โรคเหงือก...เพชฌฆาตเงียบ

โรคเหงือก...เพชฌฆาตเงียบ

โรคเหงือก...เพชฌฆาตเงียบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

จากข้อมูลล่าสุดของทางสมาคมปริทันตวิทยาแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า 4 ใน 5 ของเด็กไทยเป็นโรคเหงือกอักเสบ และ 2 ใน 5 ของผู้ใหญ่วัย 40 ปีขึ้นไป มีปัญหาโรคเหงือกขั้นลุกลามซึ่งทำลายกระดูกรอบฟันที่เรียกว่า ‘โรคปริทันต์อักเสบ' ในขณะที่กองทันตสาธารณสุข กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า เด็กอายุ 12 ปีเป็นโรคปริทันต์อักเสบหรือโรคเหงือกอักเสบแล้วถึงร้อยละ 80 กลุ่มวัยทำงานเป็นโรคนี้ถึงร้อยละ 40 และเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 80-90 ในผู้สูงอายุ

ซึ่งการติดเชื้อเรื้อรังในช่องปากจากโรคปริทันต์อักเสบนี้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพชนิดที่คาดไม่ถึง เช่นเพิ่มความเสียงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด ทำให้คนไข้เบาหวานควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ยาก และในหญิงมีครรภ์ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการคลอดทารกก่อนกำหนดด้วย ดังนั้นหากไม่อยากสูญเสียฟันโดยที่ไม่รู้ตัว ควรตรวจสุขภาพฟันปีละ 1 ครั้งเป็นอย่างน้อย

ทันตแพทย์หญิง ดร.กนกวรรณ นิสภกุลธร ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปริทันต์ สมาคมปริทันตวิทยาแห่งประเทศ กล่าวว่า โรคเหงือกอักเสบและโรคปริทันต์อักเสบ มีสาเหตุมาจากการขาดการดูแลรักษาความสะอาดช่องปากอย่างถูกวิธี ทำให้เกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์และหินปูน คราบจุลินทรีย์ประกอบด้วยเชื้อโรคจำนวนมากที่ทำให้เกิดเหงือกอักเสบ โดยมีอาการคือเหงือกบวม แดง มีเลือดออกได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะแปรงฟัน หากไม่ได้รับการรักษา ก็จะลุกลามจนทำลายกระดูกรอบรากฟัน จนฟันโยกและต้องถอนฟันในที่สุด โรคปริทันต์อักเสบเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนต้องสูญเสียฟัน ทั้งที่สามารถป้องกันได้ง่ายโดยการแปรงฟันร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันอย่างถูกวิธีค่ะ

ด้าน ทันตแพทย์สุนทร อัศวานันท์ ผู้อำนวยการ คลินิกทันตกรรมอัศวานันท์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ฟันไม่เหมือนอวัยวะอื่นที่สามารถกินอาหารเสริมเพื่อบำรุงให้แข็งแรงได้ สิ่งเดียวที่จะทำให้ฟันแข็งแรงอายุยืนยาวคือการดูแลสุขภาพฟันอย่างถูกต้องตั้งแต่วัยรุ่น โดยควรเลือกใช้แปรงที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม และแปรงฟันให้ถูกวิธีอย่างน้อยวันละ 2 ครั้งร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดการสึกของฟัน ซึ่งก็คืออาหารที่มีความเป็นกรดสูง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรดื่มน้ำหลังจากรับประทานอาหารประเภทนี้ทุกครั้งเพื่อลดความเป็นกรดในช่องปาก แต่ก็ไม่ควรแปรงฟันทันที (รออย่างน้อย 30 นาที) เนื่องจากผิวฟันจะมีสภาพอ่อนนุ่ม ทำให้ฟันสึกได้ง่ายขึ้นขึ้น ที่สำคัญคือไม่ควรแปรงฟันแรงและนานเกินไป ทั้งไม่ควรใช้ยาสีฟันที่มีเนื้อหรือผงขัดหยาบ

อย่างไรก็ดี การดูแลรักษาสุขภาพฟันนั้นควรทำอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องตั้งแต่อายุยังน้อย คือตั้งแต่ฟันแท้ขึ้น เพราะเป็นเหมือนการลงทุนที่ดีอย่างหนึ่ง เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาฟันราคาค่อนข้างสูง หากดูแลไม่ดีตั้งแต่แรก เมื่ออายุ 40 ปีฟันจะเริ่มมีปัญหาและต้องเสียค่ารักษาเป็นเงินหลายหมื่นบาทเลยทีเดียว

ที่สำคัญ อย่าลืมว่าไม่มีอาหารเสริมใดๆ จะช่วยบำรุงฟันให้ดีได้...นอกจากตัวคุณเอง!

Did You Know?

- ช่วงอายุ 10-14 ปี ฟันแท้กำลังขึ้นเต็มที่แต่การเจริญเติบโตของฟันยังไม่หยุด หากมีปัญหาเรื่องฟัน เช่นฟันห่าง ฟันเหยิน การสบฟันไม่ดี จะยังสามารถแก้ไขได้ง่าย นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงที่ใบหน้ามีการเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่มากที่สุด

- ช่วงอายุ 17-18 ปีมักมีปัญหาเรื่องฟันคุด จึงควรเน้นการรักสุขภาพฟันเป็นพิเศษ

- อายุ 20 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่มักมีปัญหาเรื่องสีฟันไม่ขาวสวย ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการฟอกสีฟัน

- อายุ 35 ปีขึ้นไปจะมีปัญหาฟันผุ เหงือกอักเสบ เหงือกร่น คอฟันสึก หากดูแลไม่ทั่วถึง กระดูกและรากฟันจะมีปัญหาในอนาคต

** ขอบคุณข้อมูลจาก คลินิกทันตกรรมอัศวานันท์ โทร. 02-3820362-3 www.asavanant.com

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Getty Images

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook