คลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาลสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์่ั่้
หลังจากที่เราพาคุณๆไปเยี่ยมเยือนกับสถานพยาบาลที่เกี่ยวเนื่องกับสุนัขและแมวมาแล้วในหลายต่อหลายฉบับ คราวนี้ก็ถึงคิวของบรรดาผู้รัก "สัตว์เลี้ยงพิเศษ" หรือ Exotic Pet กันบ้าง นิยามของสัตว์เลี้ยงพิเศษอย่างคร่าวๆก็คือ สัตว์เลี้ยงทุกชนิดที่ไม่ใช่สุนัขและแมว เช่นนี้คุณหมอที่จะมาทำการดูแลรักษาสัตว์เลี้ยงที่ไม่ธรรมดาเหล่านี้จึงต้องรู้ลึกและรู้จริงในเรื่องราวของสัตว์มากหน้าหลายตา ทั้งกระต่าย นก และหนู เลยเถิดไม่จนถึงสัตว์แปลกๆอย่าง เฟอร์เร็ตต์ นางอาย และอื่นๆอีกมากมาย
คลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ โรงพยาบาสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดให้บริการมาแล้วกว่า 10 ปี ซึ่งในช่วง 5 ปีแรกนั้นก็ให้การรักษาสุนัขและแมวควบคู่กันไปด้วย แต่พอความนิยมในการเลี้ยงสัตว์แปลกมีมากขึ้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาจึงทำการรักษาเฉพาะสัตว์เลี้ยงพิเศษเพียงอย่างเดียวเท่านั้น มีคุณหมอผู้เชี่ยวชาญประจำคลินิกแห่งนี้อยู่หลายท่าน ซึ่งในวันที่เราแวะไปเยี่ยมนั้น มี น.สพ.เกษตร สุเตชะ คุณหมอหน้าคุ้นเจ้าของคอลัมน์ Exotica ในนิตยสารของเรา กับ สพ.ญ.ทิพาวดี เสียดขุนทด กำลังทำการตรวจรักษาสัตว์มากหน้าหลายตาที่แวะเวียนเปลี่ยนกันเข้ามาจนคุณหมอทั้งสองท่านแทบไม่มีเวลาหยุดพัก หรือพูดเป็นภาษาฮิตสักหน่อยว่า "งานเข้า" ก็พอได้
คุณหมอบอกว่า เมื่อปีที่แล้วลองทำสถิติดู พบว่ามีสัตว์เลี้ยงพิเศษมาทำการรักษาทั้งสิ้นกว่า 12,000 ตัว ซึ่งกว่า 60% นั้นเป็นกระต่าย จากนั้นก็ลดหลั่นกันไปเป็น หนู นก เต่า ปลาและอื่นๆ แต่คาดว่าในปีนี้จำนวนสัตว์ที่มารักษาน่าจะมากขึ้นกว่าเดิม เพราะทุกวันนี้มีคนเลี้ยงสัตว์เลี้ยงพิเศษกันมากขึ้น น่าจะถึงหลักแสนคนขึ้นไป คุณหมอบอกว่าเคยรักษาในวันหนึ่งมากถึง 60 กว่าตัว ทั้งนี้สัตวแพทย์นั้นแตกต่างจากคุณหมอรักษาคน เพราะสัตว์แพทย์ไม่มีผู้ช่วย ไม่มีพยาบาลมาคอยนั่งเย็บแผลแทนให้ หรือป้อนยาแทนให้ สัตว์แพทย์ต้องทำเองทุกอย่าง ทั้งตรวจเบื้องต้น ป้อนยา เย็บแผล ให้อาหารก็มี เลยไปถึงตัดปากนก ป้อนยาหนู หรือล้างท่อน้ำตากระต่าย ลองจินตนาการตามเราดูก็ได้ว่า การรักษาสัตว์เลี้ยง 60 ตัว ซ้ำยังต่างชนิดกันนั้นเป็นงานหนักขนาดไหน
เราไปดูการทำงานของคุณหมอทั้งสองท่านตั้งแต่เช้าไปจนถึงเที่ยงวัน มีหลายเคสที่แวะเวียนกันเข้ามาให้คุณหมอรักษากันอย่างไม่ขาดสาย เช่น กระต่ายตกตึก 5 ชั้น เต่าโดนรถทับ และนกที่มีปัญหาทางจิต คุณหมอบอกว่า บางวันก็ต้องนั่งพูดเรื่องเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะส่วนใหญ่แล้วคนเลี้ยงไม่ได้มีความรู้ที่ดีพอในการเลี้ยงสัตว์ บางคนก็ซื้อมาเลี้ยงเพราะว่าเป็นแฟชั่น บางคนก็ไปเดินเล่นตามร้านค้าสัตว์แปลก แล้วถูกตาต้องใจก็ซื้อมาเลี้ยงเลยโดยที่ไม่รู้มาก่อนเลยว่า "มันเลี้ยงยังไงหว่า" เช่นนี้เลยมีปัญหาต่างๆตามมามากมาย จนนำพาไปสู่การเจ็บป่วยของสัตว์ รวมถึงการที่พ่อค้าหัวใสคิดทำกำไรโดยไม่สนใจชีวิตของสัตว์ เช่น กรณีของปลาเลิฟ (Love) ฟังจากชื่อแล้วน่าซื้อมาเลี้ยง น่าซื้อให้คนรักสักตัว แต่พอรู้เบื้องลึกจริงๆก็หดหู่อย่างไรมิทราบ เหตุที่ชื่อว่าปลาเลิฟเพราะรูปทรงของตัวปลาที่เป็นรูปหัวใจ แต่รูปหัวใจนั้นไม่ได้เกิดตามธรรมชาติ หากเป็นคนเรานั่นแหละที่จับปลามาตัดหางออก รอยแผลก็จะบุ๋มลงไปทำให้เป็นรูปหัวใจ ซึ่งเป็นการทำให้ปลาตัวนั้นพิการไปตลอดชีวิต
คุณหมอเกษตรบอกว่า สำหรับตัวคุณหมอเองแล้วนั้นไม่มีสัตว์อะไรที่แปลกอีกแล้ว "คนอื่นอาจจะมองว่าแปลก แต่ผมเฉยๆนะ" คุณหมอเอ่ย "เพราะว่ารักษามานาน และมีสัตว์แทบจะทุกชนิดเข้ามาให้รักษา" แต่สำหรับคุณหมอทิพาวดี คุณหมอขอไว้อย่างเดียวคือ "ตุ๊กแก" สัตวแพทย์หญิงของเราเอ่ยว่า เธอกลัว ให้ดูน่ะดูได้ แต่ถ้าให้จับให้ตรวจ ก็จะไปตามคุณหมอท่านอื่นมาช่วยแทน
คลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษแห่งนี้ น่าจะเป็นสถานพยาบาลสำหรับ Exotic Pet ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใหญ่ในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงพื้นที่ใช้สอยที่มาก แต่หมายถึงการรักษาที่ครบวงจร จำนวนสัตว์ที่มารักษาค่อนข้างมาก และน่าจะเป็นสถานที่รักษาสัตว์เลี้ยงพิเศษเพียงแห่งเดียวในบ้านเราที่เปิดรับสัตว์ป่วย Walk-In คือไม่ต้องนัดล่วงหน้าก็สามารถพาสัตว์มารักษาได้เลย
คุณหมอทิพาวดีเล่าว่า คลินิกแห่งนี้ทำหน้าที่ทั้ง "ฝากเลี้ยงและฝากลืม" กล่าวคือ พื้นที่ด้านในของคลินิกนั้นจะมีกรงอยู่เพื่อรองรับสัตว์ที่คุณหมอจะต้องเฝ้าดูอาการ วันที่เราไปก็มีทั้งกระต่าย ชูการ์ไกลเดอร์ และนางอาย กำลังพักฟื้นอยู่ในกรง ถ้าเจ้าของมารับกลับบ้านไปก็เรียกว่าฝากเลี้ยง แต่ถ้าเจ้าของไม่มารับกลับบ้านก็เรียกว่า ฝากลืม ทางคุณหมอก็ให้การดูแลต่อไป
หลังจากที่เราได้พบกับคุณหมอและเยี่ยมชมคลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ สิ่งแรกที่เราอยากจะบอกกับคุณๆผู้อ่านทุกท่านก็คือ ความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของท่านเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ก่อนจะรับสัตว์สักตัวมาเลี้ยงควรศึกษาข้อมูลและวิธีการเลี้ยงดูสัตว์เหล่านั้นให้ละเอียดเสียก่อน อีกทั้งยังต้องคิดให้ดีก่อนที่จะนำมาเลี้ยง ต้องแน่ใจแล้วว่าคุณสามารถที่จะดูแลเขาไปได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่อย่างนั้นอาจจะนำพาไปสู่ปัญหาที่ลุกลามใหญ่โตได้ในท้ายที่สุด
ขอขอบคุณ
น.สพ.เกษตร สุเตชะ
สพ.ญ.ทิพาวดี เสียดขุนทด
คลินิกสัตว์เลี้ยงพิเศษ
โรงพยาบาสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
เปิดให้บริการทุกวัน โทร.0-2942-8756-9