“เคล็ดลับคุณแม่มือใหม่...เลี้ยงลูกแฝดให้เป็นเรื่องง่าย” ถอดบทเรียน#8 ขบวนการตากอากาศ
ขวบปีแรกของลูกน้อย ถือเป็น บททดสอบที่ท้าทาย จากการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงชีวิตขนานใหญ่ในครอบครัว ซึ่งความยากง่ายของบททดสอบนี้ก็มีตัวแปรหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัยส่วนตัวของเด็กแต่ละคน หรือทักษะการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ผู้ปกครองที่แตกต่างกัน รวมไปถึงรูปแบบครอบครัวของแต่ละบ้านที่ต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว…การเลี้ยงลูกจึงไม่มีสูตรสำเร็จที่จะมาเปิดตำราแล้วก๊อปปี้แบบเดียวไปใช้กับทุกครอบครัว
ขวบปีแรกว่าท้าทายแล้ว แต่ถ้าเทวดาตัวน้อยโผล่มาพร้อมกันเป็นคู่แฝดเลยล่ะจ๊ะ! จะยิ่งท้าทายขนาดไหน!? ยิ่งในปัจจุบันครอบครัวรุ่นใหม่มักเป็นครอบครัวเดี่ยว พ่อแม่เลี้ยงลูกกันเอง แยกบ้านกับคุณปู่คุณย่าคุณตาคุณยาย และการจะหาตัวช่วยอย่างพี่เลี้ยงดีๆ สักคนก็อาจเป็นเรื่องยากไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร เอาล่ะ...ไม่เป็นไร มาอ่านเคล็ดลับดีๆ ที่นำมาฝากกันวันนี้โดย ถอดบทเรียน จากครอบครัวของ สาวน้อยฝาแฝดวัย 10 เดือน “น้องรีย่า” ด.ญ.ชารียา สามสี และ “น้องลิก้า” ด.ญ.ชลิกา สามสี ของคุณพ่อต้น และคุณแม่หญิง รับรองว่าน่าจะถูกใจคุณพ่อคุณแม่ทั้งลูกเดี่ยวและลูกแฝดอย่างแน่นอน (ปรบมือให้กำลังใจสามที 1-2-3 เฮ้!)
1. จัดระบบพื้นที่ การจัดระบบพื้นที่ภายในบ้าน จะช่วยให้การเลี้ยงลูกง่ายขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับบ้านของน้องรีย่าและลิก้า มีการออกแบบพื้นใช้สอยได้อย่างดี เป็นสัดส่วน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่รับประทานอาหารที่อยู่ใกล้ครัว ลงจากเตาร้อนๆ ก็หันมาป้อนคุณลูกที่นั่งรออยู่ตรงนั้นได้เลย (เป่าเพี้ยงให้หายร้อนก่อนนะแม่จ๋า!) หรือการจัดบริเวณอาบน้ำให้อยู่ใกล้กับคอกกั้นสารพัดประโยชน์ที่เป็นทั้งพื้นที่เล่น กินนม แต่งตัว เปลี่ยนผ้าอ้อม นอนกลางวัน ฯลฯ คนหนึ่งอาบ คนหนึ่งเล่นรอ แถมอ่างอาบน้ำก็อยู่ใกล้มุมต้นไม้ในบ้าน อาบเสร็จก็รดน้ำต้นไม้ต่อได้เลย ไม่ต้องยกไปไกล และไม่ต้องทิ้งให้เปลือง การออกแบบพื้นที่เลี้ยงเด็กให้อยู่เป็นสัดเป็นส่วนและอยู่ในโซนเดียวกันเช่นนี้ ช่วยประหยัดเวลาและพลังงานได้เยอะเลย!
การจัดพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถปล่อยลูกให้เล่นอิสระได้ เช่น คอกกั้นที่มีเบาะรอง หมอนผ้าห่ม ของเล่นของลูก ทำให้คุณแม่พอมีเวลาไปทำธุระส่วนตัวได้ ไม่ว่าจะงานบ้าน งานจ๊อบ กินข้าวอาบน้ำ เข้าห้องน้ำ หรือแม้กระทั่งดูซีรีส์เกาหลีคลายเครียดบ้างก็ยังดี (อิอิ) แต่อย่าปล่อยให้คลาดสายตานานจนเกินไป เพราะเด็กวัยคลานและหัดเดินนั้นพลังเยอะจนอาจมุดรั้วหนีโรงเรียน เอ๊ย หนีออกมาจากคอกกั้นได้ เหมือนสาวน้อยรีย่าและลิก้าของเรา! หากบ้านไหนมีบันไดควรทำที่ปิดกั้นให้ดี เก็บของมีคม ปิดมุมโต๊ะที่เป็นเหลี่ยมแหลมอันตรายทั้งหลายตามเส้นทางไว้ตลอด เผื่อคุณลูกหลุดรอดสายตาก็ยังปลอดภัย
2. วินัยเชิงบวก นอกจากวางแผนเรื่องพื้นที่แล้ว ต้องมีการจัดระบบระเบียบคู่กันไปด้วย เคล็ดลับที่บ้านน้องรีย่าและลิก้าใช้ก็คือ การจัดตารางเวลาการเลี้ยงลูกให้เป็นระบบ ซึ่งเป็นการปลูกฝังวินัยให้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติผ่านชีวิตประจำวันง่ายๆ นี่เอง เช่น คุณแม่สร้างระบบการป้อนข้าว ว่าต้องนั่งที่เก้าอี้ประจำตัว ไม่วิ่งตามป้อน ไม่เปิดการ์ตูนหลอกล่อ ทำตามตารางเวลาเดิม และไม่เกินเวลาที่กำหนด เพื่อให้ลูกเคยชินและซึมซับไปจนกลายเป็นนิสัยที่ติดไปจนโต แต่สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้เน้นย้ำก็คือ ระบบต้องไปคู่กับระเบียบ คือต้องเคร่งครัดกับสิ่งที่เรากำหนดไว้ ทำเป็นประจำให้สม่ำเสมอ ไม่ใช่ทำบ้างไม่ทำบ้าง ยากตอนนี้แต่สบายตอนโตนะจ๊ะพ่อจ๋าแม่จ๋า
3. สามัคคีคือพลัง จัดพื้นที่ให้ง่ายต่อการจัดการแล้ว จัดระบบระเบียบแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การทำงานเป็นทีมเวิร์คของคนในครอบครัว เมื่อประกอบกันทั้งหมดแล้วถึงจะลงตัว! โดยส่วนมากคุณแม่มักจะเป็นผู้เลี้ยงลูกอันดับหนึ่ง และมักจะเป็นคนเดียวที่รู้ว่าควรทำอะไรตรงไหน และอะไรอยู่ที่ไหน ผลก็คือ เหนื่อยอยู่คนเดียว พาลให้เครียดหงุดหงิด และเลี้ยงลูกแบบไม่แฮปปี้ การสร้างทีมเวิร์คที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก อย่างคุณพ่อของรีย่าลิก้า สามารถช่วยเหลือแบ่งเบาภารกิจต่างๆ ได้อย่างดี ไม่ว่าจะช่วยอาบน้ำ ทำกับข้าว พาไปเดินเล่น โดยใช้เวลาก่อนไปทำงาน และหลังจากไปทำงาน เป็นเวลาคุณภาพที่ไม่ได้ใช้เวลานานอะไรเลย แต่ได้ผลลัพธ์ที่ดีมากมาย คุณลูกก็แฮปปี้ คุณแม่ก็ได้พักบ้างไม่หนักอยู่คนเดียว และมีคนมาช่วยแตะมือสลับทำให้การเลี้ยงลูกไหลลื่นไม่ติดขัด ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็ดีตามไปด้วย และเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกเห็นเรื่องการทำงานเป็นทีม และรับรู้ว่างานบ้านเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน ซึ่งบางบ้านอาจต้องมีการตกลงแบ่งบทบาทหน้าที่กันชัดเจนว่าใครทำอะไรเมื่อไหร่อย่างไร แต่บางบ้านอย่างเช่นบ้านรีย่าและลิก้า คุณพ่อคุณแม่เข้ามาช่วยเหลือเติมเต็มกันได้โดยไม่ต้องมาระบุแบ่งหน้าที่กัน เรียกได้ว่ามองตาก็รู้ใจ!
4. กิจวัตรนอกบ้าน นอกจากการจัดการภายในบ้านแล้ว การออกมาทำกิจกรรมนอกบ้านก็ยังสามารถจัดระบบให้ลงตัวได้เช่นกัน สำหรับเด็กเล็กวัย 0-1 ปีนั้นถือเป็นช่วงกำลังปรับตัว เริ่มทำความรู้จักกับโลกกว้าง โดยเริ่มต้นจากโลกเล็กๆ ภายในบ้าน และขยับออกมารอบๆ บ้าน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในหมู่บ้าน สวนสาธารณะ สวนหย่อม สนามเด็กเล่น การที่คุณพ่อคุณแม่ใช้เวลาพาลูกไปสำรวจพื้นที่ใกล้ตัวเช่นนี้ด้วยกิจวัตรสม่ำเสมอ เช่น ทุกเช้า หรือทุกเย็น ช่วงอากาศดีๆ แดดร่มลมตก นอกจากจะดีต่อสุขภาพกายและใจ ยังช่วยเปิดโลกให้ลูกโดยเรียนรู้ผ่านการเห็นซ้ำๆ ได้ทักทายผู้คนที่เดินผ่าน ทั้งคุ้นหน้าและแปลกหน้า คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้เวลานี้เป็นเวลาคุณภาพได้ง่ายๆ ชี้ชวนให้ลูกดูสิ่งต่างๆ สอนการสวัสดีทักทาย ได้รู้ว่าโลกนี้ไม่ได้มีแค่เรากับพ่อแม่นะจ๊ะ
เพราะการเลี้ยงเด็กนั้นอาจเหนื่อยตรงที่มีอะไรให้ทำทั้งวัน การวางแผนพื้นที่ใช้สอยและระบบระเบียบในบ้านจะช่วยให้เราตัดสิ่งไม่จำเป็นทิ้งไป ไม่เปลืองพลังงานโดยใช่เหตุ เก็บพลังไปทำกิจกรรมสนุกๆ กับคุณลูกดีกว่า (เหมือนเวลาเราทำงานออฟฟิศ ถ้าวางระบบดี เป็นขั้นเป็นตอน เราจะปวดหัวน้อยกว่าการทำแบบมั่วๆ เปลี่ยนระบบไปเรื่อย แม้งานจะยุ่งเท่ากันแต่อย่างหลังกลับเสียพลังงานกว่าหลายเท่า) ซึ่งนอกจากจะง่ายกับคนเลี้ยงแล้ว ลูกก็จะปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตของพ่อแม่โดยธรรมชาติ ลดอารมณ์สับสนหงุดหงิดงอแง เพราะเด็กรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป กลายเป็นเด็กเลี้ยงง่าย ปรับตัวเข้ากับโลกรอบตัวได้ง่าย ลูกบ้านไหนอารมณ์แปรปรวนง่าย ชอบงอแง และเลี้ยงยาก ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องหันมาสำรวจตัวเองเลยจ้า ลองปรับพื้นที่ และควบคุมตารางชีวิตเสียใหม่ ทุกอย่างอาจง่ายขึ้นได้ ไม่เชื่อลองดู!
สำหรับวันนี้ขอฝากไว้เพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่กับรายการ “ขบวนการตากอากาศ” ที่ออกอากาศอย่างเป็นระบบระเบียบสม่ำเสมอ ทุกเช้าวันเสาร์ เปิดมาเวลาดี 8.15 - 8.45 น. ทาง ช่อง 28 (3SD) และสามารถติดตามชมรายการย้อนหลังกันได้ตามลิงค์ข้างล่างนี้เลยจ้า
รายการขบวนการตากอากาศ:
ตอนที่ 1 https://www.youtube.com/watch?v=_mWriDCMI7U
ตอนที่ 2 https://www.youtube.com/watch?v=oSvXGfisOjY
ตอนที่ 3 https://www.youtube.com/watch?v=LfxPPdB6Xug
ตอนที่ 4 https://www.youtube.com/watch?v=9dtNXpUxMp8
ตอนที่ 5 https://www.youtube.com/watch?v=_taIUEP1ftI
ตอนที่ 6 https://www.youtube.com/watch?v=jQ7dc5g5ovw
ตอนที่ 7 https://www.youtube.com/watch?v=MQ6tQXAl4Ao&t=232s
[Advertorial]