“3 เคล็ดลับรับมือวัย Terrible Twos ให้อยู่หมัด” (ถอดบทเรียน#6 ขบวนการตากอากาศ)
รายการ ขบวนการตากอากาศ สัปดาห์นี้พาคุณผู้ชมไปรู้จักกับครอบครัวเล็กๆ แต่น่ารักมากๆ ของ แม่ตุ๊ก-ณฐิตาภา ปัดภัย กับลูกชายวัย 2 ขวบ น้องแต๊งค์-ด.ช.ติณณ์ชาติ ปัดภัย
เมื่อพูดถึงวัย ‘2 ขวบ’ ช่วงนี้ถือเป็น ช่วงเปลี่ยนผ่าน ที่มีความสำคัญต่อพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจของเด็กๆ อย่างมาก จากช่วงขวบปีแรกที่ลูกน้อยเพิ่งทำความรู้จักกับโลกรอบตัวและร่างกายของตัวเอง พอเข้าช่วงปีที่ 2-3 นี้เอง—เด็กน้อยเริ่มรู้ว่าเขาสามารถใช้ร่างกายของตัวเองทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย ไม่ว่าจะหยิบ จับ เดิน วิ่ง ปีนป่าย ว่ายน้ำ เล่นของเล่น หรือตักอาหารเข้าปาก ฯลฯ รวมถึงเริ่มมีพัฒนาการด้านภาษามากขึ้น คือสามารถสื่อสารได้ด้วยคำสั้นๆ ง่ายๆ ใช้ประโยคที่ไม่ซับซ้อนได้บ้างแล้ว ความสามารถและพัฒนาการที่เพิ่มมากขึ้นนี้เองทำให้เด็กๆ เกิดความรู้สึกว่า “ฉันทำได้ทุกอย่าง!” แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ พวกเขายังควบคุมอะไรต่ออะไรไม่ได้อย่างที่คิดหรอกนะ โดยเฉพาะเรื่องของการสื่อสารที่ยังมีคลังคำศัพท์ไม่มากพอ ออกเสียงก็ยังไม่ชัด เลยยังไม่สามารถสื่อสารความรู้สึกและความต้องการออกไปได้อย่างสมบูรณ์ (ซึ่งเป็นเรื่องปกติตามวัย) ก็เลยนำมาซึ่งความหงุดหงิดงอแงอาละวาดอย่างไม่มีเหตุผล เป็นอาการที่เรามักเรียกกันว่า ‘Terrible Twos’ หรือจะเรียกชื่อเล่นภาษาไทยเก๋ๆ ว่า ‘วัยทองรุ่นเด็ก’ ก็ได้
จากการได้ติดตามดูเรื่องราวของคุณแม่ตุ๊กและน้องแต๊งค์แล้ว ต้องขอยกนิ้วชื่นชมคุณแม่ซิงเกิ้ลมัมท่านนี้ที่เลี้ยงดูลูกน้อยได้อย่างยอดเยี่ยมเต็มร้อยไม่แพ้บ้านไหนๆ เลย และนี่ก็เป็น 3 เคล็ดลับดีๆ ที่เรานำมาฝากคุณผู้ชมกัน
1) รักลูก-เข้าใจพัฒนาการลูก
ความรักและเข้าใจในตัวลูก มีส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งมาจากการหมั่นหาข้อมูลความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัยอยู่เสมอ เพราะจะทำให้รู้ว่าเราและลูกจะต้องเผชิญกับอะไรบ้าง นำไปสู่การเตรียมพร้อม และการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น (แต่ขอย้ำสักนิดว่า หัวใจสำคัญของการหาข้อมูลนั้น มีไว้เพื่อให้เรากังวลน้อยลง ไม่ใช่เพิ่มขึ้นนะจ๊ะ!) ด้วยความที่แม่ตุ๊กมีความรู้ในเรื่องพัฒนาการของเด็กอย่างดี (จากการอ่านเยอะนั่นเอง) ก็เลยสามารถดูแลน้องแต๊งค์ได้อย่างยอดเยี่ยม โดยให้ความสำคัญกับการกิน นอน เล่น เรียนรู้ที่เหมาะกับวัยและพัฒนาการ รวมทั้งมีการสอดแทรกการสร้างวินัยเชิงบวกโดยเริ่มต้นจากที่บ้าน เช่น สอนให้เก็บของเล่น ฝึกให้รับประทานอาหารด้วยตัวเอง ล้างมือล้างหน้า ดูแลตัวเองในเบื้องต้น และการปรับตัวเข้ากับสังคมนอกบ้าน รู้จักขอโทษเมื่อทำผิด ไม่แย่งของเล่นจากเพื่อน ไม่สร้างปัญหาในที่สาธารณะ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้พ่อแม่ทำได้ทุกคน ขอเพียงอดทน เรียนรู้ไปด้วยกัน และค่อยๆ ส่งเสริมสิ่งที่เหมาะสมกับลูกของเราด้วยความสม่ำเสมอ
2) พาเที่ยวนอกบ้าน ปลดปล่อยพลังงาน
วัยสองขวบเป็นช่วงวัยที่พลังงานเยอะมากถึงมากที่สุด เพราะเด็กๆ มักอยากทดลองทำโน่นทำนี่เพื่อทดสอบความสามารถของตัวเอง รวมถึงเป็นนักสำรวจที่สนใจเรื่องราวรอบตัวไปเสียทุกอย่าง คุณพ่อคุณแม่หลายคนจึงมักบ่นว่าลูกดื้อลูกซนจังเลย ตามจับไม่ไหว เหนื่อยมาก แบบนี้ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ว่า ลูกกำลังอยู่ในวัยแสวงหาและเรียนรู้! เคล็ดลับคือ พาออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการไปเที่ยวในสถานที่แปลกใหม่ (ที่เหมาะกับเด็ก) พาไปสวนสาธารณะหรือสนามเด็กเล่นใกล้บ้าน หรือแม้กระทั่งแค่ได้ออกไปวิ่งเล่นแถวบ้านของตัวเองนี่แหละ ประเด็นคือหาพื้นที่ปลอดภัยให้ลูกได้วิ่งเล่นอย่างอิสระ ได้ออกกำลังกาย ยืดเส้นยืดสาย ฝึกใช้ทั้งกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ได้เจอผู้คนนอกบ้าน ฝึกใช้ร่างกายและสมองกันให้เหงื่อออกหมดแรงกันไปเลย (พอหัวถึงหมอนนอนหลับสนิททันที ฟันธง!) สำหรับคุณแม่ตุ๊กก็มักจะพาน้องแต๊งค์ออกไปเที่ยวนอกบ้านเสมอ ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนว่ายน้ำ ไปสนามเด็กเล่น ไปสวนสนุก ไปพิพิธภัณฑ์เด็ก
3) นิ่งสงบสยบงอแง
ไม่ว่าจะเป็นวัย Terrible Twos หรือวัยไหนๆ เด็กเล็กกับการงอแงถือเป็นของคู่กัน เพราะเป็นวัยที่เพิ่งเริ่มรู้จักการใช้เหตุผล และยังควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ (แถมเจ้าตัวอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองกำลังอยู่ในอารมณ์ไหน) วิธีการรับมือคือ นิ่งเข้าไว้ เย็นไว้โยม อย่าเผลอปรี๊ดตามลูกเป็นอันขาด เตือนตัวเองว่าถ้าเรายังควบคุมตัวเองไม่ได้ แล้วลูกที่เพิ่งเกิดมาได้ไม่กี่ปีเองล่ะ จะทำได้ไหม? จงนิ่งสงบเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น ไม่ตามใจ แต่เข้าใจ รอให้ลูกหายงอแงแล้วค่อยๆ สอนวิธีการสื่อสารความรู้สึกหรือสิ่งที่ต้องการออกมาด้วยคำพูดแทนการใช้อารมณ์ กอดลูกให้ลูกอุ่นใจว่าเราเข้าใจและพร้อมเคียงข้างลูกเสมอในทุกสถานการณ์ การที่ลูกอาละวาดแล้วพ่อแม่ปรี๊ดตามไปด้วย จะยิ่งเป็นการส่งเสริมพฤติกรรมให้รุนแรงขึ้นไปอีก เมื่อลูกผ่านพ้นช่วงวัยนี้ไปแล้วอาการหงุดหงิดแบบไม่มีเหตุผลจะน้อยลงไปตามลำดับ เด็กๆ จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามวัย ดูอย่างน้องแต๊งค์ของเรา พออารมณ์ดีขึ้น ได้กอดคุณแม่ และคุยกันดีๆ ก็ยอมเดินไปเก็บขวดน้ำที่ตัวเองโยนทิ้งออกไปได้ แล้วความพยายามอดทนของคุณแม่ก็ได้รับผลตอบแทนกลับมาเป็นรอยยิ้มสดใสของน้องแต๊งค์ ชื่นใจหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเลยทีเดียว
หวังว่าเคล็ดลับทั้ง 3 ข้อนี้จะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย และขอเป็นกำลังใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกคน ฟ้าหลังฝนอาจมีสายรุ้งรอเราอยู่ หากเจอปัญหาอย่าเพิ่งท้อถอย เปิดมาดูรายการของเราดีกว่า!
พบกันใหม่เสาร์หน้า สนุกสนานกับเทศกาลสงกรานต์แล้วอย่าลืมเปิดมาช่อง 28 (3SD) ดูรายการ “ขบวนการตากอากาศ” ด้วยกัน ออกอากาศเวลา 8.15 - 8.45 น. และสามารถติดตามชมรายการย้อนหลังได้ที่นี่
EP.1: https://www.youtube.com/watch?v=TcnQ6wW8DPw
EP.2: https://www.youtube.com/watch?v=DwHMNJLcFFk)
EP.3: https://www.youtube.com/watch?v=LfxPPdB6Xug
EP.4: https://www.youtube.com/watch?v=9dtNXpUxMp8&t=1057s
EP.5: https://www.youtube.com/watch?v=_taIUEP1ftI
[Advertorial]