องงอแง ไม่ยอมกินนม แต่เมื่อพ่อหรือแม่อุ้มและโอบกอดเบาๆ เขาก็จะหยุดร้องไห้ทันทีโดยที่ไม่ต้องปลอบโยนใดๆ
5.เป็นโคลิค
โคลิค เป็นอาการที่ลูกจะร้องเวลาเดิมเป็นประจำตลอดเวลา 3 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่จะร้องตอนช่วงเย็นๆ ค่ำๆ และมีอาการตัวงอ หน้าแดงอย่างเห็นได้ชัด สำหรับสาเหตุยังไม่ทราบชัดเจนว่าเป็นเพราะอะไรกันแน่ โดยสามารถบรรเทาได้ด้วยการให้คุณแม่นวดสัมผัสเบาๆ อย่างอ่อนโยน จะทำให้ลูกน้อยเกิดความผ่อนคลายได้ดี
และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้ลูกร้องไห้บ่อยๆ ดังนั้นคุณแม่ควรทำความเข้าใจให้มากขึ้น ว่าการที่ลูกร้องไห้นั้น เขาต้องการสื่อสารอะไรกันแน่ จะได้เอาใจลูกน้อยได้อย่างตรงจุดนั่นเอง
ขอบคุณภาพประกอบจาก : istock