ชำแหละความจริงการเสริมหน้าอก กับความเชื่อแบบผิดๆ??

ชำแหละความจริงการเสริมหน้าอก กับความเชื่อแบบผิดๆ??

ชำแหละความจริงการเสริมหน้าอก กับความเชื่อแบบผิดๆ??
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ศัลยกรรมที่สาวๆ ไซส์เล็กใฝ่ฝันคงจะไม่หนีพ้นการศัลยกรรมเสริมหน้าอก เพราะทำให้สัดส่วนดูสมส่วนมากขึ้น แต่มีค่านิยมผิดๆ และไม่ได้ศึกษาให้ดีว่า การเสริมหน้าอกแบบนี้เหมาะกับตัวเองหรือเปล่า เมื่อเสริมหน้าอกไปแล้วก็มีปัญหาตามมาอีกนับไม่ถ้วน

     วันนี้เราจะมาชำแหละข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเสริมหน้าอกที่เป็นความเชื่อแบบผิดๆ กับบทสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากศัลยแพทย์ตกแต่งของไทย ที่ให้เกียรติมาเปิดใจให้ข้อมูลกันแบบล้วงลึกกันค่ะ

     นพ.สมบูรณ์ ไหวพริบ ปัจจุบันเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่มาสเตอร์พีซ คลินิก จบการศึกษาด้านศัลยกรรมตกแต่ง จากศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นศัลยแพทย์ในด้านการออกแบบและศัลยกรรมตกแต่ง อีกทั้งยังศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศัลยกรรมตกแต่งจากบอสตัน และคร่ำหวอดอยู่ในวงการศัลยกรรมมากว่า 10 ปี ทำให้คุณหมอสมบูรณ์เข้าใจถึงความต้องการของคนไข้ คุณหมอสมบูรณ์ยังถือคติที่ว่า “ความสวยเป็นเรื่องเบสิก แต่ความเหมาะสมของคนไข้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด”

     1. “ทำนมยิ่งใหญ่ ยิ่งดี ทำทั้งที ทำให้คุ้ม”
     ค่านิยมผิดๆ ที่เมื่อเราพูดถึง คุณหมอสมบูรณ์ถึงกับส่ายหน้า “ไม่ใช่บุฟเฟต์นะถึงต้องตักเยอะๆ ถึงจะคุ้ม” คุณหมอสมบูรณ์กล่าว “การเสริมหน้าอกไม่เพียงแต่จะช่วยให้รูปร่างสมส่วนขึ้น แต่ยังช่วยเสริมความมั่นใจให้มากขึ้นได้ โดยปกติค่าเฉลี่ยหญิงไทยโดยทั่วไปแล้วอยู่ที่ 280-320 ซีซี ซึ่งการเสริมหน้าอกที่เหมาะสมนั้น เมื่อทำไปแล้วขนาดของหน้าอกควรพอดีกับสัดส่วนของตัวคนไข้ ไม่เล็ก ไม่ใหญ่จนเกินไป และรูปทรงของหน้าอกยังต้องดูคล้อยสวยอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่กลมเป็นบล็อกหรือหย่อนคล้อยจนแลดูยาน ถึงจะเรียกได้ว่ามีหน้าอกที่สวยงามตามอุดมคติ”

     “โดยปกติแล้วแพทย์จะต้องพูดคุยถึงความต้องการของคนไข้ก่อน บางทีอาจจะถามไปถึงอาชีพการงาน หรือชีวิตประจำวันเลยก็มี เพื่อที่แพทย์จะได้ประเมินจากความต้องการของคนไข้ก่อน แล้วถึงจะแนะนำโดยคำนึงถึงความเหมาะสมของสัดส่วนคนไข้เป็นหลัก ซึ่งต้องใช้การตรวจร่างกายเพื่อดูความยืดหยุ่นของหน้าอกร่วมด้วย”

     ทั้งนี้คุณหมอสมบูรณ์ยังเผยถึงสาวไทยบางกลุ่มที่นิยมเสริมหน้าอกขนาดใหญ่ประมาณ 400 – 500 ซีซี ซึ่งมีปัญหาที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงเมื่อเสริมหน้าอกที่มีขนาดใหญ่เกินไป เช่น หน้าอกมีอาการแตกลายรักษายาก, เสี่ยงต่อภาวะหัวนมชาถาวร, ทำให้หน้าอกไม่สวยดูเป็นคลื่น, เสี่ยงหน้าอกติดเป็นก้อนเดียวกัน หรือในกรณีรุนแรงอาจทำให้เกิดการปริแตกและติดเชื้อบริเวณของแผลผ่าตัด และเสี่ยงกล้ามเนื้อฉีกขาดจากการแบกรับน้ำหนักซิลิโคนที่มากเกินไปได้

     2. อยากทำนมแต่งก! เงินหาใหม่ได้ ชีวิตหาใหม่ไม่ได้!
     ในยุคที่ใครๆ ก็หาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตทำให้บางคนอาจตกเป็นเหยื่อให้กับการประชาสัมพันธ์ของคลินิกที่อาจไม่ได้มีใบอนุญาต หรือแพทย์ที่ไม่ได้มีใบประกอบวิชาชีพอย่างถูกต้อง จนทำให้เกิดเป็นข่าวการเสียชีวิตจากการทำศัลยกรรมมากมายจนถึงทุกวันนี้ “

     การเสริมหน้าอกมีความละเอียดอ่อนและมีความเสี่ยงสูง ต้องใช้ขั้นตอนการตรวจเช็คมากมาย เพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาตรงกับความต้องการของคนไข้ และที่สำคัญที่สุดคือ ความปลอดภัย เพราะการเสริมหน้าอกไม่ใช่เพียงแค่การผ่าแล้วยัดซิลิโคนเข้าไปเท่านั้น หากการผ่าตัดไม่ได้ทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมวิสัญญีแพทย์ เมื่อเกิดปัญหาระหว่างการผ่าตัดอาจเกิดความสูญเสียขึ้นได้”

     คุณหมอสมบรูณ์ยังแนะนำวิธีเช็คความปลอดภัยก่อนเสริมหน้าอก ดังนี้ ศัลยแพทย์ต้องมาจากสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย, วิสัญญีแพทย์ต้องคอยดูแลระหว่างการผ่าตัดจนจบขั้นตอนการผ่าตัด, สถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต, ซิลิโคนที่ได้รับมาตรฐานมีใบรับประกัน และบรรจุภัณฑ์ที่เรียบร้อยไม่ชำรุด

     “การทำศัลยกรรมก็เปรียบเสมือนการรักษาคนไข้ ไม่ว่าจะทำศัลยกรรมอะไรความปลอดภัยและความสวยงามต้องมาควบคู่กันเสมอ ดังนั้นก่อนตัดสินใจเสริมหน้าอก ควรเลือกคลินิกหรือโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน อาจจะมีราคาสูงไปบ้าง แต่เชื่อว่าเมื่อแลกกับความปลอดภัยที่คนไข้จะได้รับ ถือว่าคุ้มค่ากว่ามาก” คุณหมอสมบูรณ์กล่าวเพิ่มเติม

     3. เชื่อทุกอย่างที่ “เขา” เล่ากันมา...
     “รู้จักชนิดของซิลิโคนที่ใช้เสริมหน้าอกบ้างไหม?” คุณหมอสมบูรณ์หันมาถามทีมงาน “เขาว่ากันว่าทรงกลม ผิวทรายจะดีที่สุดใช่ไหมคะคุณหมอ” ทีมงานคนหนึ่งของเราตอบอย่างรวดเร็ว คุณหมอสมบูรณ์ยิ้ม พร้อมพูดต่อว่า “เขาบอกกันว่าอย่างนั้น เขาบอกกันว่าอย่างนี้ นี่ล่ะตัวดีเลย...หลายๆ คนเดินมาบอกแพทย์ว่า อยากใส่ซิลิโคนยี่ห้อนี้ ลักษณะแบบนี้ ขนาดเท่านี้ โดยที่ยังไม่ได้ปรึกษากับแพทย์เลย ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด”

     “บางคนเชื่อว่าเสริมหน้าอกนานๆ ไป ซิลิโคนจะแตกต้องเปลี่ยนใหม่เรื่อยๆ ต้องบอกก่อนว่าเดี๋ยวนี้ซิลิโคนที่แพทย์นิยมใช้จะเป็นซิลิโคนแบบเนื้อเจล (cohesive gel) ซิลิโคนแบบนี้บีบไม่แตก ซึ่งจะช่วยป้องกันการรั่วไหลได้ และยังมีความยืดหยุ่นสูง แต่ไม่นับซิลิโคนเถื่อนที่แอบมาขายกันในราคาถูกๆ นะครับ แบบนั้นมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือถุงซิลิโคนแตกได้มาก ต้องใช้ซิลิโคนที่ได้รับมาตรฐานและมีใบรับประกันจึงจะดี“

     ด้านซ้ายซิลิโคนแบบ Cohesive gel ถึงผ่าเป็น 2 ส่วนก็ไม่มีการไหลของซิลิโคน ส่วนด้านขวาเป็นซิลิโคนที่ไม่ได้มาตรฐาน

     “มีคนบอกต่อกันมาว่าซิลิโคนผิวทรายดีกว่าผิวเรียบ เอาตรงๆ ผมว่าไม่ต่างกันเท่าไร เพราะร่างกายของคนเรานั้นไม่เหมือนกัน การที่จะใส่ซิลิโคนเข้าไปแล้วเกิดพังผืดมากหรือน้อยนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับผิวของซิลิโคนเสมอไป ซึ่งอย่างซิลิโคนผิวเรียบเวลาใส่จะดูนิ่มเป็นธรรมชาติ ส่วนซิลิโคนแบบผิวทรายนั้นผมว่าดีตรงที่เวลาใส่เข้าไป ซิลิโคนจะมีความหนืดมากกว่าทำให้ซิลิโคนเคลื่อนที่ไปมาได้ยาก อีกอย่างคนไข้ชอบถามเวลาเข้ามาปรึกษาคือ รูปทรงของซิลิโคน ส่วนใหญ่แล้วเข้ามาถึงก็ขอทรงกลมทันที เพราะอยากได้เนินอกชัดๆ แต่จริงๆ แล้วซิลิโคนทรงหยดน้ำเมื่อเสริมเข้าไปแล้วหน้าอกจะดูคล้อยสวยธรรมชาติกว่า”


ภาพตัวอย่างการเสริมหน้าอกทรงกลม ภาพตัวอย่างการเสริมหน้าอกทรงหยดน้ำ

     “อีกเรื่องที่คนไข้พูดถึงเยอะมาก ๆ คือการเสริมหน้าอกแบบ Fat Transfer หลายคนเชื่อว่าการเติมไขมันตัวเองที่หน้าอกนั้นดี เพราะเป็นไขมันของตัวเอง และไม่ต้องผ่าตัด แต่วิธีการนี้มีข้อเสียมากกว่าข้อดี คือหลังจากการเสริมหน้าอกด้วยวิธีดังกล่าวมีโอกาสที่ไขมันจะสลายตัวได้สูงถึง 50% และไขมันที่เติมหากไม่สลายตัวอาจทำให้เกิดก้อนซีสต์ บริเวณหน้าอกได้ถึง 15% อีกด้วย ทำให้วิธีนี้ไม่เป็นที่แนะนำในการแพทย์ ”


การเสริมหน้าอกด้วยการเติมไขมันตัวเอง (Fat Transfer)

     4. แผลใต้ราวนมเห็นแล้วยี้ แผลใต้รักแร้ดูดีกว่าเยอะ?
     อีกหนึ่งเรื่องที่สาวๆ ที่อยากเสริมหน้าอกพูดถึงกันคงไม่พ้นเรื่องของ “แผล” เพราะใคร ๆ ก็คงไม่อยากโชว์รอยแผลจากการผ่านมีดหมอมาให้คนอื่นเห็นแน่นอน คุณหมอสมบูรณ์กล่าวว่า “เรื่องแผลจะสวยไม่สวยอยู่ที่ฝีมือแพทย์ล้วนๆ ถ้ากรีดแผลไม่ดี เย็บแผลไม่สวย ไม่ว่าแผลจะอยู่ส่วนไหนของร่างกายก็ดูไม่ดีทั้งนั้น แต่ต้องบอกก่อนว่าแผลใต้รักแร้จะเห็นได้ยากกว่า แต่มีข้อเสียคือแพทย์จำเป็นต้องเซาะเนื้อจากทางรักแร้ไปจนถึงหน้าอกเพื่อใส่ซิลิโคนเข้าไป หากคนไข้ดูแลตัวเองไม่ดี ก็มีโอกาสที่ซิลิโคนจะเคลื่อนหรือไหลได้ ทำให้อาจเกิดความเสี่ยงอื่นๆ ตามมาได้มากกว่า“

     คุณหมอสมบูรณ์ยังแนะนำอีกว่า การผ่าแผลใต้ราวนมมีข้อดีคือกรีดแผลใต้ฐานนม ทำให้ใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวค่อนข้างน้อย ดูแลง่ายเพราะเป็นบริเวณที่ไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวมาก ส่วนข้อเสียคือแผลที่อาจจะสังเกตเห็นได้ง่าย ซึ่งในจุดนี้แพทย์ต้องประเมินอย่างรอบคอบเพื่อให้แผลนั้นอยู่ใต้ราวนมพอดี ในส่วนนี้ต้องถามที่ตัวคนไข้ว่าต้องการให้แผลอยู่ตรงไหน ถึงจะสบายใจมากกว่า

 
     5. เสริมหน้าอกต้องนอนพักค้างคืนหรือไม่?
     “สำหรับการเสริมหน้าอกแบบธรรมดาอาจจะไม่จำเป็นนะครับ เพราะการเสริมหน้าอกในปัจจุบัน มีเทคนิคและวิธีการที่หลากหลายก้าวหน้าขึ้นเยอะ ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บน้อยกว่าเมื่อก่อนมาก แต่ในกรณีที่การผ่าตัดของคนไข้นั้นมีขั้นตอนอื่นเสริมด้วย เช่น มีการตัดตกแต่งเพื่อยกกระชับย้ายปานนม อาจทำให้เกิดการบอบช้ำค่อนข้างมาก จึงจำเป็นต้องนอนพักค้างคืน ทั้งนี้สิ่งสำคัญกว่าการนอนพักฟื้นคือการดูแลร่างกายให้แข็งแรงก่อนเข้ารับการเสริมหน้าอก และเลือกสถานประกอบการที่ได้มาตรฐาน สำคัญที่สุดคือต้องเลือกแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์และไว้ใจได้” คุณหมอสมบูรณ์กล่าวทิ้งท้าย

     เรียกได้ว่าการศัลยกรรมเสริมหน้าอกนั้นมองเผิน ๆ เหมือนเป็นเรื่องที่ดูทำกันได้ทั่วไป หมอที่ไหนทำก็ได้ เสริมแบบไหนก็ได้ตามที่ฝัน แต่จริง ๆ แล้วการศัลยกรรมเสริมหน้าอกนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนกว่าที่คิด สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของการ “ประเมินกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ” ก่อนที่จะเข้ารับการผ่าตัด เพื่อให้แพทย์เข้าใจถึงข้อจำกัดของหน้าอกสาวๆ โดยหาจุดที่เหมาะสมและตรงใจสาว ๆ ได้มากที่สุด เพื่อให้เสริมหน้าอกออกมาได้อย่างเหมาะสมสวยงามและปลอดภัยกันนะคะ



[Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook