ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป ทุก(ข์)ชีวิตของเด็ก คือชีวิตที่ต้องดูแล

ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป ทุก(ข์)ชีวิตของเด็ก คือชีวิตที่ต้องดูแล

ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป ทุก(ข์)ชีวิตของเด็ก คือชีวิตที่ต้องดูแล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาของเด็กไทยมีหลากหลายรูปแบบ หากจะแก้ปัญหาทั้งหมดคงเป็นเรื่องยาก "ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์  ปิ่นประทีป" นักเขียนหนังสือสำหรับเด็ก กรรมการผู้จัดการ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เป็นอีกหนึ่งคนสำคัญ ที่พยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพียงหวังให้เด็กที่เปรียบเสมือนผ้าขาว เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคม

จุดเริ่มต้นของการช่วยเหลือสังคม
พี่จบรามคำแหงปี 26 จบแล้วทำงานเลย ทำงานเกี่ยวกับแฟชั่นได้ 3 เดือน รู้เลยว่ามันไม่ใช่  บังเอิญมีแคมป์ผู้อพยพมาเปิดที่ชลบุรี เป็นองค์กรศาสนา พี่ก็เทรนด์นิ่งให้เค้ามีฝีมือ พี่ไปเป็นหัวหน้าฝ่ายฝึกเขาให้ไปอยู่ที่ประเทศที่ 3 ทำงานอยู่ Coerr องค์การเพื่อผู้ลี้ภัย ทำอยู่ช่วงสั้นๆ แล้วก็มาอีกองค์กรหนึ่ง ชื่อว่า Consortium ปีนั้น พี่ได้รางวัลรองชนะเลิศแต่งเพลงเด็กและเยาวชน

“ เราไม่มีความรู้เรื่องเด็กเลย เราก็ปรับตัวจนทำได้ เรารักกับงานนี้ อยู่กับคน อยู่กับเด็ก ทำงานตรงนั้น 9 ปี ชอบ รู้เลยว่ามาทางนี้ เราทำงานก็หาความรู้ไปเรื่อยๆ พี่ดูแลเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึง 5 ปี พี่ดูแลคนกลุ่มที่ 2 ที่กำลังจะไปประเทศที่ 3 ที่นี่มีเงินสนับสนุนจากสหประชาชาติ ทุกคนกินดีอยู่ดี เขาคับที่อยู่จริง แต่เขาใช้จ่ายกันอย่างสบาย”

 

จุดเปลี่ยนลาออกจากองค์กรระหว่างประเทศ

“จุดคลิกของพี่คือ หลังแคมป์จะเป็นบ้านคนไทย เป็นเส้นแบ่งลวดหนาม เด็กในแคมป์มีกินทุกมื้อ โภชนาการอย่างดี มีการควบคุมคุณภาพ แต่ขณะที่เด็กไทยเกาะรั้วลวดหนาม ไม่มีอาหารกิน เราก็รู้สึก เห็นความแตกต่าง”

พี่ตัดสินใจ ว่าไม่เอาดีกว่า  มาทำงานกับคนไทยดีกว่า  เราก็ไปทำงานที่มูลนิธิเด็ก พี่ดูแลบ้านทานตะวัน บ้านที่เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กถูกทารุณ

ปี 35 มาทำงาน งานมันบีบคั้นมาก พี่ทำที่องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กไทย พี่ต้องดูเรื่องของงานชุมชน ตั้งธนาคารข้าว ชุมชนกินอยู่ยังไง การทำงานตรงนั้น มันทำคู่ขนานไปกับสถานสงเคราะห์ ที่ดูแลเด็ก เด็กที่ถูกทารุณกรรม เด็กที่พ่อแม่ทิ้ง เด็กที่เกิดในซ่อง พี่ก็ไปตามที่ต่างๆ

งานเรื่องชุมชน สร้างความผิดหวังให้พี่ตลอด แต่พี่ก็ยังทำโดยหน้าที่ อย่างเช่น เราทำธนาคารโค ธนาคารข้าว พอได้เงินมาปุ๊บ เกือบร้อยทั้งร้อย พอได้เงินกำไร ชาวบ้านก็ปิดบ้านเลี้ยงกันแล้วเงินที่เราเฝ้าดูมา มันหมด ภาพมันเป็นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก เราก็ถามตัวเราเองว่า นี่คืองานพัฒนาประเทศไทยหรือ พี่ก็ค่อยๆ หยุดงานเหล่านี้ เพราะมันไม่ตอบคำถามว่าเราช่วยเขาจริงไหม

ส่วนงานในบ้านที่เป็นสถานสงเคราะห์  พี่ก็ต้องรับเด็ก เพราะมันเป็นบ้านตั้งรับ เช่น ทลายซ่องเราก็ตามไป มีเด็กถูกขายที่จะส่งไปประเทศเพื่อนบ้าน เราก็พาเด็กเหล่านั้นมาดูแล จริงๆ งานของพี่คือเด็กแรกเกิดถึง 5 ปี แต่มันเหมือนจูนกันติด เวลาไปไหนก็มีพ่วงให้เราเสมอ ใครมีปัญหาก็จะนึกถึงเรา เราจึงเจอเด็กกลุ่มนี้

พี่อยู่มูลนิธินี้พี่ลาออก 11 ครั้ง มันไม่ไหว เพราะมันบีบคั้นมาก พี่เป็นเหมือนกระดาษซับทุกข์ งานแรกของพี่  ที่ชุมชนหนึ่ง พี่ต้องดูแลเด็กอายุ 5 ปี ยายพาไปขายตัว ทำงานวันหนึ่ง แล้วก็หยุด 15 วัน เพื่อรักษาตัวหลาน แล้วก็ไปขายตัวต่อ พี่ลาออกเลย มันไม่ไหว “ความเป็นยายกับความเป็นหลาน ความเป็นเงินมันดังกว่า”

มีหลายเคส พ่อแม่หาเงินด้วยการให้เด็กไปขายพวงมาลัย ขายความเวทนาของเด็ก มีขายยา มันบีบคั้นหัวใจตลอด มีเคสหนึ่งที่แย่มากด้วย เอาเยาวชนชาย หญิงมาอยู่ด้วยกัน มีเพศสัมพันธ์กัน แล้วผู้หญิงท้อง วันที่พี่ไป พี่เกือบช็อก เด็กผู้ชายให้ผู้หญิงถ่างขาที่บันได แล้วลู่ตัวลงมาจากบันได ถีบท้องจนแท้ง

สุดท้ายพี่ก็ไม่ไหว สุขภาพก็ไม่ดี ก็ทำสถานสงเคราะห์ดูแลเด็กที่เดียว ปัญหามันแรงขึ้น มันยากต่อการแก้ไข เราก็ทบทวนตัวเอง ทำเฉพาะที่อยากให้เราไปช่วยดีกว่า

 

เริ่มต้นใหม่อีกครั้งที่มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก

พี่ก็ลาออกมา ทำงานกับมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก ทำงานเรื่องการอ่าน พี่ถือว่าถ้าเด็กมีปัญญา การอ่านหนังสือจะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้ นี่คือเส้นทางการทำงาน ตอนนั้นเราทำงานกับกลุ่มเด็กที่โดนกระทำ เด็กด้อยโอกาส ถูกทารุณ มันทำได้เฉพาะกลุ่ม พอตัดสินใจมาทำงานกับเด็กทุกคน เราจึงเห็นว่า เด็กที่น่าห่วงใยมาก คือเด็กด้อยโอกาสแฝง เหมือนมีโอกาสเป็นลูกคนมีตังค์ แต่จริงๆ แล้วเด็กกลุ่มนี้ถูกละเมิดมากกว่าอีก

พี่ทำงานตรงนี้ กับ มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กไม่ได้เงินเดือนนะ การพัฒนา กับงานสงเคราะห์ ประเทศไทยสนับสนุนเงินกับงานสงเคราะห์มากกว่า แต่เรื่องของการพัฒนาใช้หนังสือ  แรงสนับสนุนมันน้อย

บางเดือนคนทำงานกับพี่ได้เงินเดือนละ 4 พัน แต่เขาก็ไม่ไปไหน มันเป็นงานที่ยังอยากทำกันอยู่ งานนี้ไม่ใช่ใครก็ได้ที่มาทำ พี่โอเคกับจุดนี้นะ ความเป็นมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็กเริ่มด้วยโครงการแรก “หนังสือเล่มแรก Bookstart”  ซึ่งได้รับต้นแบบมาจากประเทศอังกฤษ ประสบความสำเร็จมาก งานวิจัยมันออกมาดีมาก

 

ทุกปัญหาย่อมต้องมีทางออก
ปัญหาถล่มเข้ามาเยอะมาก พี่รับข้อความวันหนึ่งเป็นร้อย เพื่อตอบคำถาม อย่างเมื่อไม่นานมีคนส่งข้อความมาหาพี่ว่า ไม่ไหวแล้ว จะฆ่าตัวตาย เราก็ให้คำปรึกษาเขา แต่พี่ไม่ให้เบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวนะ เพราะพี่เคยให้เบอร์โทร  ตี 2 โทรมาว่าไม่ไหวแล้ว อยากเจอพี่ปอง เขาเป็นผู้หญิง ไม่รู้จักพี่เป็นการส่วนตัว คนขับรถก็ไม่ได้อยู่บ้านพี่ เราก็ไม่ได้ไป วันรุ่งขึ้นเค้าฆ่าตัวตาย เราก็คิดนะ แบบนี้เราผิดไหม หลังจากนั้นพี่ไม่ให้เบอร์โทรเลย ใช้เป็นวิธีคุยในข้อความ ก็มีปัญหา เข้ามาเรื่อยๆ ทักมาคุยกับพี่ ทั้งปรึกษาเรื่องลูก เรื่องครอบครัว


มีวิธีการจัดการกับปัญหาอย่างไร
ให้คำปรึกษา พี่เป็นคนที่ ใครเขียนข้อความเข้ามาปรึกษาพี่ 100% พี่ตอบหมด ให้คำปรึกษาแบบเป็นเรื่องเป็นราวเลยนะ พี่ทำแบบนี้มานานแล้ว ตั้งแต่เปิดเฟสบุ๊ค ส่วนมากที่ปรึกษาเราจะเป็นผู้หญิงนะ เราก็ให้คำปรึกษาในมุมมองของเรา

 


รักการอ่าน การเขียน ของขวัญสุดมีค่า ที่ได้มาจาก “ครอบครัว”
แม่เป็นครูเป็นชอบเล่านิทาน พ่อเป็นหมอ เป็นนักอ่านตัวยง ในบ้านเราก็จะมีหนังสือเยอะมาก แล้ววันหนึ่งเราก็อยากเขียน พออ่านได้ เราก็เล่า พอเล่าเสร็จก็อยากเขียน ตอนนั้นมีพี่เลี้ยง พี่เลี้ยงชอบดูลำตัด ดูลิเก เราก็ได้จากเขา มีจังหวะ และทำนอง 2 เรื่องที่แม่เล่าให้ฟังบ่อยเลยคือ ไก่ได้พลอย และกระต่ายตื่นตูม

 


เขียนหนังสือตั้งแต่ ป.5 เป็นเล่มแรก
แม่จะใช้นิทานเป็นตัวสอน ตอน ป. 5 พี่เขียนนิทานเป็นคำเข้ากันเลย มีจังหวะ วันหนึ่งพอพี่มาทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็ก ไม่มีตังค์ซื้อหนังสือ พี่เอากระต่ายตื่นตูมที่เขียนมาให้เจ้าหน้าที่วาดภาพประกอบ แล้วสอนเด็ก .... วันหนึ่งมีเด็กปวดท้องทั้งบ้าน  เพราะมีผู้บริจาคลูกอมมาให้ พี่ก็เขียนเรื่องกุ๊กไก่ปวดท้อง เขียนเล่าให้ลูกฟัง ให้คนมีฝีมือวาดภาพประกอบ ก็ทำอ่านกันเองในบ้าน มันเลยเป็นจุดเริ่มต้น

เล่นแรกที่เขียนคือ “กระต่ายตื่นตูม” เล่มที่ออกเล่มแรกคือ “กุ๊กไก่ปวดท้อง” เลยกลายเป็นกระแสอย่างดีมาก ทำให้เด็กไม่กินลูกอม เล่มแรกพิมพ์เป็นล้านเล่ม พิมพ์ 40 กว่าครั้ง เป็นหนังสือยอดนิยม พี่เขียนหนังสือเด็กมาตั้งแต่ปี 47 เขียนมา 13 ปี 142 เรื่อง ได้รางวัล 114 เรื่องเป็นหนังสือดีสำหรับเด็ก

 
นิทานมีส่วนช่วยในการพัฒนาการเด็ก?
พี่ใช้หนังสือกับเด็กมาตลอด พี่เชื่อในตัวหนังสือ พี่โตมากับหนังสือ แม่เป็นคนบอกว่าอยากให้ลูกเป็นยังไง อ่านหนังสือแบบนั้นให้กับลูกฟัง แม่อ่านหนังสือ ไก่ได้พลอย  กระต่ายตื่นตูมให้ฟังตั้งแต่เด็กๆ ที่พี่ชอบมากที่สุดคือ เรื่องราชสีห์กับหนู แม่ก็เล่าให้ฟังตั้งแต่เด็กๆ แม่มีวิธีการสอนแบบเปรียบเทียบตลอด  อยากให้เด็กมีคุณธรรมแบบไหน  เลือกอ่านหนังสือที่มีคุณธรรมแบบนั้นให้เด็กฟัง อ่านหนังสือให้เด็กฟัง เด็กจะเข้าใจ

 



ควรเริ่มอ่านหนังสือให้เด็กฟังตั้งแต่ตอนไหน
ตามศาสตร์เริ่มตั้งแต่ในท้อง แต่พี่ว่าอะไรก็ได้ขอแค่ให้อ่าน อ่านเมื่อไหร่ที่ไหนก็ได้ แต่อย่าเกินอายุ 5 ปี


หนังสือเล่มสอนชีวิตที่ชอบที่สุด

“โจนาทาน ลิฟวิงสตัน นางนวล” มันเป็นเรื่องของนก การบินทวนลม มันทำให้เราเจ็บปีก แต่ทำให้เราแข็งแรง เล่มนี้สอนดีมาก เมื่อไหร่ที่เราใช้ชีวิตปกติ มันก็ปกติ แต่ถ้าเมื่อไหร่เราเปลี่ยนแนวคิดของเรา เราก็จะได้มุมมองใหม่ในการใช้ชีวิต โจนาทาน ทำให้พี่มีกำลังใจ มีแรงบันดาลใจ จนทำให้เกิดการพลิกผันในชีวิต

 วางอนาคตไว้อย่างไร?
คงไม่ทำอะไรไปมากกว่านี้ จะทำงานด้านพัฒนาสังคมนี้ต่อไป มันมีอะไรใหม่ๆ เข้ามาที่เราสามารถจะรับใช้สังคมได้ พี่ก็อยากจะทำ พี่คิดเสมอ ไม่ได้โลกสวยนะ พี่เป็นคนเตรียมตัวตายแบบนี้ทุกวัน บอกตัวเองว่าวันนี้เป็นวันสุดท้าย เวลานอนทุกวัน พี่ก็บอกว่าจะขอให้เราหลับไปเลย ตั้งแต่ก่อนแม่สิ้น พี่บอกตัวเองตลอดว่าขอให้ตายก่อนแม่ เราคิดว่าวันนี้เราทำดีที่สุดแล้ว คิดว่าพอแล้ว ถ้าให้เราพอก็ให้เราหลับไปเลย ทำทุกวันให้ดีที่สุด เต็มที่ที่สุด เพราะเราไม่รู้ว่าวันพรุ่งนี้เราจะได้ทำไหม

การทำงานของพี่ก็คือทำงานรับใช้คนทั่วไป งานทุกงานที่พี่ทำจะต้องเป็นงานที่รับใช้คน หมายถึง คนจะได้ประโยชน์จากงาน จะรับใช้คนทุกข์คนยากด้วยการเป็นเพื่อนทุกข์กับเขา ดูแลเค้า ดูแลใจเค้า นั่นคือเป้าหมายของพี่

 

เรื่องจริง! ของหญิงสาวสวยที่โดนผู้ชาย 7 คนข่มขืน เรื่องโดย "ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป" คลิก! 

ติดตามเรื่องราวของ "ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป" คลิก!  

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook